รู้ไหม ‘มุสโสลินี’ ก็เคยเป็น ‘โอตะ’ส่งจดหมายเป็นร้อยหาดาราฮอลลีวูดทุ่มไม่อั้น สุดท้ายเป็นได้แค่แฟนคลับ

4 Min
1332 Views
15 Jul 2022

โอตะย่อมาจากคำว่าโอตาคุหมายถึงคนที่มีความสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งจริงจังจนเข้าข่ายหมกมุ่นคลั่งไคล้ ซึ่งในสังคมญี่ปุ่นช่วงแรกๆ จะใช้เรียกคนที่บ้าการ์ตูนแอนิเมชั่นหรือมังงะ และมีความหมายในเชิงลบ ส่วนในไทยคำนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะถูกนำไปใช้เรียกกลุ่มแฟนคลับของ BNK48 เกิร์ลกรุ๊ปไทยที่เป็นวงน้องสาวของวงไอดอลญี่ปุ่น AKB48 ทำให้โดยรวมโอตะหมายถึงแฟนคลับที่รักและพร้อมสนับสนุนสมาชิกวงไอดอลอย่างทุ่มเท

ย้อนกลับไปยุคศตวรรษที่ 20 โลกภาพยนตร์ฮอลลีวูดยังเป็นสีขาวดำไร้เสียงพูดคุย มีดาราสาวผมบลอนด์เจิดจรัสนามว่าอานิตา เพจ’ (Anita Page) เธอเป็นสมาชิกของสตูดิโอ MGM อันเลื่องชื่อ มีแฟนคลับมากมาย ที่ไล่ระดับจากผู้ชื่นชอบธรรมดา ไปจนถึงระดับโอตะที่คลั่งไคล้เธออย่างมาก 

แต่หนึ่งในโอตะของเธอนั้นไม่ธรรมดา เพราะเป็นถึงระดับผู้นำเผด็จการพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ของอิตาลี ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็คือเบนิโต มุสโสลินี’ (Benito Mussolini)

และมุสโสลินีก็ไม่ใช่โอตะระดับธรรมดา แต่เป็นระดับคลั่งรักในแบบที่สามารถสั่นสะเทือนภาพลักษณ์เผด็จการอิตาเลียนหัวรุนแรงกันได้เลยทีเดียว

เนิร์ดหนังบ้าดารา อีกมุมของ มุสโสลินี

ในประวัติศาสตร์ทั่วไปเบนิโต มุสโสลินีคืออดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลีระหว่างปี 1922-1943 เขาคือเจ้าของช่วงเวลายี่สิบปีฟาสซิสต์’ (Il Ventennio Fascista) ผู้ยืนเคียงข้างฮิตเลอร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

สมัยเด็กๆ มุสโสลินีเป็นเด็กที่ทั้งหัวดีและหัวรุนแรง เขาเคยทำร้ายเพื่อนไป 2 คน ด้วยการใช้มีดแทง แต่ก็เป็นคนชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์ การเมือง วรรณกรรม มากไปกว่านั้น มุสโสลินียังเป็นเนิร์ดหนังอีกด้วย

เมื่อมุสโสลินีได้ขึ้นแท่นเผด็จการปกครองอิตาลี เขาก็ใช้ภาพยนตร์เป็นอาวุธสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ และให้กำเนิด ‘propaganda’ หรือหนังโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งยังก่อตั้งสตูดิโอภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ‘Cinecitta’ หรือ นครแห่งภาพยนตร์ ในปี 1937 ด้วยคำขวัญภาพยนตร์คืออาวุธที่ทรงพลังที่สุด

วันหนึ่ง มุสโสลินีได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ ‘The Broadway Melody’ ออกฉายครั้งแรกในปี 1929 หนังเสียงเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 

ภาพยนตร์เรื่องนั้นทำให้มุสโสลินีได้พบกับอานิตา เพจสาวน้อยผมบลอนด์ร่างอรชร ที่กลายมาเป็นดาราคนโปรดของเขา

อานิตา เพจ ผู้ครองหัวใจเผด็จการ

อานิตา เพจ หรือชื่อจริงคือ อานิตา เอเวอลิน โพมาเรส (Anita Evelyn Pomares) เธอเป็นดาราหนังเงียบที่มีชื่อคนหนึ่ง ก่อนจะเซ็นสัญญากับ MGM ในปี 1928 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคหนังเงียบ ในปีถัดมา เธอได้เล่นหนัง The Broadway Melody ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก

คาแรคเตอร์ของเธอคือ สาวน้อยแซ่บๆ ไร้กฎเกณฑ์ บุคลิกเซ็กซี่ผสานกับเรือนผมบลอนด์ เธอกลายเป็นขวัญใจหนุ่มๆ จำนวนมาก กระทั่ง MGM เคยโม้ว่าเธอได้รับจดหมายจากแฟนๆ สัปดาห์ละหมื่นฉบับ 

ราวๆ กลางปี 1929 ท่ามกลางกองพะเนินของจดหมาย อานิตาได้หยิบซองที่ระบุว่าส่งมาจาก เบนิโต มุสโสลินี เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็มีฉบับอื่นตามมาอีกเรื่อยๆ ภายในสัปดาห์เดียว เธอได้รับจดหมายจากมุสโสลินีถึง 8 ฉบับ 

แฟนคลับทั่วๆ ไปของอานิตา จะเขียนจดหมายมาเพียงเพื่อขอลายเซ็น แต่มุสโสลินีทำยิ่งกว่านั้น เขาเขียนถึงเรื่องหนังอย่างเชี่ยวชาญ ทั้งยังพรรณนาทุกอากัปกิริยาที่อานิตาแสดงบนจอเงิน และได้แนบรูปของตัวเองมาให้อานิตาพร้อมขอลายเซ็น

โอ้เธอจ๋า จดหมายของเขาเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ น่ารัก และกินใจมากๆ เห็นได้ชัดเจนเลยว่าเขาตกหลุมรักสิ่งที่เขาได้เห็นบนจอ ซึ่งก็คือฉันยังไงล่ะ 

อานิตาได้เล่าเรื่องราวให้ ออสติน มัตติมิวส์ (Austin Mutti-Mewse) นักเขียนชาวอังกฤษที่ได้พบกับอานิตาครั้งแรกในปี 1994 ที่เบเวอร์ลี ฮิลส์ ก่อนจะมีโอกาสได้ทำหนังเกี่ยวกับยุคแรกๆ ของฮอลลีวูด ซึ่งทำให้เขาได้พูดคุยกับอานิตามากขึ้นจนได้สืบสาวเรื่องราวของเธอกับมุสโสลินี

อานิตาเล่าอีกว่า ครั้งหนึ่ง มุสโสลินีเคยขอเส้นผมของเธอด้วย

แต่ MGM ค่อนข้างเครียดกับความสนใจของมุสโสลินีที่มีต่ออานิตา ทั้งยังกลัวเรื่องฉาวโฉ่ที่อาจตามมา ผู้บริหารสั่งห้ามอานิตาไม่ให้ตอบจดหมายใดๆ จากจอมเผด็จการเด็ดขาด ซึ่งแม่ของอานิตาตอบโต้ว่า แฟนคลับก็คือแฟนคลับ และอานิตาไม่เคยปฏิเสธคำร้องขอใดๆ ยิ่งโดยเฉพาะคนดังจากแดนไกลอย่างมุสโสลินีด้วยแล้ว

พ่อบุญทุ่มมุสโสลินี โอตะเบอร์หนึ่งของอานิตา เรียกอานิตาในจดหมายว่ายอดดวงใจยกยอความสามารถของเธอ ทั้งยังส่งน้ำหอมและของกินมาให้ แต่ MGM ส่งกลับคืนพร้อมตอบกลับไปว่าขอบคุณนะ แต่อย่าส่งมาอีกเลย

เขียนเป็นร้อยฉบับ แต่กลับไม่ได้ลงเอย

อานิตาฉีกสัญญากับ MGM ในปี 1932 แต่แม่ของอานิตายังคงตอบจดหมายมุสโสลินี พร้อมส่งรูปถ่ายที่มีลายเซ็นของลูกสาวกลับไปมากกว่า 20 ฉบับ ตลอดเวลา 4 ปีนับจากนั้น

พนักงานห้องจดหมายของ MGM บอกว่า มุสโสลินีส่งจดหมายมาหาอานิตามากกว่า 100 ฉบับ และอานิตาเล่าว่า เขาเคยขอเธอแต่งงานอยู่สองหน กระทั่งน้องชายของอานิตายังกลัวว่าจอมเผด็จการอิตาลีผู้นี้จะบุกมาหาพี่สาวเขาและลักพาตัวเธอไปโชคดีที่มันไม่เคยเกิดขึ้น

หากถามว่า ท้ายที่สุด มุสโสลินีได้ครองคู่กับอานิตาหรือไม่? – คำตอบคือ ไม่ ทั้งสองไม่เคยแม้กระทั่งพบเจอกันตัวเป็นๆ เลย

อานิตา เพจ นั้นท้ายที่สุดก็ลงเอยกับพลเรือเอกชาวอเมริกัน เฮอร์เชล ออสติน เฮาส์ (Herschel Austin House) ซึ่งเป็นการสมรสครั้งที่สอง ในปี 1937 และมีลูกสาวด้วยกัน 2 คน อานิตาใช้ชีวิตไม่เคยห่างไกลจากเมืองแห่งดวงดาว จนอายุได้ 98 ปี และเสียชีวิตในปี 2008

ส่วนความรักของมุสโสลินีนั้นสูญสิ้นไปก่อนเธอนานแล้วในปี 1945 เมื่อเขาถูกกลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์คุมตัวไว้ได้ และโดนยิงประหาร ก่อนที่ร่างของเขาจะถูกนำไปแขวนห้อยหัวประจานกลางจตุรัสแห่งหนึ่งในเมืองมิลาน

อานิตาในวัย 90 เคยทิ้งท้ายเรื่องของเธอกับมุสโสลินีไว้ว่า

มุสโสลินีอาจจะเคยชอบฉันจริงๆ และฉันก็รู้ตัวว่าตัวเองก็ปลาบปลื้มเหลือเกินกับความสนใจที่ได้รับ แต่ฉันคิดว่าเขาออกจะเป็นคนสกปรกไปเสียหน่อย อย่าว่ากระนั้นเลย ประชาชนของเขาควรมีเสรีภาพ ผู้คนควรจะได้พูดในสิ่งที่ตนอยากพูด

อ้างอิง

  • The Guardian. Oh honey, his letters were so gooey, so touching. https://bit.ly/3Pbhg2a 
  • The New York Times. Anita Page, Silent-Film Siren, Dies at 98. https://nyti.ms/3nPO6de 
  • Holocaust Encyclopedia. CINECITTÀ DISPLACED PERSONS CAMP. https://bit.ly/3AyfNiD 
  • Allan R. Ellenberger, Robert Murdoch Paton. (2021). Anita Page: A Career Chronicle and Biography. (p. 36). https://bit.ly/3yNi87P 
  • The Cloud. อิตาลี กับ 20 ปีในมือมุสโสลินี. https://bit.ly/3bWsuct 
  • GQ. รู้ไว้ก่อน! 18 คำศัพท์เฉพาะทาง เพื่อให้คุณเข้าถึงวัฒนธรรม BNK48 ได้ง่ายขึ้น. https://bit.ly/3bX7nac