นับตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ มนุษย์จับเอาสัตว์หลายชนิดมาผสมข้ามสายพันธุ์จนเกิดเป็นสัตว์ชนิดใหม่ เพื่อการใช้ประโยชน์และศึกษาวิจัยขึ้นมามากมาย
แต่ในธรรมชาติโอกาสจะเกิดเหตุการณ์แบบที่คนจับมาทำในลักษณะดังกล่าวเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะสัตว์แต่ละชนิดมักจะอยู่รวมกับสายพันธุ์ตัวเองมากกว่าไปข้องแวะกับสายพันธุ์อื่นๆ เว้นแต่เป็นไปในฐานะผู้ล่ากับผู้ถูกล่า
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย ดังที่ก่อนหน้านี้เคยมี ‘หมีพริซลี’ ลูกผสมระหว่างหมีกริซลีกับหมีขั้วโลกเกิดขึ้นมาแล้ว
ในกรณีที่ใกล้เคียงกันได้เกิดขึ้นกับลิงในป่าบอร์เนียวของมาเลเซีย เมื่อ ‘ลิงจมูกยาว’ (Proboscis monkey) หันมาผสมพันธุ์กับ ‘ค่างเทา’ (Silvery langur) จนเกิดลิงไฮบริดชนิดใหม่ขึ้นมา
ลิงลูกผสม (ที่ยังไม่มีชื่อเรียก) มีลักษณะเด่นของลิงจมูกยาวและค่างเทาปรากฏบนใบหน้าชัดเจน คือ มีจมูกใหญ่ยาวคล้ายลิงจมูกยาวตัวเมีย แต่มีหน้าสีเทาเหมือนค่าง
ลิงไฮบริดตัวนี้ถูกพบมาตั้งแต่ปี 2017 แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครเอะใจหรือสงสัย จนภาพลิงตัวนี้ปรากฏบนโซเชียลมีเดียก่อนที่นักนิเวศวิทยาจะมาพบเข้า การศึกษาเกี่ยวกับลิงที่มีหน้าตาไม่เหมือนใครนี้จึงเกิดขึ้นอย่างจริงจัง
แต่พูดว่าศึกษาจริงจังก็คงไม่ถูก เพราะมันเป็นงานวิเคราะห์จากภาพถ่ายลิงตัวนี้ที่มีอยู่ไม่มากนัก ทั้งจากไกด์และนักวิจัยที่เข้าไปทำงานบนเกาะบอร์เนียวและบังเอิญถ่ายภาพเจ้าลิงตัวนี้ได้ ก่อนนำมาตั้งสมมุติฐานความเป็นไปได้ต่างๆ ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร
ไม่ใช่ว่านักวิทยาศาสตร์ขี้เกียจหรืออะไร แต่กว่าจะมีคนสังเกตว่าเป็นลิงชนิดใหม่ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ที่ดันเกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดพอดี การเดินทางไปศึกษาถึงถิ่นจึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้
ที่นักชีววิทยาค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นลิงลูกผสมแน่ๆ นอกจากลักษณะบนใบหน้าแล้ว ยังมีภาพถ่ายที่คนดันทะลึ่งถ่ายภาพตอน ‘ลิงจมูกยาว’ ตัวผู้กำลังผสมพันธุ์กับ ‘ค่างเทา’ ได้พอดี ก็เลยนำเอาจุดนี้มาช่วยยืนยันสมมุติฐานอีกคะแนน
แต่ท่ามกลางความตื่นเต้นที่พบลิงลูกผสมในธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ยากนี้ กลับเต็มไปด้วยความกังวลมากมายหลายอย่าง
ดังที่กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้น โอกาสการผสมข้ามสายพันธุ์ในธรรมชาติมันมีน้อยมาก เว้นแต่มีปัจจัยเอื้ออำนวย และปัจจัยที่ว่าจะเป็นอื่นใดไปไม่ได้เลยนอกจากการตัดไม้ทำลายป่า ที่ทำให้ลิง 2 สายพันธุ์ต้องมาแชร์ที่อยู่อาศัยร่วมกัน
โดยผืนป่าบนเกาะบอร์เนียวในส่วนของมาเลเซีย ได้หายไปมากถึง 1.9 ล้านเฮกตาร์ระหว่างปี 2004-2017 ซึ่งคิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ของป่าที่เหลืออยู่
และจากข้อมูลสถานที่พบลิงไฮบริดตัวนี้ ก็เป็นหย่อมป่าเล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยสวนปาล์มน้ำมัน
จึงได้เป็นข้อสรุปว่าลิงไฮบริดนี้เกิดจากการปรับตัวของพ่อแม่คนละสายพันธุ์ที่ถูกบังคับให้ต้องมาแชร์บ้านร่วมกัน
ในกรณีนี้ยังถือเป็นเรื่องดีที่ลิงมันยังพอคุยกันรู้เรื่อง แต่ถ้าโชคไม่ดีก็อาจเกิดสงครามแย่งบ้านแย่งอาหารกันระหว่างเผ่าพันธุ์
ผู้ชนะจะได้ครองอาณาเขต ส่วนคนแพ้ก็ถูกเนรเทศออกนอกป่า ถ้ามีเมืองอยู่รอบๆ ก็กลายเป็นสัตว์ที่คอยคุ้ยหาอาหารตามถังขยะ แต่ถ้ารอบข้างเป็นสวนที่มนุษย์ควบคุมอยู่ส่วนใหญ่ก็จะถูกยิงตาย
นักชีววิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับลิงตัวนี้ เขียนบทสรุปไว้ในรายงานการศึกษาว่า “การค้นพบนี้ไม่ควรเป็นเพียงเรื่องของสัตว์สายพันธุ์ใหม่ แต่ต้องมองให้เห็นว่ามันคือสัญลักษณ์ที่เกิดจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ”
อ้างอิง
- Live Science, Borneo has a hybrid ‘mystery monkey,’ and researchers are concerned, https://shorturl.asia/phLMb
- The Telegraph, How monkey business and deforestation created a new species, https://shorturl.asia/aDgZt
- The Asean Post, Deforestation: A Threat To The Heart Of Borneo, https://shorturl.asia/2A7MO