4 Min

รู้จัก Molnupiravir ยาโควิด-19 ตัวใหม่ อีกไม่นานคุณอาจซื้อกินเองที่บ้านได้

4 Min
12332 Views
04 May 2021

เวลานี้ในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรเกือบทั้งประเทศแล้ว แทบจะไม่พูดกันถึงเรื่อง “ยารักษา COVID-19”

เรียกได้ว่า แม้แต่ข่าว Pfizer จะพัฒนายา COVID-19 แบบกินที่บ้าน (เขาเพิ่งเริ่มทดลองหมาดๆ ปลายเมษายน 2021) และมีแผนว่าน่าจะพัฒนาเสร็จตอนปลายปี 2021 คนในโลกตะวันตกก็ไม่ตื่นเต้นกันแล้ว เพราะตามไทม์ไลน์ของเขาช่วงนั้นในประเทศก็คงจะไม่มี COVID-19 เหลืออีกต่อไป คนคงฉีดวัคซีนกันหมดแล้ว

ตัดภาพมาประเทศที่กำลังพัฒนาที่วัคซีนขาดแคลน ประเมินแบบสมจริงยังไงก็คงฉีดไม่เสร็จในปี 2021 และ COVID-19 ก็คงระบาดหนักขึ้น ขณะที่คนล้มหมอนนอนเสื่อกันล้นโรงพยาบาล และในบริบทแบบนี้ การพูดถึง “ยารักษา” ตัวใหม่ก็น่าจะชวนให้ใจชื้น

บทความนี้เราก็ไม่ได้พูดถึงยาของ Pfizer ข้างต้น เพราะกว่าจะพัฒนาเสร็จ สถานการณ์คงไปถึงไหนต่อไหนแล้ว

แต่เรากำลังพูดถึงยาตัวใหม่ที่เพิ่ง “ค้นพบ” ว่าน่าจะเป็นยาที่มนุษย์มีและ “ได้ผล” ที่สุดกับ COVID-19 หลังทดลองไปพอสมควรแล้วว่าปลอดภัย ยาที่ว่าชื่อ Molnupiravir

ยาและการต่อสู้กับ COVID-19

ผ่านการระบาดกว่า 1 ปี มนุษย์ยังไม่มียา COVID-19 โดยเฉพาะ เหตุผลก็คือ “ยา” นั้นพัฒนายากกว่าวัคซีน เพราะวัคซีนคือการเอา “เชื้อโรค” มาปรับให้อ่อนแอฉีดเข้าร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งในแง่นี้ เรามีเชื้อโรค เราก็มีวัคซีน

แต่ “ยา” นั้นต่างกัน เพราะเราต้องหา “สารเคมี” ในโลกนี้ที่จะมีฤทธิ์ในการ “ฆ่า” เชื้อโรค หรือลดอัตราการเจริญเติบโตของพวกมัน

ความท้าทายก็คือ ยาที่ว่าต้องไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ด้วย เพราะ “ยาแรง” น่ะ ยังไงเชื้อโรคก็ตาย มนุษย์หาสารเคมีที่จะฆ่า COVID-19 ได้ไม่ยากหรอก ความยากคือ เราจะหาสารอะไรที่ไปอยู่ในร่างกายแล้วมนุษย์จะไม่ตายไปพร้อมๆ COVID-19 ในตัว

คราวนี้ต้องพัฒนากันนาน เพราะยาที่แรงไป มันคือ “ยาพิษ” กินแล้วอาจจะมีความเสี่ยงเสียชีวิต

ดังนั้นการสู้กับ COVID-19 แรกๆ เราก็จะเห็นว่ามีการทดลองเอายาต้านไวรัสที่เคยพัฒนาสู้กับไวรัสอื่นๆ หลายต่อหลายตัวมาลองใช้เพื่อสู้กับ COVID-19 และในปัจจุบัน แนวทางมาตรฐานกว่า 50 ประเทศ (รวมทั้งไทย) คือการใช้ยาชื่อ Redemsivir เป็นยาที่ตอนแรกพัฒนามาใช้ต้านไวรัสตับอักเสบ C มาเพื่อต้าน COVID-19 ซึ่งก็เรียกได้ว่า “ได้ผล” น่าพอใจสุดแล้วในบรรดายาที่มนุษย์มี ไม่งั้นมันไม่มีทางมาถึงตรงนี้ได้

ยา Redemsivir

ยา Redemsivir | Penn Medicine

แต่ “ปัญหา” ของ Redemsivir คือไม่ใช่ “ยากิน” มันเป็นยาที่ต้องให้ทางเส้นเลือดดำ (หรือที่คนทั่วไปคุ้นในการเรียกว่าให้ผ่าน “สายน้ำเกลือ”) ดังนั้นยาแบบนี้ ก็ต้องให้ในสถานพยาบาลเท่านั้น คนทั่วไป “กิน” เองที่บ้านไม่ได้

และนี่แหละที่มาของปัญหา “เตียงเต็ม” ไม่ว่าจะเป็นในอินเดียหรือไทย
พูดอีกแบบ ถ้ามี “ยากิน” ที่ใช้ต้าน COVID-19 ได้ ก็จะเรียกว่า “เกมพลิก” และภาวะ “เตียงเต็ม” ก็จะหมดไป

ความหวังใหม่

ตอนที่ COVID-19 ระบาดใหม่ๆ ยาที่ถูกนำมาใช้ คือยาที่พัฒนาเสร็จแล้วทั้งนั้น คำถามคือ จริงๆ มันมียาที่ “กำลังพัฒนา” อยู่ที่อาจใช้ได้ด้วยไหม?

และผ่านมา 1 ปี จะมียาที่ “พัฒนาเสร็จแล้ว” บางตัว จะใช้กับ COVID-19 ได้มั้ย
และยาที่ว่านั่นคือ Molnupiravir

ยาตัวนี้ตอนแรกคือยาพัฒนามาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งก็เหมือนยาต้านไวรัสอื่นๆ ที่มีศักยภาพจะต้านไวรัสตัวอื่นได้ด้วย แต่ไม่รู้อะไรบ้าง

ซึ่งในปี 2020 ตอน COVID-19 เริ่มระบาด เพิ่งวิจัยไปขั้นแรกเลย คนก็เลยไม่ได้สนใจยาที่ไม่ได้พัฒนามาสู้ COVID-19 โดยตรง

ต่อมาในปี 2020 ทีมที่พัฒนาก็ค่อยๆ ลองเอาไปใช้ต้าน COVID-19 ได้ เพราะถือว่าถ้าต้านได้ ก็ไม่เสียหาย

ผลเหรอครับ ยาตัวนี้รับไป 24 ชั่วโมง เชื้อ COVID-19 หยุดแพร่กระจายเลย เรียกได้ว่าเป็นยาที่ดีที่สุดที่มนุษย์มีตอนนี้ ซึ่งผลวิจัยนี้มีตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 แล้ว
และที่สำคัญมันเป็น “ยากิน” จะช่วยลดภาระโรงพยาบาลมากด้วย

แต่ถามว่า ในตอนนั้น ใครจะสนใจ? ทุกคนสนใจแต่วัคซีน

พอ COVID-19 กลับมาระบาด และหลายๆ ประเทศเริ่มเตียงไม่พอ Molnupiravir ก็เลยเริ่มกลับมาเป็น “ตัวเลือก” ที่น่าสนใจ เพราะก็อย่างที่บอก การที่ต้องดูแลคนไข้ด้วยยาที่ต้องให้ทางสายน้ำเกลืออย่าง Redemsivir นี่แหละตัวการสำคัญที่ทำให้ “เตียงไม่พอ”

เพราะถ้าใช้ Molnupiravir นั่นหมายความว่าถ้าตรวจเจอ COVID-19 หมอก็ให้ยากลับบ้านไปกินยาได้ ไม่ต้องมาแออัดกันที่โรงพยาบาล

และถามว่า “ความคืบหน้า” มีไหม เอาจริงๆ บริษัท Merck ที่เป็น “เจ้าของ” ยา Molnupiravir เขาประกาศยินดีจะ “ให้สูตร” กับบริษัทยาในอินเดียไปผลิตยาใช้เอง พร้อมบริจาคเงินให้ด้วย

ซึ่งถามว่าทำไมเขาทำแบบนี้ พูดแบบแย่ๆ หน่อยก็คือ เขาต้องการผลทดสอบยาขั้น 3 และ 4 ในอินเดีย เพราะตอนนี้คือเขาทดสอบขั้น 1 กับ 2 เสร็จแล้ว เขารู้โดสที่เหมาะสมแล้วว่าต้องกินยังไง ที่เขาไม่ได้เช็กละเอียดคือโอกาสได้ผลมันกี่ % ในประชากรวงกว้าง และผลข้างเคียงมันคืออะไรบ้าง และนี่คือเป้าของการทดลองขั้น 3 และ 4 (ไม่ว่าจะเป็นยาหรือวัคซีน)

ทั้งหมดอาจฟังดูแย่ แต่อินเดียตอนนี้สถานการณ์ก็สิ้นหวังสุดๆ โรงพยาบาลล้นแล้วล้นอีก และอย่าว่าแต่โรงพยาบาลเลย ตอนนี้ที่เผาศพก็ยังไม่พอเลย

ถ้าทางอินเดียยอมเป็น “หนูทดลองยา” Molnupiravir ให้กับทาง Merck อินเดียก็เรียกได้ว่าอาจรอดจากภาวะที่เป็นอยู่แล้ว และถ้าทดลองสำเร็จ ไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรงใดๆ ยาตัวนี้ก็น่าจะถูกใช้ในประเทศอื่นๆ อย่างรวดเร็ว

และถ้ามันเวิร์กจริง Molnupiravir อาจถูกใช้แทน Redemsivir เลยก็ได้

ซึ่งตอนนี้ถ้าจะลุ้น “ยาตัวใหม่” มาพลิกสถานการณ์ COVID-19 ก็อย่าเพิ่งไปลุ้นยาของ Pfizer ที่เพิ่งเริ่มทดลอง ยา Molnupiravir ที่เล่ามานี้มีลุ้นกว่าเยอะ

อ้างอิง

  • Forbes. Molnupiravir: A New Hope For Prevention And Treatment Of Covid-19 And Other Dangerous Viruses. https://bit.ly/3gNEygU
  • Healthworld.com. Antiviral drug ‘Molnupiravir’ blocks Covid-19 virus within 24 hours: Study. https://bit.ly/2RcoCcY
  • BusinessWire. Amid Humanitarian Crisis in India, Merck Announces Voluntary Licensing Agreements with Five Indian Generics Manufacturers to Accelerate and Expand Global Access to Molnupiravir, an Investigational Oral Therapeutic for the Treatment of COVID-19. https://bwnews.pr/3dZDxAg
  • Wikipedia. Remdesivir. https://bit.ly/3tYttgy