4 Min

ความหมายของ ‘สัตว์ในตำนาน’ ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชาติ มีอะไรบ้าง?

4 Min
6744 Views
07 Nov 2022

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

สัตว์ในตำนาน = สัตว์ที่ไม่มีอยู่จริง แต่หลายประเทศก็ยกให้สัตว์เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ โดยมีทั้งกรณีที่รัฐบาลประกาศรับรองอย่างเป็นทางการ ไปจนถึงการเป็นสัญลักษณ์บนธงชาติหรือตราแผ่นดิน และมังกรเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของทั้งเวลส์และภูฏานแต่หน้าตาไม่เหมือนกัน เพราะมาจากตำนานคนละโซนทวีป ส่วนนาคซึ่งไทยเพิ่งประกาศให้เป็นเอกลักษณ์แห่งชาติและเป็นคนละอย่างกับสัตว์ประจำชาติ ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ขณะที่อินโดนีเซียมีครุฑบนตราแผ่นดิน


1. สกอตแลนด์: ยูนิคอร์น (Unicorn)

ตำนานเก่าแก่ของชาวเคลต์เล่าว่า ยูนิคอร์นคือม้ามีเขาสีขาวปลอด เป็นสัญลักษณ์ที่พูดถึงความบริสุทธิ์และความกล้าหาญ โดยระหว่างศตวรรษที่ 12-17 ยูนิคอร์นได้กลายเป็นตราสัญลักษณ์ของกษัตริย์ชาวสกอต แต่ยูนิคอร์นบนตราประจำพระองค์ของกษัตริย์มักจะถูกล่ามโซ่ที่คอ ส่วนใหญ่เป็นโซ่ทองคำ เพื่อจะสื่อว่ากษัตริย์สกอตนั้นทรงพลังจนสามารถทำให้ยูนิคอร์นซึ่งเป็นสัตว์อันกล้าแกร่งต้องยอมสยบและเชื่องได้ ขณะที่รัฐบาลสกอตยุคปัจจุบันก็ประกาศให้ยูนิคอร์นเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติด้วย

2. เวลส์: มังกร (Dragon)

แฟนซีรีส์ Game of Thrones น่าจะคุ้นกับมังกรแบบยุโรปที่มีปีกและพ่นไฟได้ และกษัตริย์อาเธอร์แห่งเวลส์ในอดีตก็เป็นหนึ่งในผู้ใช้มังกรเป็นตราประจำพระองค์ จนกลายเป็นมรดกตกทอดมาประดับธงชาติเวลส์ในปัจจุบัน โดยมังกรที่ปรากฏบนธงเวลส์เป็นมังกรเวลส์ที่มีสีแดงทั้งตัว ตัดกับพื้นหลังสีเขียวขาว

3. กรีซ: นกฟีนิกซ์ (Phoenix)

ที่จริงแล้วสัตว์ประจำชาติของกรีซคือ โลมา แต่พอเป็นสัตว์ปีกประจำชาติกลับกลายเป็นนกฟีนิกซ์ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานกรีกอย่างไรก็ดีไม่มีการระบุเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมถึงเลือกนกฟีนิกซ์แต่มีความเป็นไปได้ว่าเกี่ยวพันกับการที่นกฟีนิกซ์คือสัญลักษณ์แห่งความหวังเพราะในตำนานนกฟีนิกซ์จะเกิดขึ้นใหม่จากกองเถ้าถ่านของตัวเอง

4. ฮังการี: ทูรุล (Turul) เหยี่ยวพิทักษ์ดวงวิญญาณ

ชนเผ่าเร่รอน Magyars ที่ประวัติศาสตร์บันทึกว่าเป็นบรรพบุรุษของผู้คนในฮังการี ณ ปัจจุบัน มีตำนานที่พูดถึงทูรุลโดยระบุว่า มีลักษณะคล้ายเหยี่ยว และทำหน้าที่พิทักษ์ดวงวิญญาณของผู้คน ซึ่งในตำนานเล่าว่าทูรุลได้คาบดาบและบินนำทางชาว Magyars อพยพ เมื่อมาถึงดินแดนที่เป็นกรุงบูดาเปสต์ในปัจจุบันก็อ้าปากปล่อยดาบลงมา เพื่อเป็นนิมิตหมายให้ตั้งรกรากถิ่นฐานในที่แห่งนี้ ทำให้ทูรุลกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติของฮังการีในปัจจุบัน และเป็นตราสัญลักษณ์ของกองทัพฮังการีด้วย

5. รัสเซีย: อินทรีสองหัว (Double-headed Eagle)

นกอินทรีเป็นสัญลักษณ์ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและโปแลนด์ แต่นกอินทรีสองหัวเป็นตราแผ่นดินและเป็นสัญลักษณ์ของรัสเซียมานาน ก่อนจะถูกยกเลิกไปช่วงที่รัสเซียรวมกับประเทศอื่นๆ เป็นสหภาพโซเวียต แต่พอโซเวียตล่มสลาย ก็มีการนำอินทรีสองหัวกลับมาเป็นสัญลักษณ์แห่งชาติอีกครั้ง โดยสัญลักษณ์นี้เคยเป็นตราประจำกองทัพและตราประจำตระกูลเก่าแก่ในอาณาจักรยุคไบแซนไทน์ เพื่อสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรและบารมีที่แผ่ไพศาล

6. ภูฏาน: มังกร (Druk)

หลายคนเข้าใจว่ามังกรเป็นสัตว์ประจำชาติจีน ทั้งที่จริงๆ แล้วคือแพนด้าแต่มังกรเป็นสัตว์ที่สำคัญทางวัฒนธรรมของจีนก่อนจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์ โดยคนในยุคโบราณมีความเชื่อว่ามังกรคือสัญลักษณ์ของกษัตริย์ ซึ่งเป็นโอรสสวรรค์หรือสมมติเทพ และประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียรับเอาความเชื่อของจีนไปไม่น้อย รวมถึงภูฏานด้วย และในปัจจุบัน มังกร หรือดรุก’ Druk ถูกประดับบนธงชาติภูฏาน ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์สายการบินแห่งชาติ ดรุกจึงไม่ใช่มังกรธรรมดา แต่เป็นมังกรสายฟ้าซึ่งแน่นอนว่าหน้าตาของมังกรภูฏานก็ไม่เหมือนมังกรพ่นไฟในเวลส์ เพราะเป็นคนละความเชื่อกัน

7. เกาหลีเหนือ: ชอลลิมา (Chollima)

ในภาษาเกาหลีชอลลิมาคือม้ามีปีกเหมือนกับเพกาซัส’ (Pegasus) ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานกรีก และชอลลิมาก็ถูกกล่าวขานว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เกรงกลัวมนุษย์ และยุคหลังสงครามเกาหลีที่เคยเกิดขึ้นในปี 1950-1953 เกาหลีเหนือได้เริ่มโครงการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ใช้ชื่อว่าปฏิบัติการชอลลิมาซึ่งถูกบันทึกว่าเป็นหนึ่งในการวางรากฐานทางสังคมในยุคก่อตั้งประเทศคอมมิวนิสต์ และในปัจจุบันชอลลิมาเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของเกาหลีเหนือ ทั้งยังมีรูปปั้นชอลลิมาตั้งอยู่ในกรุงเปียงยางด้วย

8. สิงคโปร์: เมอร์ไลออน (Merlion)

แม้จะไม่ใช่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนานเท่าเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สิงคโปร์ก็มีสัตว์ในตำนานเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติเหมือนกัน ซึ่งก็คือเมอร์ไลออนที่มีท่อนบนเป็นสิงห์ และท่อนล่างเป็นปลา เพื่อสะท้อนรากเหง้าเดิมที่เคยมีชื่อว่า สิงหปุระ และใครที่ไปสิงคโปร์ส่วนใหญ่ก็น่าจะเคยไปเยี่ยมชมรูปปั้นเมอร์ไลออนตรงมารีนาเบย์ ที่เป็นจุดเช็กอินยอดนิยมแห่งหนึ่งของนักท่องเที่ยว

9. อินโดนีเซีย: ครุฑ (Garuda)

สัตว์ประจำชาติของอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการจริงๆ คือมังกรโคโมโดแต่ถ้าพูดถึงตราแผ่นดิน หรือ National Emblem จะเห็นว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่บนนั้นคือครุฑที่คนอินโดนีเซียเรียกว่า Garuda ซึ่งมีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมฮินดูโบราณ แต่ครุฑของอินโดนีเซียเป็นครุฑปัญจศีล ซึ่งเป็นพญาครุฑที่มีขนปีกข้างละ 17 เส้น ขนหาง 8 เส้น โคนหาง 19 เส้น และคอ 45 เส้น ซึ่งหมายถึงวันที่ 17 สิงหาคม 1945 ที่เป็นวันประกาศเอกราช และต่างจากครุฑพ่าห์ซึ่งเป็นตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินในไทย

10. ไทย: นาค (Nāga)

มติคณะรัฐมนตรีไทยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ระบุให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ประเภทสัตว์ในตำนาน จึงถือเป็นคนละอย่างกับสัตว์ประจำชาติที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2544 ว่าคือช้างไทยและคณะกรรมการกระทรวงวัฒนธรรมที่เสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุม ครม. ระบุว่า นาคเกี่ยวพันกับความเชื่อและวัฒธรรมประเพณีของไทยมานานแล้ว แม้จะรับมาจากอินเดีย แต่ก็มีการสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นของตัวเอง การสนับสนุนให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติจะช่วยส่งเสริมการเรียกร้องและการสร้างความเข้าใจ ไปจนถึงต่อยอดเป็นแรงขับเคลื่อนทางวัฒนธรรม Soft Power ที่สำคัญด้วย

อ้างอิง

  • The Travel. The Unicorn & 9 Other Weird Creatures That Are Real National Animals Of Different Countries. https://bit.ly/3zAcnKT
  • Visit Scotland. WHY IS THE UNICORN SCOTLAND’S NATIONAL ANIMAL?. https://bit.ly/3U3kiZo
  • Visit Singapore. The Merlion, which merges the symbol of a fish and a lion, is an unmissable Singapore icon. https://bit.ly/2TFtXq5
  • ThaiGov. รัฐบาลไฟเขียวให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน อีกหนึ่งทุนวัฒนธรรมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์. https://bit.ly/3SXCwKt