2 Min

มารักษา ‘สุขภาวะทางใจ’ เพราะการดูแลใจที่ดี เริ่มที่การพูดคุย เริ่มอย่างไรได้บ้าง

2 Min
695 Views
03 Dec 2021

ความรู้สึกปวดร้าวในใจเป็นเหมือน ‘ตราบาป’ ที่หลายคนไม่อยากพูดถึง

หลายคนเลือก ‘ความเงียบ’ เป็นการแสดงออก เพราะกลัวจะถูกมองว่าอ่อนแอ กลัวถูกมองว่าไม่เอาไหน พวกเราอยากเข้มแข็งในสายตาคนที่เรารัก เราไม่อยากให้คนรอบข้างต้องมาเป็นห่วง ไม่อยากเป็นภาระ ไม่อยากทำให้ใครไม่สบายใจ บางคนบอก ‘ไม่เป็นอะไร’ ทนเก็บ ทนกดมันไว้ พอเวลาไหลผ่านไป มันกัดกินหัวใจเราไปเกือบหมดแล้ว

ความเงียบเป็นเหมือนวายร้ายที่ทำให้อะไรย่ำแย่ลง เราทนอยู่กับมันโดยขาดความเข้าใจ ไม่มีโอกาสให้พักใจ ไม่ให้หัวใจได้เยียวยา ไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือ

แต่โปรดเข้าใจไว้เถอะว่า พวกเราเป็นมนุษย์ พวกเราทุกข์ พวกเราเศร้า พวกเราเหงากันเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องคิดว่าเราย่ำแย่ ไม่ต้องคิดว่าเราไม่เอาไหน ความรู้สึกภายในเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ไม่แปลกที่บางครั้งเราจะรู้สึกไม่เข้าใจ ไม่ต้องคิดว่าเราแปลกประหลาดกว่าใคร ใครๆ ต่างก็เคยเจอ

เพราะฉะนั้น ถ้าหากรู้สึกไม่สบายใจ อย่าลืมว่า การพูดคุย การระบาย การบอกเล่า ให้เพื่อนที่เราไว้ใจ หรือครอบครัว ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางได้เช่นกัน

การพูดคุยเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นสำคัญที่ในการขอรับความช่วยเหลือ เราทุกคนผิดหวัง เราทุกคนทุกข์ เราทุกคนเศร้า มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ในวันที่เราไม่ไหว การยื่นมือออกไปก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอะไรเลย ในวันที่เราล้มลงทางจิตใจ บางทีเราอาจจะต้องการคนข้างๆ มาช่วยพยุงสักหน่อยเท่านั้นเอง

อย่ามองว่าการพูดถึงปัญหาในใจคือความอ่อนแอ มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่มีใครอ่อนแอกว่าใคร ไม่มีใครมีคุณค่าน้อยกว่าใคร เราต่างมีคุณค่าในแบบฉบับของตัวเอง

เปิดโอกาสให้ตัวเองได้พัก เปิดโอกาสให้ตัวเองได้พูดออกไป เปิดใจ เริ่มพูด เริ่มคุย เริ่มเล่าเรื่องราวออกไป เป็นสิ่งที่ใครๆ เขาก็ทำกัน เพราะสุขภาพใจ ก็ไม่ต่างกับสุขภาพกาย มีโอกาสเจ็บ ป่วย ล้าได้เช่นกัน

ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่านอกเหนือจากสุขภาพทางกาย แต่โรคระบาดก็ทำให้จิตใจของพวกเราแย่ลง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่บางครั้งอาจจะยังรู้สึกว่า ปัญหาสุขภาพจิตของตัวเองจะสร้างภาระให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งการขาดความรู้ความเข้าใจที่มากพอ ในการเข้าถึงการบริการ และความช่วยเหลือ

แคมเปญ “Every Day is Mind Day — โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน” จาก UNICEF เป็นพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองได้เปิดอกพูดคุยกัน เรียนรู้วิธีจัดการปัญหา และขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงสามารถช่วยเหลือคนที่รักได้ เพราะสุขภาพใจนั้นสำคัญไม่ต่างอะไรจากสุขภาพกายเลย กับการจัดทำสื่อต่างๆ ทั้ง AR (Augmented Reality) และ ฟิลเตอร์อิโมจิภาษาใจบนอินสตาแกรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแชร์ความรู้สึกภายในกันให้มากขึ้น รวมถึงคู่มือดูแลสุขภาพใจ เพื่อช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตสำหรับวัยรุ่นและผู้ปกครอง นำเสนอเคล็ดลับการจัดการกับความรู้สึกที่ซับซ้อน และวิธีให้การช่วยเหลือผู้อื่นในเรื่องดังกล่าวได้

เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ผู้พิทักษ์สุขภาพใจ เปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่คอยพิทักษ์และดูแลจิตใจของเรา และคนรอบข้าง เพื่อสุขภาพใจที่ดีของทุกคน

ร่วมลงทะเบียนเป็นผู้พิทักษ์ใจได้ที่ : https://bit.ly/minddaytoolkit 
ติดตามข้อมูลแคมเปญเพิ่มเติมได้ที่ และดาวน์โหลดคู่มือดูแลสุขภาพใจ ได้ที่ : https://www.unicef.org/thailand/th/mindday

พูดคุยเรื่องตัวเองจนสบายใจ แล้วอย่าลืมเป็นที่พักใจให้คนอื่นด้วยนะ 🙂