2 Min

ญี่ปุ่นเริ่มแล้ว! บังคับเจ้าของฝังไมโครชิป ‘หมา-แมว’ ป้องกันหลง – ลดปัญหาทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง

2 Min
793 Views
06 Jun 2022

ข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า สัตว์เลี้ยงที่ทางรัฐบาลท้องถิ่นได้พบเจอ บ้างก็พลัดหลงกับเจ้าของ บ้างก็ถูกทอดทิ้งไปดื้อๆ ภายในปีแรกของรัชศกเรวะ (ปี 2019) ก็มีจำนวนรวมมากถึง 85,000 ตัว จนกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไข

อีกทั้งหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวมักจะทำให้สุนัขและแมวจำนวนมากหลงทาง ไม่สามารถกลับบ้านได้ จึงมีการหารือถึงประเด็นดังกล่าวกันมากขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อหวังจะแก้ไขกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์และการจัดการ 

ในที่สุดกฎหมายว่าด้วยสวัสดิภาพและการจัดการสัตว์ฉบับแก้ไข ก็มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2022 เป็นต้นไป โดยกำหนดให้ร้านขายสัตว์เลี้ยงและฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนัขและแมวต้องฝังไมโครชิปสัตว์ทุกตัว เช่นเดียวกับคนที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง เพื่อการติดตามและนำส่งกรณีสัตว์เลี้ยงหลงทาง และช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงถูกทอดทิ้งอย่างง่ายดาย

ไมโครชิปดังกล่าวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ซึ่งสัตวแพทย์จะฝังไว้ใต้ผิวหนังช่วงบริเวณคอถึงสะบักของสุนัขและแมวด้วยเข็มฉีดยา ทั้งนี้แต่ละไมโครชิปจะมีหมายเลขประจำตัวด้วยกัน 15 หลักไม่ซ้ำกัน 

ส่วนการอ่านข้อมูลนั้นสามารถทำได้โดยอุปกรณ์พิเศษตามโรงพยาบาลสัตว์ หน่วยงานราชการในท้องถิ่น และสถานที่อื่นๆ ในการตรวจสอบกับฐานข้อมูลกระทรวง เนื่องจากหมายเลขประจำตัวได้เชื่อมโยงกับข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้

ข้อมูลที่ต้องลงทะเบียนไว้ในฐานข้อมูล มีรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นชื่อ เพศ สายพันธุ์ สีขนของสัตว์เลี้ยง ตลอดจนชื่อของผู้ขาย นอกจากนี้หากใครที่ซื้อสุนัขหรือแมวต่อ ทางเจ้าของใหม่ หรือคนที่รับมาเลี้ยงก็ต้องลงทะเบียนใส่ชื่อ ที่อยู่ รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์และอีเมล หลังจากนัั้นจึงค่อยนำสัตว์เลี้ยงไปเลี้ยงดูแลต่อ และต้องรักษาไมโครชิปไว้ให้ดีด้วย

ทาคาชิ ไซโตะ (Takashi Saito) หัวหน้าสัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์เขตนากาโนะ ในกรุงโตเกียวของประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ชิปนี้สามารถฝังได้ภายในไม่กี่วินาที เมื่อฝังชิปเข้าไปสัตว์เลี้ยงจะรู้สึกเจ็บปวดในระดับเดียวกับการฉีดยาปกติ พอทำการฝังชิปเสร็จแล้วโดยทั่วไปชิปจะไม่เคลื่อนไหวภายในร่างกาย และไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์

ภายใต้กฎหมายฉบับแก้ไขข้างต้น ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของสุนัขและแมวที่ฝังไมโครชิปจะต้องลงทะเบียนเมื่อเริ่มเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว ที่สำคัญเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของ แม้แต่เจ้าของย้ายที่อยู่ล่ะก็ ข้อมูลที่ลงทะเบียนจะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนทั้งทางเอกสาร หรือออนไลน์

ทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า มีผู้คนจำนวนน้อยที่รับรู้เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับปรับปรุงนี้ ทางกระทรวงจึงพยายามส่งเสริมเพื่อเน้นย้ำถึงข้อกำหนดในการลงทะเบียนข้อมูลสำหรับเจ้าของสุนัขและแมวที่ใช้ไมโครชิป โดยการแจกจ่ายโปสเตอร์ รวมถึงแผ่นพับที่มีคิวอาร์โค้ดสำหรับลงทะเบียนข้อมูลกับรัฐบาลท้องถิ่น และองค์กรอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ด้านเจ้าหน้าที่สมาคมการแพทย์สัตวแพทย์แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการด้านการลงทะเบียน ได้ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้สถานีตำรวจมีการติดตั้งเครื่องอ่านข้อมูลไมโครชิปเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสุนัขและแมว รวมไปถึงเจ้าของของเหล่าสัตว์เลี้ยง

ถึงแม้สุนัขหรือแมวจะมีชิป แต่บางครั้งก็ไม่สามารถติดต่อเจ้าของได้ ยกเว้นแต่ข้อมูลบนชิปจะเป็นข้อมูลปัจจุบัน เราจึงไม่สามารถวางใจได้เพียงเพราะสุนัขหรือแมวฝังไมโครชิปหนึ่งในเจ้าหน้าที่สมาคมการแพทย์สัตวแพทย์แห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าว

ในทางกลับกันถ้าหากข้อมูลต่างๆ บนไมโครชิปได้รับการลงทะเบียนและมีการปรับเปลี่ยนข้อมูลตามปัจจุบันจริงๆ หากมีเหตุฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุกับสุนัขและแมวหรือกรณีเกิดพลัดหลง ก็จะสามารถส่งคืนให้กับเจ้าของได้

อ้างอิง