คงไม่ใช่ความลับอะไรที่ทุกวันนี้ ‘ทุนจีน’ มุ่งลงทุนที่แอฟริกาสุดๆ เพราะอาจเรียกได้ว่าจีนกำลังหมายมั่นปั้นมือให้แอฟริกากลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าราคาถูกและแหล่งทรัพยากรแทนประเทศของตัวเอง ซึ่งอะไรพวกนี้มีตั้งแต่การลงทุนโดยเอกชนยันเมกะโปรเจกต์ของรัฐจีนในนาม Belt and Road Initiative (BRI)
พูดง่ายๆ จีนมีเดิมพันทางเศรษฐกิจในแอฟริกาสูงมากๆ
และนี่ก็หมายความว่าจีนจำเป็นต้อง ‘ปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ’ ของตัวเองในแอฟริกาด้วย
ก็คงไม่ต้องอธิบายมากว่า แอฟริกาเป็นทวีปที่ ‘เถื่อน’ พอควร เพราะพื้นที่มันใหญ่มาก และกลไกของรัฐในหลายๆ ประเทศก็ไม่สามารถทำงานได้ทั่วถึง ดังนั้นปัญหา ‘อาชญากรรม’ จึงมีเต็มไปหมด ไม่ว่าจะบนแผ่นดินหรือในทะเล
พูดง่ายๆ รัฐในแอฟริกามีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองทรัพย์สินและผลประโยชน์ทางธุรกิจของเอกชนทั้งหมด เลยทำให้ ‘ต่างชาติ’ ที่ไปลงทุนในแอฟริกา ไปแบบ ‘ตัวเปล่า’ ไม่ได้ เพราะจะโดน ‘ปล้น’ จนต้องเอา ‘อาวุธ’ ไปด้วย
และอาวุธที่ว่าก็คือ ‘บริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชน’ แต่เรียกกันตรงๆ ก็น่าจะเรียกว่า ‘ทหารรับจ้าง’ มากกว่า เพราะจริงๆ ในทางปฏิบัตินี่ไม่ใช่บริษัทที่ให้บริการ ‘ยาม’ แต่สิ่งที่กิจการเหล่านี้ให้บริการคือ ‘กองกำลังติดอาวุธ’ ทั้งนั้น แค่ไม่ได้รบกับข้าศึกให้รัฐ แต่รบกับโจร (ที่ติดอาวุธเหมือนกัน) ให้บริษัทเอกชนแทน
ถ้ายังไม่เห็นภาพนัก ให้ลองนึกสภาพเหมืองจีนในแอฟริกาที่ไม่มี ‘กองกำลังติดอาวุธ’ เฝ้าระวัง การมีของมีค่าในพื้นที่ห่างไกลแบบนั้นจะไม่โดนพวก ‘กองกำลังติดอาวุธ’ ในแอฟริกาเข้าไป ‘ปล้น’ ได้อย่างไร? ไม่ว่าจะเป็นการปล้นระหว่างขนส่งสินค้าหรือปล้นคาเหมือง พวกโรงงานต่างๆ ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีกองกำลังติดอาวุธพวกนี้เฝ้า สินค้าก็อาจถูกปล้นไปจากโรงงานได้ และสุดท้าย การจะส่งสินค้าทางเรือไปยังต่างประเทศ ถ้าไม่มีกองกำลังติดอาวุธตามไปด้วย ก็จะโดนโจรสลัดปล้นเอากลางทะเลได้ไม่ยาก
เรื่องทั้งหมดนี้ฟังดูเถื่อนมาก แต่ความเป็นจริงในทวีปแอฟริกาก็เป็นแบบนี้แทบทั้งนั้น เพราะส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ยากจนมานาน เคยมีสงครามกลางเมืองมาเป็นสิบปี และปัจจุบันรัฐไม่ได้มีทรัพยากรจะบังคับใช้ในด้านกฎหมายเท่าไร มันก็จะออกมาในทรงนี้แหละ
แต่ทั้งหมดนี้ทำให้นานาชาติ ‘เป็นห่วง’ น่าดู เพราะจีนไม่ได้จ้างพวก ‘ทหารรับจ้าง’ ในแอฟริกาทำงานเลย แต่ขนพวกทหารรับจ้างไปจากจีนล้วนๆ ทำให้ในแง่หนึ่ง กองกำลังติดอาวุธของเอกชนจีนแพร่กระจายไปทั่วทวีปแอฟริกาพร้อมๆ กับธุรกิจจีน
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าในแอฟริกา ทั่วๆ ไปประเทศที่เกิดสงครามกลางเมืองนานๆ ประเทศเขาก็จะหลอนๆ ไม่อยากให้เอกชนมีธุรกิจทหารรับจ้าง เพราะสงครามกลางเมืองหลายที่มันก็เกิดและไม่จบสิ้น เพราะพวกกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐลุกขึ้นมาท้าทายรัฐนี่แหละ ดังนั้นเมื่อรัฐไม่ได้พัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้บริษัทต่างชาติ ‘ซื้อบริการ’ ฝ่ายบริษัทต่างชาติก็ต้องเอาเข้ามาเอง
