‘Wednesday’s child is full of woe’ หรือ ‘เด็กวันพุธช่างเต็มไปด้วยความทุกข์ระทม’ ประโยคดังคลาสสิกตลอดกาลที่บ่งบอกมุมมองเรื่องเด็กวันพุธ หรือลูกคนกลางได้เป็นอย่างดี
ซึ่งเราอาจจะต้องอธิบายก่อนว่า Wednesday’s child และ ลูกคนกลางถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันอาจจะเพราะวันพุธเป็นวันที่อยู่ ‘ตรงกลางของสัปดาห์’ หรือในอีกนัยหนึ่งความ ‘ตรงกลาง’ ก็ดูเป็นกลุ่มก้อนที่ถูกละเลย เพราะไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ
เพราะฉะนั้นเราสามารถพูดได้ว่าประเด็นเรื่องลูกคนกลางนับว่าเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นทั่วโลก
แล้วลูกคนกลางต้องเผชิญปัญหาอะไร? ในแง่มุมของจิตวิทยา เราก็มีคำเรียกว่า Middle Child Syndrome เลยด้วยซ้ำ มีการศึกษาหนึ่งอธิบายว่า ลูกคนกลางมักจะเป็นลูกคนที่รู้สึกแปลกแยก ถูกละเลย และไม่ได้รับความสนใจที่มากพอ
จริงๆ เคยมีการศึกษาไว้ด้วยว่าลำดับการเกิดส่งผลต่อลักษณะนิสัยของคนแต่ละคนอย่างไรบ้าง เช่น ลูกคนโตจะเป็นลูกคนที่รู้สึกถึงความกดดัน ความคาดหวัง รวมถึงรู้สึกว่าตัวเองมีหน้าที่และอำนาจที่ต้องจัดการสิ่งต่างๆ สำหรับลูกคนเล็ก ลูกคนเล็กถูกมองว่าเป็นเด็กที่ถูกตามใจ และไม่สามารถก้าวผ่านลูกคนอื่นๆ ได้
ส่วนลูกคนกลางนั้น การศึกษาจะบอกว่ามักเป็นคนที่มีปัญหาในการปรับตัว หากลงลึกไปอีก การศึกษาดังกล่าวยังระบุว่า ลูกคนกลางมักรู้สึกว่าตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของลูกทั้งสองคนเสมอ พูดเป็นภาษาบ้านๆ ก็คือ ลูกคนโตกับคนเล็กจะมีคาแรกเตอร์ที่ชัด แต่คนกลางจะครึ่งๆ กลางๆ ทำให้อาจจะดูเป็นคนที่เงียบและสุขุมมากเป็นพิเศษ
และที่สำคัญบทบาทหน้าที่ของตัวเองในครอบครัวก็ไม่ชัดเจน น้องคนเล็กพ่อแม่จะโอ๋ ส่วนคนโตก็เป็นพี่ใหญ่ในบ้าน ทำให้ลูกคนกลางไม่ได้รับความสนใจจากครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น
ในแง่ของความรู้สึกเปรียบเทียบ ลูกคนกลางจำเป็นต้องแข่งขันกับทั้งคนโตและคนเล็ก และนอกเหนือจากนั้น พวกเขายังต้องแบกรับหน้าที่ในการเป็นตัวกลางในการสร้างความสมานฉันท์กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างสองคนนี้ด้วย และสุดท้าย ลูกคนกลาง แทบจะไม่เคยได้รู้สึกถึงการเป็นลูกคนโปรดเลยด้วยซ้ำ
ยังมีการศึกษาที่ระบุอีกว่า ลูกคนกลางมักห่างเหินจากพ่อแม่มากกว่าลูกคนอื่นๆ ทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะปรึกษาเรื่องส่วนตัวอย่างเรื่องเพศ หรือปัญหาชีวิต และมักมีแนวโน้มในการเสพติดความสมบูรณ์แบบมากกว่าคนอื่น (Perfectionism)
แน่นอนว่าเรื่องราวในวัยเด็กมักส่งผลตอนเราเป็นผู้ใหญ่เสมอ ลูกคนกลางมักโตขึ้นโดยความสามารถในการสร้างความสมานฉันท์ แต่ในแง่ของความสัมพันธ์อาจจะเป็นคนที่โหยหาการยอมรับ และมีปัญหาในการพยายามเป็น ‘คนพิเศษ’ สำหรับเพื่อนหรือใครบางคนอยู่เสมอ
จากทั้งหมดที่เรากล่าวมา เชื่อเลยว่าทุกคนอาจจะรู้สึกเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกันบ้าง แต่เราก็ต้องย้ำอีกครั้งว่า ข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ถูกศึกษาผ่านการสำรวจ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้แปลว่าลูกคนกลางทุกคนจะต้องเป็นแบบนี้ และในความเป็นจริง Wednesday’s child หรือ ปัญหาเรื่องลูกกลาง ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะคนที่เกิดวันพุธ หรือเป็นลูกคนกลางเสมอไป เพราะสภาวะดังกล่าวสามารถเกิดได้กับทุกคน แม้ว่าคุณจะคลอดออกเป็นลำดับที่เท่าไหร่ก็ตาม
อย่างก็ตาม เราไม่ได้ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเพื่ออวดโอ้ว่าการเป็นลูกคนกลางนั้นเจ็บปวดกว่าใคร เพราะเราเข้าใจดีว่าไม่จะเป็นลูกคนไหน เราต่างมีสนามรบ และมีความเจ็บปวดในรูปแบบของตัวเอง ลูกคนโตก็ต้องเจอกับความเจ็บปวด ลูกคนเล็กเจ็บปวด ลูกคนเดียวก็เจ็บปวด เราต่างเจ็บปวดด้วยกันทั้งนั้น
ที่สำคัญบริบทครอบครัวของแต่ละบ้านก็แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง แต่เราอยากยกประเด็นนี้ขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็นว่า ลูกคนกลาง หรือความรู้สึกแปลกแยกจากใครๆ ก็เป็นรู้ความรู้สึกที่เจ็บปวดและแตกสลายไม่ต่างจากปัญหาอื่นใดของเด็กๆ เลย
อ้างอิง
- Birth Order and Personality: The Science Behind Middle Child Syndrome. https://bit.ly/3qZp5Bd