1 Min

ยุงหาคนเจอได้อย่างไร? และทำไมความรู้นี้อาจนำไปสู่การ ‘ปฏิวัติ ยากันยุง’

1 Min
1388 Views
31 May 2022

ถ้าพูดถึงสัตว์ที่ฆ่ามนุษย์เยอะที่สุดในแต่ละปีนั้น ไม่ใช่ฉลาม จระเข้ หรือฮิปโป แต่มันคือสัตว์ตัวเล็กๆ อย่างยุงซึ่งเป็นพาหะของโรคจำนวนมากที่ทำให้มนุษย์ในเขตร้อนทั่วโลกล้มตายเป็นใบไม้ร่วง โดยเขาประเมินกันว่าคนตายเพราะยุงกันราว 1 ล้านคนต่อปีเลยทีเดียว

ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ก็สร้างปัญหามาก เพราะว่าจริงๆ มันเป็นปัญหาเมืองร้อนที่โลกตะวันตกเมืองหนาวไม่สนใจเท่าไหร่ ก็เลยไม่ได้พัฒนาหาทางแก้ไข คนก็ตายไปเรื่อยๆ

วิธีแก้นั้นก็ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะโรคที่ระบาดจากยุงมีเยอะมากๆ เป็นสิบๆ โรค และการจะหาทางแก้ทุกโรคต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราหาวิธีทำให้ยุงไม่กัดมันก็จะป้องกันได้ทุกโรค ประเด็นคือ มันจะต่างอะไรจากยากันยุงล่ะ

สิ่งที่เรียกว่ายากันยุงทุกวันนี้มันคือการเอากลิ่นที่ยุงไม่ชอบมาใช้ ซึ่งเกิดจากการสังเกตว่ากลิ่นอะไรที่ยุงไม่ชอบ (และไม่เป็นอันตรายต่อคน) แต่จริงๆ เราไม่รู้หรอกว่าทำไมยุงถึงไม่ชอบ

ในแง่นี้ทางวิทยาศาสตร์ คำตอบก็คือ ยุงมันชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราอะไร แต่ในทางการวิจัย คำถามแบบนั้นมันไม่เฉพาะเจาะจง เขาเลยวิจัยกันไปถึงว่ายุงได้กลิ่นของคนได้อย่างไร ซึ่งนั่นก็หมายถึงคำถามที่ว่าทำไมยุงถึงรับรู้ว่าคนคืออาหารของมัน ปัญหาคือสารเคมีตัวไหนบ้างที่อยู่ในกลิ่นของคน

วิธีการวิจัยนี้ ไอเดียก็ง่ายๆ เลย คือเขาเอายุงลายตัดต่อพันธุกรรมให้สมองของมันส่งสัญญาณมากกว่าปกติ เพื่อให้นักวิจัยสามารถสังเกตการทำงานของสมองได้ แล้วก็เอายุงพวกนี้ไปดมกลิ่นสัตว์ต่างๆ ผ่านตัวอย่าง เมื่อพบว่ายุงชอบแบบไหน เขาก็จะค่อยๆ ดูสารเคมีทีละตัวที่เป็นส่วนประกอบของกลิ่น

ก่อนจะพบว่ายุงชอบกลิ่นคนมากกว่าสัตว์อื่นๆ นอกจากนี้เขาลงไปดูอย่างละเอียดเลยว่าส่วนไหนของกลิ่นคนที่ยุงชอบ และได้ข้อสรุปว่ามันคือสารเคมี 2 ตัว ที่ไม่ได้อยู่ในเหงื่อคน แต่เป็นกลิ่นที่อยู่ที่ไขมันบริเวณผิวหนัง

นี่ถือเป็นความรู้ใหม่ของมนุษยชาติมากๆ และอาจนำไปสู่ยากันยุงรุ่นใหม่ที่จะทำให้ยุงไม่รู้สึกว่ามนุษย์คืออาหารอันโอชะอีกต่อไป แต่นั่นก็คงจะต้องรอกันอีกสักพักใหญ่เลย

อ้างอิง