“อย่าลืมล้างมือบ่อยๆ นะ”
อีกหนึ่งประโยคคุ้นหูแทนความห่วงใยในช่วงเวลานี้ แต่สำหรับบางคน แม้ไม่เตือน พวกเขาก็แทบจะล้างมือตลอดเวลาอยู่แล้ว จนคนรอบข้างต้องร้องว่า พอก่อนเถอะ!
อาการหมกมุ่นลักษณะนี้ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า พวกเขาอาจกำลังเผชิญกับ “Mysophobia” หรือ “โรคกลัวความสกปรก” อยู่
Mysophobia (โรคกลัวความสกปรก) หรือที่นิยมเรียกกันอีกชื่อ คือ Germaphobia (โรคกลัวเชื้อโรค) เป็นภาวะของผู้ที่มีอาการหวาดกลัวขั้นรุนแรงต่อสิ่งสกปรกแปลกปลอมอย่างพวกเชื้อโรค ไวรัส และแบคทีเรียทั้งหลาย โดยจะมีความคิดวนเวียนอยู่ในหัวตลอดเวลาว่า ทุกที่มีสิ่งแปลกปลอมที่มองไม่เห็น และพร้อมเข้าสู่ร่างกายเราทุกเมื่อ
ผู้ป่วย Mysophobia จึงหมกมุ่นเรื่องความสะอาด และหวาดกลัวการเจ็บป่วยอย่างมาก พวกเขาล้างมือบ่อยกว่าคนทั่วไป และใช้เวลานานเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับการอาบน้ำ และการทำความสะอาดข้าวของส่วนตัว ที่ละเอียดยิบเกินความจำเป็น และจะทำซ้ำทุกครั้งที่เกิดความกังวลเรื่องเชื้อโรค
นอกจากนี้ พวกเขามักหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด การใช้สิ่งของ และการกินอาหารร่วมกับผู้อื่น รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้สถานที่ร่วมกับคนจำนวนมาก อย่างห้องน้ำสาธารณะ หรือรถประจำทาง และการไปสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น โรงพยาบาล ตลาดสดที่มีคนพลุกพล่าน เป็นต้น
หากต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ เช่น สัมผัสเนื้อสัตว์ดิบ รับเงินทอนจากแคชเชียร์ หรือเข้าห้องน้ำในห้างเพราะเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาอาจแสดงความตื่นตระหนกผ่านอาการทางร่างกาย เช่น ตัวสั่น ร้องไห้ หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก คลื่นไส้ หรือหายใจหอบถี่ได้
Mysophobia มักเกี่ยวโยงกับ โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder; OCD) ภาวะของคนที่มีความคิดหมกมุ่นกับความกังวลของตนซ้ำไปซ้ำมา จึงตอบสนองด้วยการทำบางอย่างซ้ำๆ เพื่อลดความไม่สบายใจของตน ซึ่งอาการกลัวการติดเชื้อจากสิ่งสกปรก ก็เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้ใน OCD เช่นกัน และบางคนอาจป่วยเป็น Mysophobia กับ OCD ในคราวเดียวกันก็ได้
อาการของผู้ป่วย Mysophobia ยังมักส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของพวกเขากับคนรอบข้าง เนื่องจากผู้ป่วยจะหวาดระแวงการติดเชื้อจากผู้อื่น ทำให้พวกเขาตีตัวออกห่างจากผู้อื่นมากขึ้น เริ่มหวาดกลัวการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น จนอาจกลายเป็น โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Phobia) ในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถรักษาให้หายดีได้ โดยวิธีที่นิยมใช้ คือ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy ; CBT) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีแนวคิดที่เปลี่ยนไป และสามารถเผชิญหน้าความกลัวนั้นได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงยังมีวิธีบำบัดแบบ Exposure therapy ที่ผู้ป่วยจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวโดยตรง เพื่อปลูกฝังให้เกิดความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับมันมากขึ้น
นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในแต่ละวัน เพื่อให้จิตใจผ่อนคลายขึ้น ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความกลัวเชื้อโรคลงได้ เช่น การทำโยคะ นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างเพียงพอ หรืออาจเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยการอ่านหนังสือ หรือดูคลิปวิดีโอวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการปรับตัวของมนุษย์ต่อเชื้อโรค ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และอาจช่วยให้ความกลัวลดลงได้
Mysophobia เป็นมากกว่าความกังวล หรือความกลัวเชื้อโรคโดยทั่วไป แต่ยังครอบคลุมไปถึง “ชีวิตประจำวัน” แทบทุกนาที เป็นความรู้สึกที่หยุดยั้งไม่ได้ ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่บนความไม่สบายใจตลอดเวลา และแสดงออกผ่านพฤติกรรมที่แปลกแยกไปจากผู้อื่น
ดังนั้น หากคนใกล้ตัวหรือตัวเราเองมีอาการที่เข้าข่ายโรคนี้ ซึ่งส่งผลให้การใช้ชีวิตยากลำบากมากขึ้น อาจปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาทางรักษาอาการเหล่านี้ก็นับเป็นทางเลือกที่ดี
อ้างอิง:
- Hello คุณหมอ. ไม่กล้าสัมผัสอะไร หวาดระแวงเชื้อโรค คุณอาจจะกำลังเป็น โรคกลัวความสกปรก อยู่รึเปล่า. hellokhunmor.com
- PSYCOM. Mysophobia (Germophobia): The Fear of Germs. psycom.net
- Verywellmind. How to Treat Mysophobia or the Fear of Germs. verywellmind.com