มิกกี้เมาส์ อาจ ‘หมดลิขสิทธิ์’ ในปี 2024 แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเจ้าหนูตัวนี้จะกลายเป็นตัวละครสาธารณะ แบบหมีพูห์ เชอร์ล็อกโฮล์มส์ และเห้งเจีย

4 Min
658 Views
31 Dec 2023

ในปี 2024 ก็น่าจะมีหลายสิ่งใหม่ๆ แต่ ‘เรื่องใหญ่’ ในทางศิลปวัฒนธรรมที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือการที่ ‘มิกกี้เมาส์’ หรือให้ตรงคือ หนังเรื่องแรกที่มิกกี้เมาส์ปรากฏตัว อย่าง ‘Steamboat Willie’ จะ ‘หมดลิขสิทธิ์’ และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘คลังทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ’ ของสหรัฐอเมริกาไป

แล้วทีนี้จะยังไงต่อ มิกกี้เมาส์จะไปโผล่ใน ‘หนังสยองขวัญ’ แบบวินนีเดอะพูห์ ที่เพิ่งหมดลิขสิทธิ์? หรือจะมีมิกกี้เมาส์หลายๆ เวอร์ชันแบบเชอร์ล็อกโฮล์มที่หมดลิขสิทธิ์ไปพักใหญ่แล้วหรือเปล่า?

คำตอบสั้นๆ คือ ‘ไม่น่า’ แต่ถ้าจะตอบยาวๆ อันนี้ต้องทำความเข้าใจหน่อย

เพราะพื้นฐานในมาตรฐานกฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบันทั่วโลก ทุกสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์จะต้องมี ‘วันหมดลิขสิทธิ์’ และกลายเป็นของสาธารณะไปในที่สุด ซึ่งหลักทั่วไปของการคุ้มครองลิขสิทธิ์คือจะใช้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้กฎหมายของประเทศหนึ่งๆ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะสร้างมาจากที่ใด

เช่นลิขสิทธิ์ของมิกกี้เมาส์ในไทย ก็ต้องคุ้มครองด้วยกฎหมายไทย และแน่นอนก็คือจะ ‘นับเวลาหมดลิขสิทธิ์’ ตามกฎหมายไทยด้วย

ซึ่งในแง่นี้ หากเราลองไปเปิดกฎหมายดู เราจะพบว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เขียนไว้ในมาตรา 20 ชัดเจนเลยว่า สื่อจำพวกภาพถ่าย ภาพยนตร์ และงานบันทึกเสียง นั้นมีอายุลิขสิทธิ์ 50 ปี นับแต่การ ‘สร้างสรรค์’ ออกมาหรือ ‘โฆษณาครั้งแรก’

ดังนั้นในแง่นี้ Steamboat Willie ที่ออกฉายมาตั้งแต่ปี 1928 นั้นจริงๆ หมดลิขสิทธิ์ในไทยไปแล้วตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งนั่นน่าจะหมดลิขสิทธิ์ไปก่อนที่เราหลายคนจะเกิดเสียอีก แต่เราก็ไม่ได้เห็นคนเอามิกกี้เมาส์ไปต้มยำทำแกงอะไรกันอย่างเสรี

นั่นแหละประเด็น คือเราไม่อยากลงรายละเอียดว่าอเมริกาแก้กฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อ ‘ยืดอายุลิขสิทธิ์’ มากี่รอบจนทำให้การคุ้มครองพวกสื่อภาพยนตร์มันยืดยาวเป็น 95 ปี เพราะในความเป็นจริง ถึงหนัง Steamboat Willie จะหมดลิขสิทธิ์ในอเมริกาต้นปี 2024 สิ่งที่จะตามมาก็ไม่ใช่ว่าคนจะเอามิกกี้เมาส์ไปใช้ได้อย่างเสรีแน่ๆ เพราะสิ่งที่ทำได้จริงๆ คือการเอาคลิปหนังเรื่องนี้มาฉายและไปใช้ได้อิสระเท่านั้น แต่ ‘ตัวละคร’ มิกกี้เมาส์นั้นยังไม่เป็นอิสระ

