สรุปให้! ใช้แอปธนาคารต้อง ‘สแกนหน้า’ ยืนยันตัวตนกรณีโอนเกินครั้งละ 5 หมื่น เริ่มมีผลตั้งแต่ พ.ค. – มิ.ย. 66
อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
หลายคนอาจได้ยินข่าวมาบ้างแล้ว แต่ยังสงสัยว่าทำไมธนาคารไทยถึงแจ้งให้ผู้ใช้แอปโมบายล์แบงกิ้ง ไปดำเนินการ ‘สแกนใบหน้า’ เข้าสู่ระบบให้เรียบร้อย เป็นเพราะเดือน พ.ค. – มิ.ย. 2566 จะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการเกิดขึ้น โดยลูกค้าธนาคารที่ต้องการโอนเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง หรือโอนเกิน 200,000 บาทต่อวัน หรือต้องการขยายวงเงินในการโอน จะต้อง ‘สแกนใบหน้าทุกครั้ง’ เพื่อยืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าของบัญชีจริงๆ ซึ่งเป็นการขานรับนโยบายป้องกันมิจฉาชีพของแบงก์ชาติ
เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ประกาศมาตรการจัดการ ‘ภัยทุจริต’ ทางการเงิน หลังจากมีผู้เสียหายจำนวนมากถูกมิจฉาชีพโกงเงินผ่านธุรกรรมออนไลน์ทางมือถือ หรือโมบายล์แบงกิ้ง (Mobile Banking) แบงก์ชาติจึงขอความร่วมมือธนาคารไทยให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและยืนยันตัวตนผู้โอนเงินว่าเป็น ‘เจ้าของบัญชี’ จริงๆ
ด้วยเหตุนี้ ธนาคารไทยหลายแห่งจึงประกาศว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะเริ่มใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า หรือ Biometrics ในการทำธุรกรรมการเงินผ่านโมบายล์แบงกิ้งทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายของแบงก์ชาติที่ต้องการ ‘ปิดช่องทางโกงเงิน’ ของเหล่ามิจฉาชีพ
ผู้ใช้แอปธนาคารในประเทศไทยจึงได้รับการแจ้งเตือน ทั้งจากข้อความ SMS ในมือถือโดยตรง และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ให้ไปดำเนินการ ‘สแกนใบหน้า’ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลของแต่ละธนาคารที่เราเป็นลูกค้า เพราะอีกไม่กี่เดือนต่อจากนี้ผู้ที่จะโอนเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง หรือโอนเงินเกิน 200,000 บาทต่อวัน และผู้ที่ต้องการจะเปลี่ยนวงเงินในการโอนให้สูงขึ้น จะต้องสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง
ถ้าผู้ใช้คนไหนไม่ได้สแกนใบหน้าเก็บไว้ในระบบ ในอนาคตก็อาจทำให้การทำธุรกรรมดังกล่าวผ่านแอปต้องหยุดชะงัก เพราะไม่มีข้อมูล Biometrics ให้เปรียบเทียบ และอาจต้องเสียเวลาเพิ่มในการสแกนใบหน้าหรือยืนยันข้อมูลเข้าสู่ระบบในช่วงเวลาที่อาจจะมีความจำเป็นเร่งด่วน
ทั้งนี้ ธนาคารที่จะเริ่มใช้มาตรการยืนยันตัวตนผ่านการสแกนใบหน้าทางแอปโมบายล์แบงกิ้ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงเทพ ส่วนธนาคารที่จะใช้มาตรการนี้ในเดือนมิถุนายน 2566 ได้แก่ กรุงไทย
ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงศรี ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะเริ่มมาตรการนี้ตั้งแต่เมื่อใด แต่ก็มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนเมษายนให้ผู้ใช้บริการโมบายล์แบงกิ้งของธนาคารไปสแกนใบหน้าเข้าสู่ระบบไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยจะไปดำเนินการที่ธนาคารสาขาต่างๆ ก็ได้ หรือจะดำเนินการผ่านแอปก็ได้เช่นกัน
ส่วนมาตรการป้องกันมิจฉาชีพอื่นๆ ของแบงก์ชาติ มีทั้งการขอความร่วมมือจากธนาคาร ‘งดส่งลิงก์ทุกประเภท’ ผ่าน SMS และอีเมล รวมถึงงดส่งลิงก์เพื่อขอข้อมูลสำคัญจากผู้ใช้งานผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น ชื่อ-นามสกุล รหัสผ่าน เลขบัตรประชาชน เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล ทั้งยังขอจำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งานระบบโมบายล์แบงกิ้ง 1 คนต่ออุปกรณ์ 1 เครื่องเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีการระบุให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ต้องจัดการส่งข้อมูล ‘แจ้งเตือน’ ผู้ใช้บริการในระบบโมบายล์แบงกิ้ง ‘ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง’ และต้องพัฒนาระบบความปลอดภัยบนโมบายล์แบงกิ้งให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
อ้างอิง
- BOT. ข่าว ธปท. ฉบับที่ 10/2566 เรื่อง ธปท. ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน. https://bit.ly/3V6HM0R
- Sanook. รวมธนาคารใช้ระบบ “สแกนใบหน้า” ทำธุรกรรมการเงิน เริ่ม พ.ค. นี้. https://bit.ly/4446rHp