มิลลิสุดปังอีกรอบ! ดัน ‘แอโรบิกหน้าโลตัส’ สู่ Coachella มรดกสุขภาพยุคทักษิณที่อยู่มาถึงปัจจุบัน
“กินมะม่วงเสร็จ ก็ต้องเบิร์นออก!!!”
ประโยคที่ว่าคือคำอธิบายติดตลกผ่านเฟซบุ๊คของ ‘มิลลิ’ (Milli) หรือ ดนุภา คณาธีรกุล แร็ปเปอร์หญิงดาวรุ่งของไทยซึ่งได้เข้าร่วมในเวทีโคเชลลา (Coachella) มหกรรมดนตรีนานาชาติขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลกที่จัดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเป็นประจำเกือบทุกปี (ยกเว้นไปบ้างในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก)
มิลลิได้แร็ปและเต้นประกอบเพลงมิกซ์จังหวะสามช่า โดยมีผ้าขนหนูสีขาวพาดบ่าบนเวทีคอนเสิร์ต Coahella ที่จัดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา ทำให้แฟนคลับชาวไทยจำนวนมากเชื่อมโยงการแสดงกับภาพ ‘แอโรบิกหน้าโลตัส’ ในความทรงจำของแต่ละคนที่เคยพบเจอมาในช่วงชีวิต
นอกจากนี้ มิลลิยังเล่นมุกพาดพิงการกิน ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ โชว์บนเวทีครั้งก่อนหน้าของตัวเอง เพื่อสื่อความนัยว่าเมื่อกินของหวานแคลอรีสูงๆ แล้วก็ต้องออกกำลังกายเผาผลาญด้วย
มุกนี้คนต่างชาติอาจไม่เข้าใจ แต่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจดี เพราะการเต้นแอโรบิกเพื่อรักษาสุขภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายคนในช่วงราวๆ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ถึงขั้นที่อาจจะมีสักครั้งในชีวิตของเราหรือคนที่เรารู้จัก ‘เคย’ ร่วมกิจกรรมเข้าจังหวะที่หน้าห้างหรือลานอเนกประสงค์ในชุมชน ทำให้การแสดงของมิลลิไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายอะไรเพิ่มเติมอีก
นอกจากนี้ ใครที่เคยผ่านกิจกรรมนี้มาก่อนย่อมรู้ดีว่า ‘ความมันและความบันเทิง’ ของการเต้นแอโรบิกร่วมกับคนอื่น มาพร้อมอารมณ์ขันประกอบจังหวะเพลงอันครึกครื้นของเหล่าผู้นำการเต้น เพราะอารมณ์ขันเป็นหนึ่งในลักษณะนิสัยที่ขึ้นชื่อของคนไทย และอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘วัฒนธรรมร่วมสมัย’ แม้จะยังไม่เคยมีการรับรองใดๆ อย่างเป็นทางการจากผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงวัฒนธรรมเลยก็ตาม
ขณะเดียวกันก็ยังไม่รู้ว่าการสื่อสารถึงแอโรบิกหน้าโลตัสของมิลลิจะส่งผลแบบไหนในไทยและในระดับโลก แต่อย่างน้อยๆ ก็มียูทูบเบอร์สองสาวจากสเปน ได้พูดถึงโชว์ล่าสุดของมิลลิพร้อมกับโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงครั้งก่อนหน้า และวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ที่แชนแนล AfroSis ซึ่งมีผู้ติดตามอยู่ราวๆ 89,000 แอคเคาต์
“เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทย และพวกคุณโชคดีมากที่มีชายหาดที่สวยงาม ป่าไม้ ภูเขา… สวยงามมาก เราชอบเมืองไทย การทำอาหาร ข้าวเหนียวมะม่วง…ฉันแทบรอไม่ไหวที่จะไปที่นั่นในเร็วๆ นี้”
ยูทูบเบอร์สาวทั้งสองรายกล่าวไว้อย่างนั้น และในวันที่ 25 เมษายน ก็มีผู้ชมวิดีโอนี้ไปแล้วเกือบ 60,000 ครั้งในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทั้งยังมีคนคอมเมนต์กว่าร้อยคน (โดยอาจมีคอมเมนต์เพิ่มหลังจากนี้อีก)
นโยบายสุขภาพ ‘ยุคทักษิณ’ สู่แลนด์มาร์คหน้าโลตัส
ก่อนที่ท่าเต้นและบรรยากาศแบบ ‘แอโรบิกหน้าโลตัส’ จะไปปรากฏบนเวที Coachella อาจต้องย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการเต้นแบบนี้ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างในยุคที่ไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ บุคคลในตำนานที่ผู้นำรัฐบาลชุดปัจจุบันมักจะกล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุของปัญหาหลายๆ เรื่องในสังคมไทยที่ยังสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้
แต่ก็มีอีกหลายเรื่องเช่นกันที่รัฐบาลชุดนี้ ‘รับช่วงต่อ’ จากรัฐบาลทักษิณ แม้แต่บางประเด็นที่คนในรัฐบาลเคยบ่นว่าเป็น ‘ปัญหาเรื้อรัง’ ก็ตามที
หนึ่งในประเด็นที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเคยวิจารณ์ว่า ‘ใช้งบเปลือง’ ก็คือนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เริ่มขึ้นในยุคทักษิณ แต่ตอนที่ผู้นำองค์การอนามัยโลก (WHO) ชื่นชมนโยบายนี้ พลเอกประยุทธ์ก็บอกผ่านสื่อว่า นี่คือนโยบายที่รัฐบาลของตนเองดำเนินการและสนับสนุนเช่นกัน
