เมื่อถึงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมของทุกปี บริเวณนอกชายฝั่งของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย จะคลาคล่ำไปด้วยคนรักวาฬจากทั่วสารทิศ เดินทางมาชมเหล่าวาฬหลังค่อม วาฬมิงค์ วาฬเพชฌฆาต รวมถึงโลมา ที่อพยพมาหากินและจับคู่ผสมพันธุ์
แต่ท่ามกลางการชุมนุมที่ก่อตัวขึ้น จะมีวาฬเพียงตัวเดียวที่อยู่ในสายตาของหลายๆ คน ซึ่งก็คือวาฬหลังค่อมที่มีชื่อว่า ‘มิกาลู’ ดาวเด่นที่ถูกตั้งสมญาว่าเป็น ‘ร็อคสตาร์แห่งมหาสมุทร’
‘มิกาลู’ ถือเป็นวาฬที่คนชื่นชอบวาฬทั่วโลกต่างรู้จักกันดี เพราะเป็นวาฬเพียงตัวเดียวบนโลกใบนี้ที่มีสีขาวล้วนทั้งตัว
ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากกว่าการเป็น ‘สัตว์เผือก’ ที่ยีนควบคุมการเกิดสีภายในร่างกายบกพร่องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเม็ดสี จนร่างกลายเป็นสีขาวล้วนทั้งหมด ตรงตามชื่อ ‘มิกาลู’ ที่แปลว่า ‘เด็กผู้ชายผิวขาว’ (ในภาษาอะบอริจิน) ต่างจากวาฬหลังค่อมปกติทั่วไปที่ด้านหลังจะมีสีเข้ม แต่มีท้องสีขาว
เพียงความแตกต่าง (แต่โดดเด่น) ก็ทำให้มิกาลูกลายเป็น ‘ตัวแทน’ ของประชากรวาฬหลังค่อมชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียไปโดยปริยาย
และก็เหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง มิกาลูมีทวิตเตอร์เป็นของตัวเอง (ที่เล่นโดยมนุษย์) บัญชีมีผู้ติดตามมากกว่า 10,000 คน (twitter.com/Migaloo1) ซึ่งโดยเนื้อหาแล้วก็ไม่ได้มีแต่เรื่องราวของเจ้าตัวเพียงคอนเทนต์เดียว แต่ยังแทรกความรู้และข่าวสารของประชากรวาฬชนิดต่างๆ ที่พบทั่วชายฝั่งออสเตรเลีย
คุณงามความดีของมิกาลู หาได้มีแต่เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว หรือปลุกกระแสให้คนสนใจวาฬเท่านั้น ด้วยอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร สังเกตได้ง่ายกว่าวาฬตัวอื่นๆ ที่ดูอย่างไรก็เหมือนๆ กันไปหมด ทำให้ในทุกการเคลื่อนไหวของมิกาลูเป็นที่จับตาของนักวิทยาศาสตร์อาชีพและมือสมัครเล่น (หรือที่เรียกว่า ‘นักวิทยาศาสตร์พลเมือง’) คอยติดตามและรายงานความเคลื่อนไหว การปรากฏตัวตามสถานที่ต่างๆ จนกลายเป็นเครือข่ายฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ช่วยอธิบายให้เราเห็นภาพว่าในหนึ่งปี วาฬไปทำอะไรที่ไหน อย่างไร (แม้จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งปีก็ตาม แต่ก็ถือว่ามากโขอยู่เมื่อเทียบกับวาฬตัวอื่นๆ ที่ไม่มีผู้ติดตาม)
และไม่มากก็น้อย นับจากที่โลกได้บันทึกการมีอยู่ของมิกาลู จำนวนวาฬหลังค่อมรอบๆ ชายฝั่งออสเตรเลียก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดทางการตัดสินใจลบวาฬหลังค่อมออกจากรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของออสเตรเลีย เพราะมีจำนวนมากจนไม่ต้องกังวลอีกแล้ว (อย่างน้อยก็ในเวลานี้)
แต่สำหรับโลกในยุคที่มีปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปกคลุมอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ความอยู่รอดของสัตว์ทะเลและเพื่อนพ้องของมิกาลูคงไม่สามารถการันตีได้ว่าจะอยู่รอดปลอดภัยได้อีกนานแค่ไหน
นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ‘มิกาลู’ หายหน้าหายตาไม่มาปรากฏตัวให้เห็นอีกเลย
จนสื่อท้องถิ่นของออสเตรเลียถึงกับเขียนพาดหัวข่าวกึ่งๆ ตั้งคำถามว่า “หรือว่ามิกาลูจะตายแล้ว?”
เพราะนับตั้งแต่ปี 1991 ที่มีการพบเห็นวาฬเผือกตัวนี้ ก็ไม่มีปีใดที่ผู้ติดตามวาฬจะพลาดชมการปรากฏตัวของมิกาลู
นักวิทยาศาสตร์ด้านสัตว์ป่าจาก Macquarie University คาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลอาจส่งผลกระทบต่อมิกาลูและวาฬตัวอื่นๆ
ที่ผ่านมา มิกาลูเป็นวาฬที่อธิบายให้เราเห็นว่าวงจรชีวิตของวาฬหลังค่อมในออสเตรเลียที่ใช้ชีวิตอยู่ระหว่างสองสภาพแวดล้อมต่างขั้ว อพยพไปมาจากแอนตาร์กติกสู่มหาสมุทรเขตร้อนเป็นอย่างไร
แต่ทั้งสองส่วนนี้ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น
อุณหภูมิของน้ำที่แปรเปลี่ยนไป อาจนำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นของอาหารวาฬ และผลักดันให้วาฬต้องเปลี่ยนเส้นทางหากินหรือสืบพันธุ์ เพื่อให้สอดคล้องกับการกระจายตัวของเหยื่อในแต่ละช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป
มิกาลู อาจยังมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่ง อาจกำลังเดินทางมา หรืออาจเปลี่ยนเส้นทางไม่หวนคืนกลับมาถิ่นเก่าอีกแล้ว เหล่านี้คือเรื่องราวที่นักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ และบรรดาแฟนคลับยังคงเฝ้าสืบหาความจริงกันอยู่
อย่างไรก็ตาม หากวัดจากอายุขัยโดยเฉลี่ยแล้ว วาฬหลังค่อมจะมีอายุมากถึง 40-50 ปี แต่จากการตรวจสอบดีเอ็นเอของมิกาลู สามารถยืนยันได้ว่าวาฬเผือกหนึ่งเดียวตัวนี้เกิดในปี 1986 ปัจจุบันจึงยังมีอายุแค่ 35 ปี หลายคนจึงตั้งความหวังว่าสักวันคงมีโอกาสได้พบกันอีกครั้ง
หมายเหตุ: ในช่วงต้นปี มีรายงานพบเห็นวาฬเผือกนอกชายฝั่งนิวเซาท์เวลส์ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใช่มิกาลูหรือไม่ บ้างคาดว่าอาจเป็นลูกของมิกาลู หรือบ้างก็คาดว่าเป็นท้องสีขาวของวาฬตัวอื่น
อ้างอิง
- The Conversation: Is Migaloo … dead? As climate change transforms the ocean, the iconic white humpback has been missing for two years, https://bit.ly/3uD6pWV
- The Guardian, ‘Completely weird-looking’: rare all-white whale spotted off the coast of New South Wales, https://bit.ly/3RqT5i8
- Migaloo the Whale, https://twitter.com/Migaloo1