ว่ากันว่าเกิดมาคนก็ไม่มีเสรีภาพแล้ว เพราะเราไม่ได้ “เลือก” ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต และสิ่งแรกๆ ที่เราไม่ได้ “เลือก” แน่ๆ คือ “ชื่อของเรา” เอง ซึ่งเป็นเสรีภาพของพ่อแม่ที่จะตั้งให้เรา
อย่างไรก็ดี รู้ไหมว่าจริงๆ แล้ว “ชื่อ” ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะตั้งได้อย่างอิสระ เพราะ “ชื่อต้องห้าม” ก็ปรากฏทั่วไปในโลก แม้แต่ประเทศที่เชิดชู “เสรีภาพทางการแสดงออก” ระดับเป็นค่านิยมของชาติอย่างอเมริกา รัฐต่างๆ ก็ยังมีอำนาจในการจำกัดการตั้งชื่อมากมาย ดังนั้นประเทศอื่นๆ มีหรือที่จะรอด
1.
โดยทั่วไป ประเทศในโลกนี้ ระบบการจำกัดการตั้งชื่อจะมี 2 ระบบใหญ่ๆ
ระบบแรกคือจะมีลิสต์ของ “ชื่อที่ตั้งได้เลย” คือพอเป็นระบบอิเล็กทรอนิกก็แทบจะติ๊กเอาเลยว่าลูกจะชื่อไหนจากในลิสต์ ใครจะมีชื่อนอกจากนี้ ก็ต้องยื่นเรื่องกับทางภาครัฐแบบเป็นเรื่องเป็นราวเลย ส่วนจะใช้ชื่อไหนก็สุดแท้แต่ ประเทศที่ใช้ระบบแบบนี้ก็เช่น เดนมาร์ก โปรตุเกส ไอซ์แลนด์ เป็นต้น
ระบบที่สอง ประเทศอีกกลุ่มซึ่งก็คือประเทศที่เหลือ ก็จะค่อนข้างให้อิสระในการตั้งชื่อ คือมีกฎหมายเกี่ยวกับชื่อ แล้วก็จะตั้งชื่อได้ภายในขอบเขตกฎหมาย แน่นอน บางทีพ่อแม่ก็ตั้งชื่อลูกประหลาดสุดๆ แบบ “ผิดกฎหมาย” แล้วเกิดเป็นข่าวประปราย ซึ่งชื่อประหลาดพวกนี้ ก็มีตั้งแต่การเอาชื่อแบรนด์สินค้าเป็นชื่อลูก การตั้งชื่อลูกด้วยตัวอักษรที่เขาห้ามใช้ (เช่น จีนกับญี่ปุ่น จะกำหนดเลยว่าอักษรไหนใช้ในชื่อได้บ้าง เพราะตัวอักษรเยอะมาก) หรือบางทีก็ใช้ “สัญลักษณ์” ต่างๆ เช่น /, () ในชื่อ
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการตั้งชื่อลูกตามบุคคลจริงๆ ที่เป็นอาชญากรต่อมนุษยชาติอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือ โอซามา บิน ลาเดน
ความประหลาดพวกนี้บางทีเหมือนพ่อแม่อยากจะแกล้งลูก แต่ก็โชคดีที่กฎหมายหลายๆ ประเทศได้ทำการห้ามตั้งชื่อลูกแบบนี้เอาไว้อย่างสมเหตุสมผล ก่อนที่ลูกจะต้องโตมาโดนล้อ
แต่ก็แน่นอน บางทีข้อห้ามก็แปลกๆ แบบที่ดูไม่สมเหตุสมผล เช่น คนไอซ์แลนด์จะตั้งชื่อลูกว่า ‘Carol’ ไม่ได้ เพราะภาษาไอซ์แลนด์ไม่มีตัว C หรือคนอิตาลีจะตั้งชื่อลูกว่า ‘Blu’ ซึ่งแปลว่าสีฟ้าในภาษาอิตาเลียนไม่ได้ เพราะชื่อนี้ ดูแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นต้น
2.
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า “แล้วประเทศไทยล่ะ?”
คำตอบอยู่ใน พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505
จริงๆ กฎหมายนี้ไยาวนัก ถ้าจะให้สรุปให้ฟังสั้นๆ ก็คือ ทั้งชื่อและนามสกุลของคนไทยมีข้อห้ามพื้นฐานคือ
- ห้ามมีคำหรือความหมายหยาบคาย
- ห้ามไปพ้องกับชื่อของพระมหากษัตริย์หรือพระราชินีไปจนถึงราชทินนาม (เว้นแต่อยู่ในตระกูลที่ได้ราชทินนามเป็นนามสกุลมา)
- นามสกุลห้ามมีเกิน 10 พยัญชนะ เว้นแต่เป็นราชทินนาม
ดังนั้นในแง่นี้ การตั้งชื่อของคนไทยในภาษาไทยจึงค่อนข้างจะเปิดกว้างมากๆ และก็เปิดโอกาสให้คนไทยไม่น้อยไปเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นชื่อแปลกๆ ซึ่งนายทะเบียนก็ไม่มีสิทธิ์จะห้าม เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนห้ามเอาไว้
3.
สิ่งเหล่านี้ก็คงจะเรียกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่เราควรจะดีใจที่ยังได้รับการเคารพในประเทศนี้ อย่างไรก็ดี ถ้าจะเป็นในกรณีของการตั้งชื่อให้ลูกแล้ว ก็อย่าไปตั้งชื่อให้ประหลาดมากเลย เดี๋ยวเด็กจะโดนแกล้งไปกว่านี้
เพราะแค่ที่เป็นอยู่นี่ การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนของไทยก็ติดอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว
อ้างอิง
- Mental Floss. 35 Outlawed Baby Names From Around the World. https://bit.ly/3gOq8Lt
- HuffPost. Baby Names That Have Been Banned Around The World. https://bit.ly/2WcZ0w0
- Wikipedia. Naming law. https://en.wikipedia.org/wiki/Naming_law
- Business Insider. 60 banned baby names from around the world. https://bit.ly/3r7D2Jc
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๐๕. https://bit.ly/3qYXCLy
- Bangkok Post. School bullying problem worsening. https://bit.ly/3mg3L2B