ในความเป็นจริง ถ้าสืบสาวราวเรื่องกันไปถึง ‘บิดาแห่งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ คนในวงการแพทย์และสาธารณสุขไม่ได้ยกเครดิตให้ทักษิณ แต่มอบฉายานี้ให้ ‘นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์’ หรือ ‘หมอหงวน’ ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่าเขาคือ ‘ตัวจริง’ ในฐานะผู้พยายามเสนอนโยบายนี้อย่างจริงจังในหลายรัฐบาล แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งถึงยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่รับไปผลักดันจนกลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
นโยบายสุขภาพนี้ทำให้ผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เพิ่มขึ้น คนจำนวนมากจึงไม่ต้องเจ็บป่วยล้มหายตายจากโลกนี้ไปเพียงเพราะปัญหาคลาสสิกว่า ‘ไม่มีเงิน’ หรือ ‘เงินไม่พอ’
ตั้งแต่ยุคนั้นก็มีการขับเคลื่อนประเด็น ‘สุขภาวะ’ จนกลายเป็นคำฮิตติดหู โดยเฉพาะโครงการหลายๆ อย่างของหน่วยงานด้านสุขภาพที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล โดยหวังจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดเดิมของคนในสังคมที่มองว่าการรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาลสำคัญที่สุด ให้กลายเป็นแนวคิดว่าทุกคนต้องใส่ใจสุขภาพในระดับชีวิตประจำวันของตัวเองก่อน เพราะถ้าพลเมืองมีสุขภาพดี สังคมไทยก็จะขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องแบกรับ ‘ภาระ’ ด้านสาธารณสุขมากเกินความจำเป็น
สื่อยุคนั้นรายงานว่า ทักษิณยกให้เรื่องสุขภาพเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจัดงานที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของนโยบายนี้อยู่กลายๆ โดยพยายามยึดหลัก ‘6 อ’ ได้แก่ การกินอาหารดีๆ ออกกำลังกาย อารมณ์ อโรคยา อนามัยสิ่งแวดล้อม และ (เลี่ยง) อบายมุข
การสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายในยุคทักษิณ พูดถึงทั้งการเต้นแอโรบิกและรำมวยไทย แต่แอโรบิกดูจะฮิตกว่าเพราะมีการจัดกิจกรรมเต้นแอโรบิกกลางสวนลุมพินีเพื่อหวังทำลายสถิติโลก โดยมีคนเข้าร่วมถึงกว่า 40,000 คน
เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะยุคนั้นการออกกำลังในฟิตเนสยังไม่มีตัวเลือกด้านราคาและสถานที่ที่หลากหลายเท่าปัจจุบัน การจัดพื้นที่เต้นแอโรบิกในชุมชนเป็นสิ่งที่จัดการง่ายและเข้าถึงได้เร็ว โครงการนี้จึงได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขที่ไปร่วมมือกับเอกชนและภาคประชาสังคมอีกต่อหนึ่ง
หลังจากนั้น ‘แอโรบิกหน้าโลตัส’ ก็กลายเป็นกิจกรรมที่คนไทยจำนวนมากที่โตมาแบบรู้ความแล้วช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ‘เคยพบเห็น’ ด้วยตัวเอง เพราะเป็นสิ่งที่หาเจอได้ง่ายพอๆ กับโลตัสที่ขยายตัวเป็นดอกเห็ดในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ประสบภาวะชะลอตัว และห้างเองก็ต้องการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ จนสื่อสายมาร์เก็ตติ้งเคยรายงานว่า การเต้นแอโรบิกหน้าโลตัส คือ ‘หมุดหมาย’ หรือ ‘แลนด์มาร์ค’ ที่มีเฉพาะโลตัสในไทยเท่านั้น!
ในวันที่ท่าเต้นและความมันแบบ ‘แอโรบิกหน้าโลตัส’ ถูกนำไปขึ้นเวทีดนตรีนานาชาติ ใครหลายคนจึงมองว่านี่คือการถ่ายทอดวิถีชีวิต ‘ร่วมสมัย’ ของคนไทยไปสู่สายตาชาวโลก เพราะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศนี้ และหาได้ง่ายยิ่งกว่า ‘ความประณีตแบบไทยจารีต’ ที่เห็นอยู่ในโฆษณาด้านการท่องเที่ยวเสียเป็นส่วนใหญ่
อ้างอิง
- Facebook/ Milli. กินมะม่วงเสร็จ ก็ต้องเบิร์นออก!!! https://bit.ly/38k8Kh7
- Matichon Weekly. วันนี้ในอดีต “ไทย” ทุบสถิติโลก เต้นแอโรบิกกลางแจ้งกว่า4หมื่นคน บันทึก “กินเนสส์ บุ๊ก” https://bit.ly/3LfWXz4
- Positioning. 10 ข้อน่ารู้ เต้นแอโรบิค แลนด์มาร์คประจำเทสโก้ โลตัส เมืองไทย. https://bit.ly/3vblxLQ
- MGR Online. ทักษิณชูสร้างสุขภาพวาระแห่งชาติ. https://bit.ly/38nxHZn
- AfroSis. MILLI มิลลิ LIVE AT COACHELLA 2022 [WEEKEND 2] REACTION รีแอคชั่น | THAILAND REPRESENT. https://bit.ly/3xMdEhP