เพราะมิกกี้เมาส์เป็น ‘เครื่องหมายการค้า’ ของดิสนีย์ หรือให้ตรงคือดิสนีย์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามิกกี้เมาส์ไว้น่าจะในทุกหมวดหมู่สินค้าในทุกประเทศทั่วโลก

ต้องเข้าใจก่อนว่าการคุ้มครอง ‘เครื่องหมายการค้า’ มันยุ่งยากกว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์มาก ต้องเอาเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ และจะต้องจดแยกเป็นหมวดๆ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องใช้นักกฎหมาย และมันมี ‘ต้นทุน’ ที่ต้องใช้ค่อนข้างสูง แต่ถ้าได้รับการคุ้มครองแล้ว มันจะ ‘ต่ออายุ’ ได้เรื่อยๆ และการคุ้มครองนั้นก็มีความเข้มข้นกว่ามากๆ คือมีขอบเขตการคุ้มครองในแทบทุกกิจกรรมเกี่ยวกับการค้า และมีบทลงโทษผู้ละเมิดแบบดุเดือดมากๆ 

และนี่คือ ‘ความต่าง’ ระหว่างมิกกี้เมาส์กับวินนีเดอะพูห์ และเชอร์ล็อกโฮล์ม คือสองอันหลัง ‘หมดลิขสิทธิ์’ แล้วคือหมดเลย ไม่มีใครจด ‘เครื่องหมายการค้า’ เอาไว้ ดังนั้น ‘ตัวละคร’ มันเลยถูกนำไปใช้ได้แบบเสรี แต่กรณีของมิกกี้เมาส์ น่าจะถูกจด ‘เครื่องหมายการค้า’ เอาไว้ละเอียดยิบในทุกประเทศที่เป็นไปได้

ดังนั้นในแง่นี้ ณ ปี 2024 หนังเรื่องแรกที่มิกกี้เมาส์ปรากฏตัวอย่าง Steamboat Willie หมดลิขสิทธิ์ลงแล้วจริง หลังจากฉายครั้งแรกเมื่อ 95 ปีก่อน ในอเมริกา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าคนจะสามารถนำเอาตัวละครมิกกี้เมาส์มาทำเป็นขนมหรือของเล่นเด็กขายได้โดยไม่โดนดิสนีย์ฟ้อง เพราะถึงเขาจะฟ้องที่คุณ ‘ละเมิดลิขสิทธิ์’ ไม่ได้ แต่เขายังฟ้องคุณในฐานะ ‘ละเมิดเครื่องหมายการค้า’ ได้ และมันจะเป็นแบบนี้ไปน่าจะ ‘ตลอดกาล’

เราอาจมองว่าดิสนีย์ใช้ ‘ช่องโหว่ของกฎหมาย’ ก็ได้ แต่ด้านหนึ่ง ธรรมชาติของเครื่องหมายการค้ามันก็ต่างจากลิขสิทธิ์จริงๆ เพราะอยากให้จินตนาการว่า ‘โลโก้แบรนด์’ นั้นควรจะได้รับการคุ้มครองอย่างไรในระยะยาว? คือค่อนข้างชัดเจนว่ามันจะมี ‘วันหมดอายุ’ เหมือนลิขสิทธิ์ไม่ได้ เพราะบริษัทอาจอยู่เป็นร้อยปี และถ้า ‘โลโก้แบรนด์’ หมดการคุ้มครองและเป็นของสาธารณะ มันก็จะวุ่นวายแน่ๆ 

