ในวันที่โลกยังไม่รู้จัก ‘กะเทย’ ชวนส่องความเชื่อ-ตำนาน-ปกรณัม ที่อธิบาย ‘ความหลากหลาย’ และชาย-หญิง
ปัจจุบัน เมื่อพูดถึง ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ทุกคนก็คงคุ้นเคยกับนิยามของคำว่า LGBTQ+ กันเป็นอย่างดี แต่ในช่วงเวลาที่โลกนี้ยังไม่รู้จักคำว่า ‘ความหลากหลาย’ ล่ะ จะมีเรื่องราวอะไรมาอธิบายสิ่งที่อยู่ ‘นอกเหนือ’ ความเป็นชายและหญิง อันเป็นนอร์ม (norm) ที่คนสมัยก่อนเข้าใจและยืดถือ
ชวนย้อนตัวอย่างตำนาน ปกรณัม และความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ได้แก่ ระแม่พหุชรา, เฮอร์มาโฟรไดทัส และอรรธนารีศวร ที่เรื่องเล่าได้ทำหน้าที่เป็นการอธิบายความ (พอที่จะ) เข้าใจในสมัยนั้น
เริ่มกันที่ ‘พระแม่พหุชรามาตากี’ หรือ ‘พระแม่พหุชรา’ หรือ ‘พหุชรามาตา’ (Bahuchara Mata) เทวีผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจและคุ้มครอง ‘ฮิจรา’ (Hijra) หรือกลุ่มคนนอกวรรณะที่มีเพศสภาพไม่ใช่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง และเชื่อว่าเป็นผู้ ‘มอบชีวิตใหม่’ ให้ผู้ที่เป็นส่วนเกินของสังคมอินเดีย
ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของเทวีผู้ปกปักษ์คุ้มครองเหล่ากะเทยในอนุทวีปอินเดีย คงต้องเล่าถึงที่มา ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ ของฮิจราที่มักจะอ้างอิงกับเรื่องราวตอนหนึ่งในรามายณะ ฉบับอินเดียใต้ ที่เล่าว่า เมื่อครั้งพระรามถูกเนรเทศออกจากกรุงอโยธยา มีกลุ่มคนได้ติดตามและออกไปส่งพระรามที่หน้าเมือง จนกระทั่งภารกิจของพระรามลุล่วงและกลับมายังดินแดนมาตุภูมิอีกครั้งในอีก 14 ปีให้หลัง ก็ยังมีคนกลุ่มเดิมยืนรออยู่ ด้วยเหตุที่ว่าก่อนพระรามจะออกเดินทาง ได้บอกให้ชายและหญิงที่ออกมาส่งกลับเข้าเมือง แต่กลุ่มคนที่ยังคงรอพระรามอยู่นั้นไม่ใช่ทั้งชายและหญิง จึงไม่กล้ากลับเพราะไม่อยากโกหก ด้วยความซื่อสัตย์นี้ พระรามจึงอวยพรให้คนเหล่านั้นมีวาจาสิทธิ์ ที่จะสามารถให้พรแก่ใครก็ได้ หรือจะสาปใครก็ได้ โดยคำสาปนั้นจะเป็นจริงเสมอ
กลับมาที่เรื่องราวของเทวีผู้เป็นที่เคารพของเหล่าฮิจรา พระแม่พหุชราเป็นเทวีท้องถิ่น นิยมบูชามากในแถบรัฐคุชราตและรัฐราชสถาน ก่อนจะถูกนำมารวมเป็นภาคหนึ่งพระแม่แห่งจักรวาลตามนิกายศักติ มักปรากฏรูปกายไม่ต่างจากเทวีอื่นๆ ที่มี 4 แขน ถือคัมภีร์มหัตมยะ, ตรีศูล, ดาบ และมีมือเปล่าอยู่ในท่าประทานพร มีพาหนะเป็นไก่ตัวผู้ แทนความหมายของความบริสุทธิ์
มีหลากหลายตำนานที่เล่าเรื่องราวของพระแม่พหุชราไว้มากมาย บางตำนานเล่าว่า พหุชราเป็นหญิงสาวที่กำเนิดในวรรณะสูง ครั้งหนึ่งมีโจรร้ายพยายามจะข่มขืนพหุชรา นางจึงคว้าดาบมาเฉือนเต้านมตัวเอง เพื่อไม่ให้ ‘ความเป็นหญิง’ ของตนต้องมีมลทินมัวหมอง
บางตำนานก็เล่าว่า พหุชราจับได้ว่าสามีแอบเข้าป่าเพื่อไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย นางเสียใจและโกรธแค้นมาก จึงสาปให้อวัยวะเพศของสามีร่วงหลุดจากร่างกาย หลังจากนั้นพหุชราก็บังคับสามีแต่งหญิง
นอกจากนี้ ยังมีอีกตำนานที่เล่าต่อกันว่า เคยมีกษัตริย์บวงสรวงขอบุตรจากพระแม่พหุชรา จนได้โอรสสมปรารถนา แต่เมื่อเจ้าชายน้อยเติบโตขึ้น เขากลับเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ในคืนหนึ่ง พระแม่พหุชราได้มาเข้าฝันเจ้าชาย สั่งให้เขาสักการะบูชาพระองค์และให้แต่งกายเป็นหญิง เพื่อรักษาอาการป่วย หากไม่ทำตาม เจ้าชายจะถูกสาปให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศไปอีก 7 ชาติ แต่บางตำนานก็เล่าว่า พระแม่พหุชราสั่งให้เจ้าชายเฉือนเครื่องเพศทิ้งและแต่งกายเป็นหญิงแทน เพื่อให้พ้นทุกข์จากสภาพ ‘ความเป็นชาย’ ของตัวเอง
ข้ามฟากไปยังเทวตำนานและปกรณัมของฝั่งตะวันตกกันบ้าง เมื่อพูดถึง ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ในนิยามด้านกายภาพแล้ว คงต้องยกเรื่องราวของ ‘เฮอร์มาโฟรไดทัส’ (Hermaphroditus) เทพผู้มีมีอวัยวะเพศทั้งหญิงและชายในร่างเดียวที่ปรากฏให้เห็นตามประติมากรรมต่างๆ จนเป็นที่มาของตำนานกะเทยฝั่งกรีก-โรมัน
เด็กน้อยนามว่า เฮอร์มาโฟรไดทัส ได้ถือกำเนิดจาก เฮอร์มีส (Hermes) เทพแห่งการสื่อสาร กับ อะโฟรไดต์ (Aphrodite) เทพีแห่งความงามและความรัก ได้ถูกนำไปเลี้ยงดูที่เกาะครีตส์ โดยมีเหล่านางไม้เป็นผู้อภิบาล จนเฮอร์มาโฟรไดทัสเติบใหญ่เป็นหนุ่มรูปงาม
วันหนึ่งที่เฮอร์มาโฟรไดทัสกำลังออกท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ และได้หยุดเล่นน้ำพุแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่นางพรายน้ำชื่อว่า ซัลมาซิส (Salmacis) อาศัยอยู่ ทำให้ทั้งคู่ได้พบกัน ซัลมาซิสตกหลุมรักเฮอร์มาโฟรไดทัสตั้งแต่แรกพบและหลงเสน่ห์เทพบุตรสุดหล่อคนนี้ทันที นางจึงได้สารภาพรักกับฮอร์มาโฟรไดทัส แต่เขาปฏิเสธและไม่สนใจพรายน้ำตนนี้
ซัลมาซิสไม่ลดละความพยายาม และออกอุบายให้เฮอร์มาโฟรไดทัส เมื่อเฮอร์มาโฟรไดทัสได้ปลดเปลื้องอาภรณ์เพื่อจะลงไปชำระล้างร่างกาย ซัลมาซิสก็ได้เข้าไปกอดจูบลูบคลำไปทั่วเนื้อตัวร่างกายของเฮอร์มาโฟรไดทัส ด้านซัลมาซิสเห็น นางจึงวิงวอนและขอความเห็นใจจากทวยเทพให้ตัวเองและเฮอร์มาโฟรไดทัสได้อยู่ร่วมกันตลอดไป ไม่มีวันพรากจากกัน จากนั้นร่างของทั้งคู่ก็ค่อยๆ รวมกันเป็นร่างเดียว และทำให้เฮอร์มาโฟรไดทัสเป็นอินเตอร์เซ็กซ์คนแรกในวรรณกรรมของโลกตะวันตก
นอกจากนี้ ชื่อของ เฮอร์มาโฟรไดทัส หรือ Hermaphroditus ก็ได้กลายมาเป็นคำว่า ‘Hermaphrodite’ ที่แปลว่า ‘กะเทย’ และถูกนำมาใช้ในวงการชีววิทยา เพื่อใช้อธิบายสิ่งที่มีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศในพืชและสัตว์บางชนิด เช่น ไส้เดือน หอยทาก ขณะเดียวกัน คำคำนี้ก็ถูกนำไปใช้เป็นศัพท์ทางการแพทย์ด้วย ที่หมายถึง ภาวะที่บุคคลเกิดมามีระบบสืบพันธุ์ทั้งเพศชายและเพศหญิง
โดยลักษณะการ ‘รวมเพศ’ เช่นนี้ก็ยังเคยปรากฏอยู่ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็ยังมี ‘อรรธนารีศวร’ (Ardhanarishvara) ที่แปลว่า เทพเจ้าบุรุษผู้ครึ่งหนึ่งเป็นสตรี เป็นปางหนึ่งของพระศิวะที่มีรูปกายด้านขวาเป็นชาย ด้านซ้ายเป็นหญิง
แม้จะมีร่างกายเป็นทั้งชายและหญิง แต่อรรธนารีศวรก็ไม่ได้เป็นเทพเจ้าแห่งความหลากหลาย แต่เป็นเทพเจ้าของ ‘ทุกคน’ และยังถูกตีความด้วยความเชื่อทางศาสนาว่า พระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นได้ทั้งชายและหญิงอีกด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งแรกสร้างจักรวาล พระพรหมได้สร้างให้มนุษย์เป็นชายเพียงเพศเดียว แต่เมื่อพระพรหมรู้ว่าหากมีแค่ผู้ชายอย่างเดียว มนุษย์ก็คงจะไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ จึงขอให้พระศิวะช่วยแนะแนวทางแก้ปัญหา
พระศิวะจึงมาหาพระพรหมด้วยปางอรรธนารีศวร เมื่อพระพรหมเห็นอรรธนารีศวรก็เข้าใจทันทีว่า การมีทั้งเพศหญิงและเพศชายนั้นเป็นกำลังเสริมคู่กันที่จะทำให้เกิดการถือกำเนิดของชีวิตใหม่นั่นเอง
นี่เป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่งในตำนานและปกรณัมที่มีการพูดถึง ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ ที่ทำให้เกิด ‘ความเป็นอื่น’ บางเรื่องราวใช้อธิบายบางสิ่งบางอย่าง หรือปรากฏการณ์ทางสังคมและวิทยาศาสตร์ จนเมื่อเวลาผ่านไปก็เปลี่ยนแปรเป็นความศรัทธาและวิทยาการในสังคมปัจจุบัน
อ้างอิง
- Bahuchara Mata https://shorturl.asia/wKebu
- Hinduism and Tribal Religions || Bahuchara Mata (Deity of Transgenders) https://shorturl.asia/9c5aU
- A History of Celibacy https://shorturl.asia/ESC1N
- Hermaphroditus https://shorturl.asia/9c5aU
- Salmacis and Hermafroditus. The painful and cruel voluptuousness https://shorturl.asia/3LK56
- Ardhanarishvara – When the Ultimate Man Became Half-Woman https://shorturl.asia/FjRt8