แม่จ๋าขอตังค์หน่อย เทคนิคการขอตังค์แม่ ขออย่างไรให้สำเร็จ

2 Min
6258 Views
05 Jan 2021
สำหรับการยื่นข้อเสนอ นับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันพวกเราทุกวัน Brandthink เราจะขอนำเสนอเทคนิคการขอเป็นเหมือนเทคนิคทางจิตวิทยาที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้ตั้งแต่การขอตังค์แม่ ยืมตังค์เพื่อน หรือปิดดีลการขายมูลค่ามหาศาล โดยเทคนิคนี้นับว่าเป็นเทคนิคที่โด่งดังขึ้นมาใน Twitter บ้านเรา
 
เรามีดูกันดีกว่าว่ามีเทคนิคอะไรกันบ้าง แล้วจะทำให้คุณเป็นสุดยอดนักขอได้!

Door-in-the-face (DITF)

สำหรับ DITF หรือปิดประตูใส่หน้า เป็นเหมือนการยื่นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ก่อน หรือข้อเสนอที่เรามั่นใจว่าเขาจะปฏิเสธ ก่อนตามด้วยข้อเสนอที่แท้จริงของเรา
 
ตัวอย่าง: ถ้าเราจะขอตังค์แม่สักหนึ่งพัน คำถามแรกเราอาจจะขอไปก่อนเลย ‘แม่จ๋า ขอเงินสักห้าพันได้ไหม’ ซึ่งเป้าหมายอาจจะรู้สึกว่าเงินห้าพันมันอาจจะมากไป แม่อาจไม่ให้ เราเลยเสนอข้อเสนอต่อไปว่า งั้นขอสักพันหนึ่งได้ไหม
 
พอทำได้แบบนี้เป้าหมายก็จะอ่อนระทวย มีสิทธิ์จะยินยอมมากกว่าการที่เราขอพันหนึ่งเลยตั้งแต่แรก
 
ซึ่งถ้าเราขอหนึ่งพันตั้งแต่มันอาจจะไม่เวิร์กก็ได้ แต่พอขอยืมพันหลังจากการขอเงินห้าพัน ทำให้เงินหนึ่งพันดูเป็นอะไรที่เล็กน้อย และที่สำคัญคนเรามักจะไม่ปฏิเสธอะไรซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะหากปฏิเสธไปหนึ่งครั้งแรก เราก็จะรู้สึกผิดจนไม่อยากปฏิเสธอีกครั้งนั่นเอง แถมที่สำคัญข้อเสนอถัดมาดูจะเป็นข้อเสนอที่ยอมรับได้และน่าสนใจกว่าข้อเสนอแรกอีกด้วย

Foot-in-the-door (FITD)

จะตรงกันข้ามกับ DITF เพราะเทคนิคนี้เป็นการหยิบยื่นข้อเสนอที่ง่าย ที่เขาไม่สามารถปฏิเสธ หรือเป็นข้อเสนอที่เรามั่นใจว่าเขาจะยอมอยู่แล้วก่อน หลังจากนั้นค่อยตามด้วยข้อเสนอที่แท้จริงที่เราต้องการ ถ้าหากแปลตรงรูปประโยคก็จะอารมณ์ประมาณว่า ให้เป้าหมายลองก้าวเท้าเข้าประตูมาก่อน เพราะถ้าเริ่มมาในทิศทางที่เราต้องการแล้ว ก้าวต่อไปอาจจะง่ายยิ่งขึ้น
 
ตัวอย่าง: สำหรับเทคนิคนี้ เราอาจจะขอทีละเล็กๆ น้อยๆ ก่อน อาทิ แม่จ๋า ขอร้อยหนึ่งได้ไหม แล้วก็ตามด้วย แม่จ๋าขออีกสองร้อยได้ไหม แม่จ๋าขออีกสามร้อยได้ไหม แม่จ๋าขออีกสี่ร้อยได้ไหม ในช่วงเวลาที่ต่างกัน
 
เมื่อเงินจำนวนแรกไม่ได้เยอะอะไร พอขอจำนวนต่อไปแม่ก็อาจจะรู้สึกสบายใจมากขึ้นกว่าการให้พันหนึ่งตั้งแต่แรก เผลอๆ อาจจะได้เยอะกว่าจำนวนแรกก็ได้
 
หากมองตามความเป็นจริง เราเชื่อว่าในชีวิตประจำวัน หลายท่านก็น่าจะเคยหยิบยกเอาเทคนิคเหล่านี้ไปใช้กันอยู่แล้ว ส่วนจะใช้ในสถานการณ์ไหน หรือบริบทอะไร ก็ว่ากันไป แต่ที่ทำให้เราแปลกใจอย่างมากก็คือมันมีคำนิยามและถูกอธิบายเป็นทางการต่อไว้อย่างจริงจัง เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งทฤษฎีเลยก็ว่าได้
 
ไม่ว่าจะเป็นการต่อราคา การขอตังค์แม่ การทำธุรกิจก็ย่อมได้
 
แต่ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคไหน ก็คงไม่สามารถการันตีความสำเร็จได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ เอาเป็นว่าลองนำไปปรับใช้ดูตามความเหมาะสม และก็ปรับเปลี่ยนรายละเอียดตามสถานการณ์ที่เจอน่าจะเหมาะสมที่สุด
 
มาเล่าให้ฟังกันหน่อยสิว่า ใครเคยใช้เทคนิคแบบนี้อยู่แล้ว หรือใครมีเทคนิคด้านอื่น มีน่าสนใจ เอามาแชร์กันได้เลย!