คงจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้าหาญมากๆ สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่จะเล่าเรื่องตัวเองถูก ‘รุมโทรม’ แต่พอเรื่องนี้เกิดใน ‘เมตาเวิร์ส’ มันจึงดูเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอีนุงตุงนังในอีกหลายประเด็น
ปัจจุบัน Facebook เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta และเตรียมจะให้บริการ ‘โลกเสมือน’ หลายโลกที่เข้าใช้ผ่านอุปกรณ์ VR แบบสวมหัว (คิดง่ายๆ ก็คือเหมือนหนัง Ready Player One) โดยโลกหนึ่งเรียกว่า ‘Horizon Worlds’ ซึ่งตอนนี้กำลังเปิดให้คนเข้าไปทดลอง ‘เล่น’ ได้
เรื่องของเรื่องก็คือมีผู้หญิงคนหนึ่งเข้าไปทดลองเล่น โดยใช้อวตารเป็นผู้หญิง แต่เข้าไปได้ไม่ถึงหนึ่งนาที ก็มีอวตารผู้ชายมารุมโทรม แถมยังพิมพ์บอกด้วยว่า “อย่าแกล้งทำเป็นไม่ชอบน่า”
แน่นอนว่าเธอช็อก ก่อนเขียนเล่าเรื่องที่ประสบพบเจอมาบนแพลตฟอร์ม Medium ส่งผลให้สื่อต่างๆ พากันตีข่าวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ถ้าใครจำได้ ช่วงเดือนธันวาคม 2021 ก็เคยมีข่าวคนโดนลวนลามในเมตาเวิร์ส ซึ่งก็คือ Horizon Worlds เจ้าเก่านี่แหละ ซึ่งตอนนั้นแค่ ‘ลวนลาม’ แต่คราวนี้มันคือ ‘รุมโทรม’.
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีคำถามตามมาว่า เราจะทำอย่างไรกับการกระทำแบบนี้? ฝ่ายนักสิทธิทางเพศก็ย่อมเชื่อว่า การกระทำแบบนี้คือการ ‘ล่วงละเมิดทางเพศ’ แน่นอน มีผู้เสียหายและก็ต้องมีผู้ต้องรับผิดชอบ แต่ความเป็นจริงไม่ง่ายเช่นนั้น…
ประเด็นนี้ก็คล้ายๆ กับเรื่อง ‘กฎหมายอินเทอร์เน็ต’ อื่นๆ ที่ค่อนข้างซับซ้อน และมีลักษณะแบบ ‘ข้ามชาติ’ มาก
สำหรับกรณีล่าสุด สมมติว่าชายที่มารุมโทรมอวตารบนเมตาเวิร์ส คนหนึ่งมาจากคาซัคสถาน คนหนึ่งมาจากแอฟริกาใต้ อีกคนมาจากเอลซัลวาดอร์ อีกคนมาจากสหรัฐอเมริกา คำถามคือ ถ้าบอกว่านี่คือ ‘ความผิด’ มันผิดตามกฎหมายประเทศใด? หรือพูดในทางเทคนิคก็คือ ความผิดบนเมตาเวิร์สมันอยู่ใต้อำนาจศาลของประเทศใด?
อันนี้เป็นปัญหาพื้นฐานของแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว เป็นปัญหาคลาสสิคที่ยังไม่บรรลุข้อตกลง แต่โดยทั่วไปเขาจะถือว่า ‘เจ้าของแพลตฟอร์ม’ ต้องมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย หรือดูแลไม่ให้มีอะไร ‘ผิดกฎหมาย’ และนี่คือเหตุผลที่ช่วงหลังเฟซบุ๊กได้ทำการลบโพสต์และบล็อกบัญชีเยอะมากๆ
ในกรณีของเฟซบุ๊ก ข้อมูลทั้งหมดมันถูก ‘บันทึก’ เอาไว้ เช่นถ้าคุณไปพูดจาเหยียดเชื้อชาติหรือเพศ เฟซบุ๊กจะบันทึกเอาไว้หมด และถ้ากลับมาดู เฟซบุ๊ก อาจลบโพสต์ของคุณทิ้ง และล็อกบัญชีคุณสัก 3-4 วันเพื่อเป็นการ ‘ลงโทษ’ ที่ทำผิด ‘มาตรฐานชุมชน’ อันเปรียบเสมือน ‘กฎหมายของเฟซบุ๊ก’
แต่บนเมตาเวิร์สนั้นอาจแตกต่างออกไป คำถามคือมันมีการเก็บข้อมูลกิจกรรมต่างๆ เอาไว้หรือไม่ ถ้าใช่ ก็จัดการแบบเดียวกันได้ ใครผิด ‘มาตรฐานชุมชน’ ก็ย่อมโดนรายงาน เมื่อหลักฐานมีพร้อม ก็โดนลงโทษไป แต่ถ้ายังไม่มีการเก็บข้อมูลเอาไว้ (ซึ่งแนวโน้มก็คงจะเป็นแบบนั้น) ก็บอกเลยว่ายาก เพราะคุณจะรู้ได้อย่างไรว่า การล่วงละเมิดทางเพศมันเกิดขึ้นจริง? กระบวนการยุติธรรมมันไม่ได้ทำงานเหมือนนักสิทธิผู้ถูกคุกคามทางเพศที่จะเชื่อเหยื่อเสมอเพราะกระบวนการยุติธรรมมันต้องพิสูจน์ความจริงเสมอ เพื่อป้องกันการกล่าวหาคนอื่นลอยๆ หรือแจ้งความเท็จ