ซึ่งบริษัทจีนที่ทำธุรกิจแบบนี้มีกว่า 10,000 บริษัท คือมันเยอะมาก แต่ไปดูจริงๆ น่าจะมีไม่กี่บริษัทที่จะมีความรู้ความเข้าใจด้านระเบียบปฏิบัตินานาชาติเกี่ยวกับธุรกิจแบบนี้ หรือให้ตรงกว่านั้น คือจีนอาจไม่สนใจระเบียบปฏิบัติแบบนานาชาติในการใช้อาวุธหรือการว่าจ้างกองกำลังเอกชน เพราะอะไรพวกนี้ไปๆ มาๆ มันไม่ได้คุมโดยกฎหมายระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ถูกกำกับด้วย ‘มาตรฐานอุตสาหกรรม’ มากกว่า หรือพูดง่ายๆ คือ จีนกำลังจะสร้างมาตรฐานใหม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมทหารรับจ้างที่ไม่เหมือนตะวันตก และตะวันตกก็บังคับใช้จีนทำตามตัวเองไม่ได้ด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาติตะวันตกจะ ‘เป็นห่วง’ มาก
ประเด็นคือ ‘ปัญหา’ นี้ไม่ใช่เรื่องแค่ในแอฟริกา แต่มันหมายถึงการตั้งระเบียบใหม่ในการใช้ ‘ทหารรับจ้าง’ ในพื้นที่ที่เอกชนรู้สึกว่าอำนาจรัฐไม่สามารถจะคุ้มครองตัวเองได้
ซึ่งพูดให้ตรงและง่ายกว่านั้นก็คือ ถ้าจีนคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์จะส่งกองกำลังติดอาวุธไปประจำการที่แอฟริกาเพื่อปกป้องธุรกิจของจีนได้ มันก็คงเป็นเรื่องของเวลา กับการใช้ ‘มาตรฐานจีน’ ในการใช้ทหารรับจ้างแบบนี้ ที่จะถูกนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ เช่น ดวงจันทร์ ซึ่งจีนหมายมั่นปั้นมือว่าจะไป ‘ทำเหมือง’ ที่นั่น
และมากกว่าที่ว่ามา ‘ปัญหา’ จริงๆ ไม่ใช่แค่ว่าจีนจะส่ง ‘กองกำลังติดอาวุธ’ ไปแค่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเองเท่านั้น เพราะไปๆ มาๆ กิจกรรมทางการทหารนั้นก็อาจลุกลามไปถึงขั้น ‘ยึดประเทศ’ ได้ และนักเรียนประวัติศาสตร์ที่รู้ข้อมูลยุคล่าอาณานิคมก็คงจะรู้ว่าพวกชาติตะวันตกเข้าไปแรกๆ ก็เข้าไป ‘ค้าขาย’ นั่นแหละ และก็ต้องเอากองกำลังติดอาวุธเข้าไปด้วยเพื่อคุ้มครองสินค้าและกิจกรรมทางการค้าของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ไปยึดครองประเทศเขาเฉยเลย
หรือจะกล่าวอีกแบบ ชาติตะวันตกนั้นระแวงพฤติกรรม ‘ส่งทหารรับจ้างไปคุ้มครองธุรกิจ’ ของจีนในแอฟริกา ว่าจะลุกลามไปเป็นอะไรคล้ายๆ อาณานิคม เพราะนี่คือสิ่งที่ชาติตะวันตกเคยทำเองเป๊ะๆ เมื่อครั้งอดีต
แน่นอน ถ้าเราถามจีน จีนก็คงจะบอกว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ แต่ชาติตะวันตก (โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา) ก็ย่อมจะกระอักกระอ่วนมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะถ้าจีนส่งทหารไปแอฟริกาตรงๆ ชาติตะวันตกก็มีข้ออ้างที่จะจัดการอะไรบางอย่างได้ แต่เมื่อจีนส่ง ‘ทหารรับจ้าง’ ที่จ้างโดยบริษัทเอกชนเพื่อไปคุ้มครองสินค้าของตน ก็แน่นอนว่าชาติตะวันตกทำอะไรไม่ได้ นอกจาก ‘ระแวง’ โดยระแวงว่าพวกบริษัททำฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จีนจะมีการ ‘สอดไส้’ เครื่องมือสอดแนมเอาไว้หรือไม่
เพราะสิ่งเหล่านี้ดูแค่เบื้องหน้า มันไม่มีอะไรผิดกฎหมาย แต่เบื้องหลังก็อาจเป็นอีกเรื่อง แต่ตราบที่ไม่มี ‘หลักฐาน’ การละเมิดกฎหมายแบบชัดๆ ก็ไม่มีสิทธิ์จะไปทำอะไรได้
อ้างอิง
- The Conversation. Chinese private security firms are growing their presence in Africa: why it matters. https://bit.ly/3Q0INTZ