2 Min

กระทรวงความเหงาบังเกิด เมื่อ ‘ความเหงา’ เป็นพิษร้ายเท่ากับสูบบุหรี่ 15 มวน

2 Min
336 Views
02 Sep 2021

Select Paragraph To Read

  • หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับความเหงามากขึ้น
  • จุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังไม่ติดต่อหลายประเภท

เนื่องจากมาตรการการล็อกดาวน์ในช่วงนี้ที่ใครหลายๆ คนไม่สามารถออกไปไหนหากไม่จำเป็น ส่งผลต่อวิถีชีวิตจากปกติที่เคยได้เที่ยว เคยได้สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ก็กลายมาเป็นอุดอู้อยู่แต่ในห้อง จนทำให้หลายคนเกิด “ความเหงา” ที่กำลังมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนับเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากความเครียด

Tetsushi Sakamoto | wikipedia

จนทำให้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โยชิฮิเดะ ซูกะ นายกฯ ของประเทศญี่ปุ่น ได้แต่งตั้ง เทตสึชิ ซากาโมโตะ เป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงความเหงา (Minister for Loneliness) เพื่อจัดการ ดูแล บรรเทาปัญหาความเหงา และการแยกตัวออกจากสังคมของประชาชน หลังจากสถิติการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ โดยเฉพาะผู้หญิงที่รู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น

Tracey Crouch | members.parliament.uk

หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับความเหงามากขึ้น

ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกของโลกที่มี “กระทรวงความเหงา” เกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี 2017 ทางรัฐบาลอังกฤษ ก็ได้แต่งตั้งให้เทรซีย์ เคราซ์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงดังกล่าวคนแรก เพื่อให้เป็นหน่วยงานสำหรับรับมือกับความเหงา รวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับดูแล แก้ไขปัญหาทางสังคม และบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตให้ชาวอังกฤษที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ความเหงาไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่มีอันตรายน่ากลัวมากกว่าที่คิด

จากรายงานการศึกษาขององค์กรบริหารทรัพยากรและบริการด้านสุขภาพระบุว่า ความเหงาสามารถเป็นฆาตกรในการฆ่าคนได้ และยังสอดคล้องกับงานวิจัยที่ว่า ความรู้สึกเหงาเกิดขึ้นแต่ละครั้งส่งผลเสียต่อสุขภาพเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันเลยทีเดียว

จุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังไม่ติดต่อหลายประเภท

อีกทั้งการศึกษาหลายชิ้นยังพบว่า ความเหงาเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังไม่ติดต่อหลายประเภท เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เนื่องจากความโดดเดี่ยวทำให้ผู้คนต้องแยกตัวออกจากสังคม จนเกิดพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพ ทั้งการไม่ออกกำลังกาย ไม่ไปพบแพทย์ รวมถึงส่งผลให้เกิดความเครียด และความดันโลหิต

จึงถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลของหลายประเทศ เริ่มให้ความสำคัญต่อปัญหาจากความเหงา จนมีการคิดแนวทาง รวมถึงริเริ่มนโยบายต่างๆ อย่าง การจัดกิจกรรมส่งเสริม รักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน หรือมีการให้ปรึกษา หรือแนะนำองค์กร เพื่อต้องการป้องกันความเหงาทางสังคมของประชาชน

อย่างไรก็ดี ความเหงานั้นไม่ได้เกิดกับแค่ผู้สูงอายุเพียงกลุ่มเดียว แต่สามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่ก็ล้วนมีความเหงาด้วยกันหมด ดังนั้น! อย่าลืมลองหันหน้ามาพูดคุย หรือหากิจกรรมอะไรทำเช่น ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย เพื่อช่วยบรรเทาความเหงา สร้างความสนุกสนาน จะได้ส่งผลดีกับสุขภาพใจยันสุขภาพกายนะ

อ้างอิง

  • asia.nikkei. Japan appoints ‘minister of loneliness’ to help people home alone. https://s.nikkei.com/3y1cpb1
  • bbc. ขจัดความเหงาประชาชน วาระแห่งชาติของรัฐบาลอังกฤษ. https://bbc.in/3k7LZiR