คำถามคือ แล้วเมตาเวิร์สจะทำอย่างไร? จะจับอวตารมาขึ้นศาลแบบในโลกความเป็นจริงเหรอ? แล้วจะทำยังไงกับหลักฐานการข่มขืนล่ะ? พยานไม่น่ามี บันทึกภาพก็ไม่มี ร่องรอยดีเอ็นเอก็ไม่มี
ดังนั้นกรณีแบบนี้รวมถึงอาชญากรรมใดๆ บนเมตาเวิร์สนั้นจะมีปัญหามากๆ ในการจัดการ และ ‘ทางแก้’ ก็คืออาจต้องทำการป้องกันไม่ให้กิจกรรมที่เข้าข่ายอาชญากรรมเป็นไปได้เลยบนฐานของโค้ดพื้นฐาน แต่ถ้าทำแบบนั้นมันก็จะกลับมาปัญหาเดิมๆ ของ เฟซบุ๊กอีกที่ว่าการทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้ ‘เสรีภาพบนแพลตฟอร์ม’ นั้นลดลงเรื่อยๆ พูดง่ายๆ คือมาตรการแบบ ‘กันไว้ดีกว่าแก้’ ถ้ากันไปกันมา คนจะเริ่มรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรสร้างสรรค์ได้เลย ทั้งในทางเทคนิคที่ทำแล้วจะโดนลงโทษ และในทางจิตวิทยาที่รู้สึกขยับตัวอะไรก็ผิดไปหมด ทั้งๆ ที่บางอย่างการทำในโลกวัตถุมันทำได้โดยไม่มีผลอะไรตามมาด้วยซ้ำ
คำถามคือ แล้วเราจะมาใช้พวกแพลตฟอร์มพวกนี้ไปทำไม ถ้าใช้แล้วเสรีภาพเราลดลงระดับที่น้อยกว่าโลกวัตถุซะอีก?
ซึ่งถ้าจะย้อนกลับไป นี่แหละปัญหาที่ทำให้คนเผ่นออกจากเฟซบุ๊ก จนหุ้นร่วงระดับตำนานในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และก็ไม่น่าแปลกใจที่เฟซบุ๊กนั้นอุตส่าห์รีแบรนด์จะทำเมตาเวิร์สทั้งที มีหรือจะต้องการให้ทุกอย่างต้องซ้ำรอยเดิม
ดังนั้นถ้าจะพูดโดยสรุปก็คือ ‘ผู้มีอำนาจจัดการ’ ในกรณี ‘การรุมโทรมบนเมตาเวิร์ส’ ต้องเป็นเฟซบุ๊กแน่ๆ แต่ถ้าเฟซบุ๊กจัดการแบบเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะซ้ำรอยสิ่งที่เกิดบนเฟซบุ๊กอีกนั่นคือผู้ใช้หดหาย และนั่นคือสิ่งที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กไม่ต้องการแน่ๆ
และในกรณีนี้ไม่ง่าย แต่ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีว่า อะไรจะเกิดขึ้นได้บ้างถ้าเมตาเวิร์สนั้นเกิดบนสิ่งที่เรียกว่า ‘Web 3.0’ ที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีศูนย์กลาง และไม่มีอะไรมาควบคุม (ซึ่งก็เป็นคอนเซ็ปต์ที่เห่อๆ กัน ยังทำไม่ได้จริง แต่นักลงทุนเทเงินลงไปกันเพียบแล้ว)
และถ้าทั้งหมดยังยุ่งไม่พอ มันก็จะมีคนพยายามบอกว่าสิ่งต่างๆ ในเมตาเวิร์สนั้นก็เป็นแค่เกม และถ้าเราเล่นเกมจำพวก First-person Shooting แล้ว ‘ยิงคนตายในเกม’ เราไม่ต้องรับผิดฐานฆาตกรรมฉันใด การเข้าไปในเมตาเวิร์สแล้ว ‘ข่มขืนในเกม’ เราก็ไม่ควรต้องได้รับผิดฐานข่มขืนฉันนั้น (ส่วนการเล่นเกมนั้นส่งผลให้มีพฤติกรรมรุนแรงในชีวิตจริงไหม? งานวิจัยช่วงหลังๆ ก็ชี้ตรงกันหมดว่า ‘ไม่จริง’)
และนี่ก็ต้องนำมาสู่ข้อถกเถียงว่า ‘ตัวตน’ ของคนเริ่มและจบตรงไหน? ตัวตนในอวตารของเราในโลกเสมือนยังเป็นตัวตนที่ได้รับการคุ้มครองในฐานะของบุคคลภายใต้กฎหมายของรัฐไหม? แล้วแบบนี้พื้นที่ในโลกเสมือนที่คนที่อยู่ใต้กฎหมายของรัฐที่ต่างกันมาปฏิสัมพันธ์กัน จะต้องใช้กฎหมายของรัฐไหนตัดสินถ้ามีคนทำอะไรผิด? แล้วจะไปขึ้นศาลที่ไหน?
ทั้งหมดนี้ก็เริ่มจะเป็นคำถามทางปรัชญาที่ต้องคุยกันยาวๆ แล้วล่ะ
อ้างอิง
- Vice. Woman Says She Was ‘Virtually Gang-Raped’ in Facebook’s Metaverse. https://bit.ly/3rNCY3s
- SCMP. Woman alleges ‘gang rape’ in Meta virtual world. https://bit.ly/3sJDChI
- News.com.au. Meta beta tester says she was ‘gang raped’ in virtual reality. https://bit.ly/3uMrMWV