ร่างกายของฉัน ปัญหาของใคร? Body Shaming ว่าด้วยการเหยียดร่างกาย และทำไมมันไม่ควรอยู่ในสื่อ
Select Paragraph To Read
- ทำไมร่างกายของเรา ดันกลายเป็นปัญหาของคนอื่น?
- ทำไมมันไม่ควรปรากฏอยู่ในสื่อ?
- Body Shaming ไม่ใช่เรื่องตลกขำขัน มีคนที่ได้รับผลกระทบจากมันจริงๆ
ชวนคุยเรื่อง Body Shaming ว่าด้วย การวิจารณ์ ดูถูก ล้อเลียนรูปร่างหน้าตาภายนอกของคนอื่น ไม่ว่าจะจากคนใกล้ตัวหรือในสื่อ ด้วยเหตุผลว่าถ้ารูปร่างไม่ตรงตามมาตรฐานเป็นเรื่องตลกโปกฮาที่สามารถนำมา “ล้อเลียนได้”
แต่กับคนถูกล้อมันไม่ใช่เรื่องตลก ความรู้สึกอับอายในรูปลักษณ์ส่งผลกระทบต่อจิตใจของหลายคนอย่างรุนแรงจริงๆ
ไม่เจอแป๊บเดียว ตัวกลมเลยนะเนี่ย
ผมบางลง กินผงชูรสเยอะล่ะสิ
อย่ากระโดดนะเดี๋ยวแผ่นดินไหว
เสียดาย…ถ้าขาวก็คงสวยแล้วนะเนี่ย
ทำไมร่างกายของเรา ดันกลายเป็นปัญหาของคนอื่น?
Body Shaming คือ การวิจารณ์ ดูถูก ล้อเลียนรูปร่างหน้าตาภายนอกของคนอื่น ไม่ว่าจะด้วยเจตนาขำขันหรือดูถูกจริงจัง แต่สิ่งที่คนฟังได้รับมีแต่ความรู้สึกทางลบ รู้สึกอับอาย และสูญเสียความมั่นใจ เพียงเพราะรูปร่างหน้าตาภายนอก ซึ่งปัจจุบันเราน่าจะเคยเห็นคำว่า Body Shaming อยู่บ้างตามสื่อต่างๆ มักจะใช้เพื่อรณรงค์ไม่ให้มาตรฐานความสวยงามมีเพียงหนึ่งเดียวตามโฆษณา
ในขณะเดียวกันโลกความเป็นจริงเราก็ยังเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอไม่ว่าจะจากคำทักทาย มุกตลก คำล้อเลียน หลายๆ ครั้งการ Body Shaming มาจากคนใกล้ตัวเองไม่ว่าจะครอบครัว คุณครู หรือเพื่อนๆ แต่ในขณะเดียวกัน การสร้างค่านิยมว่ารูปร่างหน้าตาของคนอื่นเป็นเรื่องตลกโปกฮาที่สามารถนำมา “ล้อเลียนได้” ก็ปรากฏให้เราเห็นในสื่ออยู่เนืองๆ
เช่น รายการโชว์ที่ล้อเลียนผิวพรรณของคนอื่น ล้อเลียนทรงผม เล่นมุกตลกกับรูปร่าง การตื่นเต้นเมื่อมีคู่รักที่คนหนึ่ง “หน้าตาดี” และอีกคน “ไม่ตรงมาตรฐาน” หรือที่ละครบางเรื่องชอบให้ตัวเอกทาตัวสีเข้ม ดัดผมหยิก และติดไฝปลอมเพื่อสื่อสารว่านี่คือ “อัปลักษณ์”
ทำไมมันไม่ควรปรากฏอยู่ในสื่อ?
การ Body Shaming ในชีวิตจริงอาจบ่อนทำลายความมั่นใจในตัวของบุคคลโดยตรงแบบเจาะเข้ากลางใจ แต่ถ้าหากเราพูดถึง “สื่อ” ซึ่งส่งต่อสารเหล่านั้นให้กับมวลชนทั้งประเทศ มันคือการสร้างค่านิยมและส่งต่อวัฒนธรรมให้คนทั่วๆ ไปในสังคมเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ “ทำได้” แล้วมันก็ “ตลกดี” อย่างชอบธรรม เพราะคนในสื่อก็ทำกัน
ไม่ใช่แค่ค่านิยมว่านี่เป็นเรื่องที่ล้อเลียนได้ สื่อมีบทบาทสำคัญเรื่อง “ความงาม” เพราะมาตรฐานความงามที่อยู่ในสื่อคือมาตรฐานที่คนทั่วไปจะเห็นว่าต้องรูปร่างหน้าตาแบบนี้ “เท่านั้น” ถึงจะเรียกว่าสวย เรียกว่าดูดี เรียกว่าหล่อ ถ้าหากใครที่หลุดออกจากมาตรฐานก็แปลว่าไม่สวย และ “ล้อเลียนได้”
Body Shaming ไม่ใช่เรื่องตลกขำขัน มีคนที่ได้รับผลกระทบจากมันจริงๆ
การอับอายในร่างกายของตัวเองสามารถผลักให้ผู้คนเสียความมั่นใจ ไม่กล้าทำอะไรบางอย่าง ไม่กล้าเริ่มความสัมพันธ์กับใครสังคม ไปจนถึงผลักให้คนที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความงามต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อลบความอับอายเหล่านั้นออก จากการศึกษาเมื่อปี 2017 ของสถาบัน NEDA สหรัฐอเมริกา ระบุว่าเด็กวัยรุ่นหญิงกว่า 94% และวัยรุ่นชาย 64% รู้สึกมีปมด้อยเรื่องรูปร่างหน้าตาของตัวเอง
ความไม่มั่นใจเหล่านั้นผลักผู้คนไปสู่อะไร เราเห็นยา “ลด” น้ำหนักมากมายในท้องตลาด ครีมผสมสารเคมีเพื่อลอกผิวให้ขาว หลายคนป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับการกิน (eating disorder) โรคกลัวอ้วนอย่างรุนแรง มีพฤติกรรมล้วงออก หรือไม่ยอมกินอาหาร
จากการศึกษาของโรงพยาบาลจิตเวชเด็ก Bradley ร่วมกับโรงพยาบาล Butler และสถาบันการแพทย์ Brown ในสหรัฐอเมริกาพบว่าวัยรุ่นที่รู้สึกอับอายกับรูปร่างหน้าตาของตัวเองมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล และมีพฤติกรรมฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีปมเรื่องรูปลักษณ์ ในโรควิตกกังวลเกี่ยวกับร่างกาย (BDD) โรคเกี่ยวกับการกิน (ED)
ดังนั้นการเหยียดหยามหรือล้อเลียนหน้าตาคนอื่นไม่ใช่เรื่องที่ควรถูกส่งต่อ ไม่ควรถูกนำมาล้อเลียนหรือทำให้กลายเป็นมุกตลกไม่ว่าในชีวิตจริงหรือว่าในสื่อ เพราะที่จริงแล้วกรอบความงามไม่ได้มีสิ่งที่ถูกกำหนดตายตัว และเรามีรูปลักษณ์แบบไหนก็ได้ที่เราพอใจกับมัน เพราะร่างกายคือของเราเอง
คุณล่ะเคยมีประสบการณ์ถูก Body Shaming มาก่อน หรือเคยล้อเลียนใครไหม มาแชร์ให้เราฟังกัน
อ้างอิง:
- Healthline. Body Shaming in an Age of Social Media. https://bit.ly/3w7WjN8
- Science Daily. Negative Body Image Related To Depression, Anxiety And Suicidality. https://bit.ly/3faR7C3
- Wcnc. Study: 94% of teenage girls have been body shamed. https://bit.ly/3ckZF7G