2 Min

กิ้งกือ สัตว์สุดอาภัพ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นวายร้าย อาจไม่ได้เป็นแบบที่เราเข้าใจ

2 Min
3172 Views
30 Nov 2020

ความเชื่อฝังหัวอย่างหนึ่งที่ใครหลายคนคงเคยได้ยินจากคนเฒ่าคนแก่ เทียวเฝ้าเตือนเวลาออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน คือ ให้ระวังกิ้งกือดีๆ ระวังอย่าให้มันกัดเอานะ เดี๋ยวจะถูกมันวางไข่ไว้ในตัว

ประหนึ่งราวกับว่า “กิ้งกือ” เป็น “เอเลี่ยน” แบบเดียวกับที่เห็นในแฟรนไชส์ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สยองขวัญ

หรือในอีกเรื่องเล่าที่บอกว่า กิ้งกือมีพิษ ถ้าถูกกัดแล้วจะตาย

ตอกย้ำภาพลักษณ์ “วายร้าย” กลายเป็นความเชื่อสืบต่อมาจนถึงเดี๋ยวนี้

กิ้งกือ | palmettoexterminators.net

แต่ในความเป็นจริง เราอยากบอกว่า เจ้า “กิ้งกือ” ตัวยาวที่มีขายุ่บยับนับร้อย (ไม่ถึงหลักพันแบบที่เปรียบเปรย) เรื่องที่เล่าหลอกหลอนกันมานั้นมีทั้งส่วนจริงและเท็จ

อย่างแรกเลย กิ้งกือไม่สามารถกัดทะลุผิวหนังคนได้ เพราะว่าปากของกิ้งกือจะมีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ ประกบกันไว้สำหรับกัดกินอาหาร (พวกเศษซากพืชที่เปื่อยยุ่ยบนพื้นดิน)

ถ้าถามว่ามันกัดได้ไหม ก็คงบอกว่ากัดได้ แต่ก็ไม่ไม่รู้สึกอะไรมากไปกว่าอาการจั๊กกะจี้เล็กน้อย

ดังนั้น กิ้งกือไม่มีทางกัดทะลุผิวหนังคนได้ ซึ่งนำไปสู่ข้อเท็จจริงต่อมาที่ว่ามันกัดแล้ววางไข่ในตัวคน ก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

นั่นก็เพราะกิ้งกือไม่ได้คายไข่ออกมาทางปาก และกิ้งกือก็ไม่ใช่สัตว์ที่ต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นช่วยในการฟักไข่

ที่สำคัญกว่านั้น กิ้งกือเป็นสัตว์ที่มีความพิถีพิถันในการวางไข่ อันมีขั้นตอนค่อนข้างมาก เริ่มจากนางกิ้งกือจะต้องขุดโพรงใต้ดินไว้ซ่อนไข่ แล้วก็ต้องสร้างแคปซูลที่ปั้นขึ้นมาจากมูลผสมเศษดิน เพื่อห่อหุ้มไข่แต่ละฟองไว้รอการฟักตัว จึงไม่ต้องห่วงว่ากิ้งกือมันจะมาวางไข่ในตัวเราได้แน่นอน

ส่วนในเรื่องที่ว่า กิ้งกือเป็นสัตว์มีพิษ ข้อนี้เป็นความจริง

กิ้งกือ | Wikipedia

แต่พิษของกิ้งกือก็ไม่ได้ปล่อยออกมาจากการกัด แต่เป็นการปล่อยสารเคมีออกมาตามร่างกาย เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการป้องกันตัว เช่นเดียวกับการขดตัวเมื่อรู้สึกถึงการมีภัยนั่นเอง

ถ้าเราไปจับหรือบีบตัวมันแรงๆ มันก็จะปล่อยพิษออกมา
แต่พิษของกิ้งกือก็ไม่ได้โหดร้ายถึงกับทำคนตาย และกิ้งกือเองก็มีหลายชนิดหลายประเภท มีทั้งที่พิษอ่อนและแรง แต่ที่แรงก็ไม่ได้ร้ายกาจแบบแก้ไขไม่ได้

บางวัฒนธรรมในอดีตพบว่ามีการนำพิษของกิ้งกือมาทาไว้กับลูกศร สำหรับสู้รบ

สำหรับในประเทศไทยไม่มีรายงานเรื่องกิ้งกือที่มีพิษรุนแรง

Millipede | Wikipedia

แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ควรประมาท พิษของกิ้งกือบางชนิดหากโดนมากเข้า ก็อาจสร้างความระคายเคืองได้ไม่น้อยเหมือนกัน

พิษของกิ้งกือเรียกว่าเบนโซควิโนน ซึ่งอยู่ในกลุ่มพิษประเภทสารไซยาไนต์ มีกลิ่นเหม็นฉุน ใครที่แพ้ทางสารชนิดนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงการข้องเกี่ยวกับกิ้งกือจะเป็นการดี

ในความคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตอย่างกิ้งกือบนโลกใบนี้ เมื่อเราไม่ยุ่งกับพวกมัน มันก็ย่อมไม่ยุ่งกับเรา

กิ้งกือตามธรรมชาติ คือตัวแทนของเทศบาล คอยทำหน้าที่กินเศษซากพืชที่เปื่อยยุ่ยและทับถมอยู่บนพื้น

ในด้านตรงกันข้าม หากโลกขาดกิ้งกือไป ก็เหมือนขาดเครื่องมือย่อยสลายเศษซาก ซึ่งพอมากเข้าก็จะผสมรวมกลายเป็นเชื้อไฟ หนึ่งในองค์ประกอบที่ทำให้ไฟป่าลุกลามได้เร็ว

นอกจากนี้ กิ้งกือยังสร้างปุ๋ยให้ธรรมชาติผ่านการขับถ่าย คอยบำรุงพืชผลสายพันธุ์ป่านานาให้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมนุษย์เราก็อาศัยเอาศักยภาพตรงจุดนี้มาทำฟาร์มกิ้งกือสร้างปุ๋ยขายสร้างรายได้ทางหนึ่งด้วยเหมือนกัน

ขณะที่กิ้งกือบางสายพันธุ์ เช่น กลุ่ม Sphaerotheriida ที่มีขนาดตัวที่ใหญ่และมีลวดลายแปลกตา ก็ถูกนำมาเพาะพันธุ์เป็นสัตว์เลี้ยงจนได้รับความนิยมในกลุ่มนักสะสมสัตว์แปลกหรือสัตว์สวยงาม (ตามแต่มุมมอง)

กิ้งกือ | macroid.ru

ถึงตรงนี้ ก็คงจะได้ทราบกันแล้วว่า แท้จริงนั้นกิ้งกือไม่ได้ร้ายกาจแบบที่จำต่อๆ กันมา

ตรงกันข้าม กับมีประโยชน์ต่อความเป็นไปบนโลกเราไม่น้อยทีเดียว

 
อ้างอิง: