2 Min

Meme culture ว่าด้วยการเปลี่ยนเรื่องเครียดให้เป็นเรื่องขำ

2 Min
1268 Views
31 Aug 2020

Highlight

  • มีม (Meme) วัฒนธรรมการสื่อสารติดตลกของคนรุ่นใหม่ รูปเดียวจบ GIF เดียวจอด เมื่ออารมณ์ขันร่วมกันของสังคมมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความคิดบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงประเด็นสังคมเรื่องใหญ่ๆ ทั้งศาสนา วัฒนธรรม และการเมือง

 

มีมพระ

มีมไอดอล

มีมเกวิน โทมัส

มีมชิวาว่า

คุณมีภาพเหล่านี้อยู่ในมือถือบ้างรึเปล่า?

เรียกว่าในยุคนี้ใครที่ใช้ชีวิตบนโลกอินเตอร์เน็ตอยู่บ้าง คงคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า ‘มีม’ (Internet Meme) มุกตลกขำขันรูปเดียวจบ gif เดียวฮา ประโยคเดียวขำที่มีแพร่หลายบนโซเชียลมีเดียแทบทุกแพลตฟอร์ม

ว่าแต่มีมเริ่มต้นได้อย่างไร?

ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของคำว่า ‘มีม’ มีที่มาที่ค่อนข้างจะเนิร์ดและแก่พอควร

ในช่วงปี 1976 นักชีววิทยาวิวัฒนาการ Richard Dawkins ได้บัญญัติคำนี้ขึ้นในหนังสือ The Selfish Gene ระบุว่า มีมเกิดจากการผสมคำว่า Genes ที่แปลว่าพันธุกรรมกับรากศัพท์ภาษากรีก μιμητισμός (mimema) แปลว่า การลอกเลียนเข้าด้วยกัน โดยมีความหมายว่าการแพร่กระจายของไอเดียและข้อมูลทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันเป็นทอดๆ และสามารถพัฒนาต่อยอดด้วยตัวของมันเองได้

ตอนที่ Dawkins นิยามศัพท์หมายถึงการกระจายข้อมูลวัฒนธรรมบนโลกรูปธรรม แต่ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทอย่างสูง Electronic Frontier Foundation (EFF) สถาบันที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตได้อธิบายถึงปรากฎการณ์อินเตอร์เน็ตมีม (Internet Meme) ว่าเป็นการแปลงสารด้วยจุดมุ่งหมายเดิมด้วยความคิดสร้างสรรค์

เพราะฉะนั้น พื้นฐานดั้งเดิมของมีมคือการกระจายวัฒนธรรม และวัฒนธรรมร่วมที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันบนโลกนี้คือ ‘ความตลก’

ดังนั้นเราจึงมักจะเห็นเรื่องราวขบขันปวดท้อง ไปจนตลกเสียดสีในรูปแบบของมีมเสมอๆ

แล้วมีมสำคัญตรงไหน?

สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการใช้มีมขำขัน อาจมองว่านี่เป็นแค่เรื่องไร้สาระบนโลกออนไลน์ แต่มีมไม่ได้มีฟังก์ชั่นเพื่อเป็นการเล่นมุกให้คนขำเสมอไป โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ มีมถูกใช้ในการสื่อสารหลายบริบท ตั้งแต่บทสนทนาทั่วไป การแสดงอารมณ์ สื่อสารในเชิงการตลาดการโฆษณา

เรื่องเชิงสังคม ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ศาสนา ไปจนถึงเรื่องการเมืองด้วยความที่มีมเสพง่ายแชร์ได้เร็ว การเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านมีมนั้นส่งต่อความคิดในสังคมได้เร็วมาก ยิ่งผู้คนได้รับการตอบสนองด้านความขบขัน ยิ่งอยากแชร์คนรุ่นใหม่กำลังใช้ความขบขันเข้ามาตั้งคำถามและพูดคุยกันเรื่องสังคม เราเล่นตลกกับภาพบุคคลทางการเมืองได้ไหม เราใช้ปางพระพุทธรูปสื่อสารได้รึเปล่า?

อีกนัยหนึ่งของการใช้มีมคือเราพยายามลดทอนอำนาจในสังคมที่เคยมองว่าแตะไม่ได้มาอยู่ในรูปแบบที่จับต้องได้มากขึ้น ตั้งแต่ประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ

หลายครั้งเรายังใช้มีมในการทำให้เรื่อง ‘เครียด’ เป็นเรื่อง ‘ขำ’ เพราะการที่คนเลือกโต้ตอบประเด็นสังคมโดยทำให้มันขำขันนั้นค่อนข้าง ‘ปลอดภัย’ มากกว่าการพูดถึงอย่างจริงจัง

ปัจจุบันมีมเริ่มเดินทางออกนอกโลกออนไลน์อีกครั้ง เราเห็นการชุมนุมประท้วงของคนรุ่นใหม่ที่ใช้มีมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากในปีนี้ โดยเฉพาะ #ม้อบไม่มุ้งมิ้งแต่ติ้งติ้ง ที่นำส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ ‘หอแต๋วแตก’ มาเป็นตัวชูโรง การต่อบทที่ขำขันและเสียดสีสังคมไปในตัวเดียวกันยิ่งสร้างความสนใจและส่งต่อวัฒนธรรมได้รวดเร็ว

สรุปแล้วในยุคนี้ ‘มีม’ คือวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ยอดนิยม ที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมและความคิดได้อย่างรวดเร็วม้วนเดียวจบและบริโภคง่าย แต่บางครั้งการตลกในประเด็นที่ชวนอ่อนไหวก็อาจนำไปสู่ปัญหาดราม่าได้เหมือนกัน

ว่าแต่มีมโปรดของคุณคืออะไร?

อ้างอิง: