3 Min

#หนังครูเซเว่น ปีนี้ สร้างจากชีวิตจริงของ 2 ครู ครูจบปริญญาเอกที่มอบโอกาสให้เด็กเร่ร่อน และครูผู้ได้ยินเสียงของเด็กๆ ในโลกที่ไม่มีใครได้ยิน

3 Min
713 Views
14 Jan 2022

เป็นเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว ที่ในช่วงวันครูของทุกปี  เซเว่นอีเลฟเว่นจะปล่อยภาพยนตร์โฆษณาส่งเสริมสังคมบอกเล่าเรื่องราวของ ‘ครู’ ในมิติต่างๆ เป็นภาพยนตร์โฆษณาที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพวกเราหลายคน เป็นเรื่องราวแสนประทับใจที่ทำให้เรานึกถึงพระคุณของครูมาโดยตลอด

โดยปกติพวกเราจะเรียกภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ด้วยคำสั้นๆ ที่ติดปากว่า #หนังครูเซเว่น ซึ่งทราบกันหรือไม่ว่า ตั้งแต่ภาพยนตร์โฆษณาชิ้นแรกจนถึงปัจจุบัน #หนังครูเซเว่น มีโอกาสได้ถ่ายทอดเรื่องราวของครูแต่ละท่านไปมากถึง 10 เรื่อง เป็นการส่งเสริมวิชาชีพครู และเป็นสื่อสำคัญที่ช่วยเพิ่มกำลังใจให้ครูแต่ละท่านในการทำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติมาโดยตลอด

แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกับพวกเราในทุกมิติ ทำให้ปีที่แล้วอาจจะห่างหายไปบ้าง แต่เซเว่นอีเลฟเว่นยังคงให้ความสำคัญและไม่ลืมที่จะระลึกถึงพระคุณครู ในปีนี้ #หนังครูเซเว่น กลับมาอีกครั้ง และไม่ได้มาแค่เรื่องเดียว เซเว่นอีเลฟเว่นพร้อมจัดเต็มให้หายคิดถึง ยืนยันว่าเรื่องที่ 11 และ 12 จะมาภายในปีนี้แน่นอน แถมเน้นเลยว่าสร้างจากเรื่องจริง ของคุณครูจริง และอยากให้ติดตามกันแบบจริงๆ อีกด้วย 

วันนี้ BrandThink จะชวนทุกคนมารู้จักข้อมูลเบื้องต้นเพื่อที่เราจะได้เข้าใจเรื่องราวกันมากขึ้น เพราะในปีนี้ หนังครูเซเว่น มาในคอนเซปต์ ‘เชิดชู ครูผู้ให้ชีวิตใหม่’ กับชีวิตจริงของครูทั้งสองท่านที่ไม่ยอมจำนนกับเงื่อนไขและขีดจำกัดที่ต้องเผชิญ 

สำหรับเรื่องแรกเป็นเรื่องราวจากชีวิตจริงของครูข้างถนน ครูเจี๊ยบ วรัทยา จันทรัตน์ ผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก ซึ่งพอพูดถึงการศึกษาระดับ ‘ดอกเตอร์’ หลายคนคงนึกถึงการสอนที่มหาวิทยาลัย แต่ดอกเตอร์วรัทยาคนนี้ เลือกเส้นทางที่ต่างออกไป กับการอุทิศตัวให้ความรู้และการศึกษากับกลุ่มเด็กเร่ร่อน และขอทานที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ เพราะอย่างที่เราทราบกันดี ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะอะไร ความรู้เป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้

แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐฯ สักเท่าไหร่นัก แต่ครูเจี๊ยบก็ได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้แก่เด็กๆ มายาวนานกว่า 15 ปี การศึกษาของครูเจี๊ยบเป็นเหมือนการหยิบยื่นชีวิตใหม่ให้กับเด็กเหล่านั้น ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กเร่ร่อนหลุดออกจากวงจรยาเสพติด ครูเจี๊ยบไม่ได้สอนแต่วิชาการ เป็นครูผู้สอนวิชาชีวิตให้เด็กเหล่านั้น กับการเน้นย้ำให้แต่ละคนเติบโตไปด้วย ‘ความดี’

อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่แต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย การแจกจ่ายความรู้แก่เด็กๆ ทำให้ครูเจี๊ยบเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพจากการสูดดมมลภาวะ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่ขีดจำกัดของความเป็นครู ครูเจี๊ยบไม่ได้ล้มเลิกความตั้งใจ และยังคงเดินหน้าสอนเด็กๆ อยู่เรื่อยมา และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ครูเจี๊ยบก็ยังคงลงพื้นที่แม้จะรู้ตัวดีว่าเสี่ยงจากการติดเชื้อก็ตาม 

“การศึกษาจะเป็นวัคซีน ให้เด็กเร่ร่อนมีภูมิคุ้มกัน จากสิ่งเลวร้ายและไม่กลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคต” – คำพูดสำคัญของครูเจี๊ยบ วรัทยา จันทรัตน์ ผู้ดูแลเด็กเร่ร่อนกว่า 1,000 คน จากชุมชนต่างๆ 91 ชุมชน

สำหรับเรื่องราวถัดมา เป็นเรื่องราวของครูญาดา ชินะโชติ ที่ถึงแม้จะเกษียณไปนานแล้ว แต่ในวัย 75 ปี ท่านยังคงสอนหนังสือเด็กที่บกพร่องทางการได้ยินด้วยความตั้งใจ เป็นการสอนที่ยาวนานมากกว่า 57 ปี โดยสอนอยู่ที่โรงเรียนที่ท่านเองก็เคยเป็นศิษย์รุ่นแรกกับ ‘โรงเรียนเศรษฐเสถียร’ อีกด้วย

ซึ่งเราก็ต้องยอมรับตามตรงว่า ผู้บกพร่องทางการได้ยิน มีเงื่อนไขที่แตกต่างจากเด็กนักเรียนทั่วไปบ้าง โลกที่เงียบก็มีรูปแบบการสื่อสารของตัวเอง แต่การสื่อสารนั้นไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเข้าใจ ไม่ได้แปลว่าคนใกล้ตัวอย่างพ่อแม่จะเข้าถึงในทุกความต้องการ พอไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกกับคนใกล้ตัวได้ โลกใบใหญ่ของเด็กๆ ก็อาจไม่สดใสอย่างที่ควรจะเป็น เป็นโลกใบใหญ่ที่พวกเขาอาจรู้สึกว่า ‘ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครได้ยินเสียงของพวกเขาเลย’

แต่ในโลกแสนเงียบ เสียงของเด็กๆ เป็นเสียงที่ดังก้องอยู่ในหัวใจของครูญาดาอยู่เสมอ ครูเข้าใจในประเด็นนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญไม่ได้เป็นเพียงส่งต่อความรู้ให้แก่เด็กๆ แต่เป็นการส่งต่อความรู้ให้ผู้ปกครองอีกด้วย

ครูญาดาสอนลูกศิษย์ให้จบปริญญา และต่อยอดเรื่องราวดีๆ สู่การเป็นอาจารย์สอนคนปกติหลายคน สิ่งสำคัญคือหัวใจที่กล้าแกร่ง เต็มไปความทุ่มเทและใส่ใจ 

ถึงแม้ท่านจะอายุเยอะแล้ว แต่ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและสื่อการสอนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ ขอบอกเลยว่าศัพท์ใหม่ ศัพท์วัยรุ่นที่พวกเราใช้กัน อาจารย์ก็สามารถพัฒนาคำเหล่านั้นสำหรับภาษามือได้อีกด้วย ทำให้โรงเรียนเศรษฐเสถียรเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีการพัฒนาภาษามือใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้จะไม่มีเสียงออกมาเป็นประโยคหรือเป็นคำที่ชัดเจน แต่ไม่ได้แปลว่าเสียงของคนเหล่านั้นไม่มีความหมาย ครูญาดาเลือกที่จะไม่มองข้ามไป และเลือกฟังเสียงความต้องการของเด็กเหล่านั้นจากใจจริง

สุดท้ายนี้ พวกเราต่างมีคุณครูในความทรงจำกันอยู่แล้ว คุณครูที่เป็นมากกว่าครู เป็นมากกว่าคนสอนวิชา แต่เป็นครูที่สอนความคิด สอนให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นคุณครูที่พอเรานึกถึงทีไร ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เราก็ยังรู้สึกอบอุ่นภายในอยู่เสมอ เป็นครูที่ทำให้เราเห็นเส้นทางที่ต่างออกไป เห็นเส้นทางชีวิตในมิติใหม่ๆ ที่พวกเราไม่เคยนึกว่าจะมีอยู่จริง

แล้วคุณล่ะ? ครูที่อยู่ในความทรงจำ ครูที่เปลี่ยนชีวิตคุณคือใคร? ได้กลับไปทักทายท่านบ้างไหม? ได้พูดคุยกันอยู่หรือเปล่า?