ให้ลองจินตนาการบริษัทญี่ปุ่นที่ผลิตรถสักบริษัทก็ได้ สมมติว่า Suzuki บริษัทที่ตั้งมาเมื่อปี 1909 ตัว ‘ลิขสิทธิ์’ โลโก้บริษัทหมดไปแล้วแน่นอน ซึ่งถ้ามันหมดการคุ้มครองแค่นั้น หมายความว่าคนเอาโลโก้ Suzuki ไปใช้อะไรก็ได้ บริษัทมีปัญหาแน่นอน และที่มีปัญหากว่าคือตัวผู้บริโภคที่จะแยก ‘ของจริงและของปลอม’ ไม่ออกอีกแล้ว 

ดังนั้น ‘เครื่องหมายการค้า’ มันเลยต้องมีการคุ้มครองไปได้เรื่อยๆ ซึ่ง ‘ความสมดุล’ คือ ปกติเวลาจดทะเบียนก็จะคุ้มครองไป 10 ปี ถึงเวลาก็ต้องต่ออายุ ซึ่งก็จะต้องเสียเงิน และจริงๆ ยิ่งจดหลายหมวดหมู่ก็ต้องเสียเงินเพิ่ม ดังนั้นกลไกแบบนี้มันจะทำให้คน ‘จดเท่าที่จำเป็น’ อยู่แล้ว และนอกจากนี้ ถ้าโลโก้หรือชื่อแบรนด์ไหนที่บริษัทไม่ต้องการจะใช้ต่อแล้ว บริษัทเองก็จะหยุดต่อทะเบียนก็ได้ หลังจากนั้นก็หมายความว่าใครจะเอาไปใช้ยังไงก็ได้แล้ว 

และสิ่งที่ต้องเข้าใจเช่นกันก็คือ จริงๆ กระบวนการพวกนี้ใช้เงินค่อนข้างสูง คือไม่ใช่การจดที่เดียวจบ แต่มันต้องไปจดในแต่ละประเทศด้วยเพื่อสิทธิ์ในการ ‘ผูกขาด’ การใช้ชื่อแบรนด์นั้นในประเทศนั้นๆ นั่นทำให้บางแบรนด์ที่ทำตลาดในประเทศเดียวเขาก็จะไม่ไปจดที่อื่น ดังนั้นในอเมริกาก็จะมีแอปชื่อ Robinhood เป็น ‘แอปเทรดหุ้น’ ที่ดังมาก แต่เขาไม่ได้มาทำตลาดในไทยก็เลยไม่ได้มาจดเครื่องหมายการค้าที่นี่ 

ส่วนในไทยเองก็มีแอปชื่อ Robinhood ที่เป็น ‘แอปสั่งอาหาร’ ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลย กรณีนี้ก็จะเห็นได้ว่าขนาดแอปมีชื่อเสียง เขายังไม่ไปไล่จดเครื่องหมายการค้าถ้าไม่จำเป็นเลย

กรณีของมิกกี้เมาส์ ก็คงไม่ต้องเถียงกันมากมายว่ามันเป็น ‘เครื่องหมายการค้า’ ที่มีมูลค่าขนาดไหนของดิสนีย์ ดังนั้นการจ่ายค่าทนายให้ไปจดเครื่องหมายการค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทุกพื้นที่ในโลก จึงเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เพราะถึงแม้กระบวนการที่ว่านี้น่าจะมีต้นทุนหลักไปถึงหลักสิบล้านร้อยล้าน แต่มูลค่าของ ‘แบรนด์’ มิกกี้เมาส์ที่จำเป็นต้องใช้กระบวนการนี้ในการ ‘คุ้มครอง’ นั้นน่าจะไปถึงระดับหลักแสนล้านบาทเลยทีเดียว

อ้างอิง

Screen Rant. Mickey Mouse’s Impending Copyright Expiration Explained. https://tinyurl.com/33mkh9f5 

GlobalToyNews. The Mickey Mouse Copyright Runs Out in 2024 – What That Means for All of Us. https://tinyurl.com/yxbxu3bt