‘โมโน โนะ อาวาเระ’ แนวคิดที่สอนให้เราเข้าใจ ว่าการสิ้นสุดหรือการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต
เคยรู้สึกไหมว่า บางช่วงของชีวิตก็เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นกลับแสนสั้นเสียเหลือเกิน อาจจะเป็นช่วงมัธยมปลายที่ได้ใช้เวลากับเพื่อนสนิทโดยไม่ต้องสนใจภาระใดๆ หรือการไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ ที่คุณไม่อยากให้มันจบลง
ซึ่งการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและการสิ้นสุดลงของความทรงจำ อาจเป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับใครหลายๆ คน
แต่ในญี่ปุ่นกลับมีคำคำหนึ่งที่ชี้ชวนให้เราสยบยอมต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และพร้อมเผชิญหน้ากับมันด้วยความเข้าใจ คำนั้น คือ ‘โมโน โนะ อาวาเระ’ (物の哀れ) แม้จะนิยามได้ยาก แต่คำคำนี้หมายถึง ‘อารมณ์ซาบซึ้งอันสะเทือนใจที่เกิดจากความเข้าใจในสัจจธรรมชีวิตและธรรมชาติ ว่าไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ตลอดไป’ โดยเป็นคำผสมระหว่างคำว่า ‘โมโน’ (物) แปลว่า สิ่งของ และ ‘อาวาเระ’ (哀れ) ที่แปลว่า การทอดถอนใจ การสัมผัส หรืออาจแปลได้ว่า ความรู้สึกอันลึกซึ้ง
ภาพที่ใช้อธิบายคำดังกล่าวได้ชัดที่สุดคือ อาจเป็นภาพของดอกซากุระที่บานสะพรั่งเรียงรายไปตามท้องถนนราวกับชั้นหิมะสีชมพูในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ก่อนจะร่วงโรยและเหี่ยวแห้งไปในที่สุด เสน่ห์ที่ทำให้ช่วงดอกซากุระบานเป็นที่น่าจดจำ ส่วนหนึ่งอาจไม่ใช่เพราะสีชมพูของมัน หากแต่เป็นระยะเวลาการผลิบานที่แสนสั้นต่างหาก เพราะถ้าหากซากุระบานตลอดทั้งปี คงไม่มีใครสนใจในความงามนี้และมองซากุระเป็นเพียงสิ่งของธรรมดาที่ทุกคนสามารถเห็นได้ในชีวิตประจำวัน การจากไปในระยะเวลาอันแสนสั้นนี้เองจึงทำให้ดอกไม้ชนิดนี้มีความพิเศษ เช่นเดียวกันกับ บางช่วงเวลาของชีวิตที่หลายคนอาจจะรู้สึกเศร้าที่สูญเสียมันไป แต่ในความเศร้าโศกนี้เองที่ทำให้เรารู้ว่า ช่วงเวลาอันสั้นนั้นมีความงดงามและมีความหมายกับชีวิตเรามากเพียงใด
สุนทรียศาสตร์ของ ‘โมโน โนะ อาวาเระ’ จึงมุ่งเน้นไปที่การเข้าไปสัมผัสกับความไม่ยั่งยืนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของชีวิตและสรรพสิ่งที่อยู่บนโลก ที่แม้จะดำรงอยู่เพียงชั่วขณะ แต่ก็กลับมีความงดงามและมีคุณค่าในตัวเอง และเน้นไปที่การชี้ชวนให้มนุษย์มองลึกลงไปว่า สิ่งที่อยู่เหนือความเศร้าโศกจากการจากลา คือคุณค่าอันงดงามที่เราได้รับจากสิ่งหนึ่ง แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม
แนวคิดดังกล่าวนี้ปรากฏครั้งแรกในวรรณกรรมสมัยเฮอัน แต่มาใช้อย่างแพร่หลายในสมัยเอโดะ โดยมีรากฐานจากการผสมผสานระหว่างความเชื่อแบบชินโตที่ปลูกฝังให้มนุษย์มีความตระหนักรู้ ผ่านการเข้าไปสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งน้อยใหญ่ที่อยู่รอบตัว กับคอนเซ็ปต์ทางพุทธศาสนาที่สอนให้เรายอมรับในความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง
ในปัจจุบัน แนวคิดนี้ถูกสมาทานไปใช้โดยผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ทำให้ผู้คนสามารถปล่อยวางและก้าวข้ามผ่านความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชีวิต ผ่านแนวคิดที่เน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะผ่านช่วงเวลาใดตาม จงชื่นชมกับมัน เพราะความงามที่ได้รับนั้นจะจืดจางลงในที่สุด ก่อนจังหวะชีวิตจะเปลี่ยนไปและความงดงามใหม่ๆ จะเข้ามาทดแทน ดังทุกฤดูกาลของดอกซากุระที่จะบานและร่วงโรยเป็นวัฏจักรอยู่ร่ำไป
อ้างอิง
- Berkley Center. Mono no aware : The Transience of Life https://tinyurl.com/5ae3e65n