อินเดีย ชาติที่ส่งออก ‘เนื้อควาย’ มากที่สุดในโลก และ ‘เนื้อวัว’ ที่คุณเจอในต่างประเทศมันอาจเป็นเนื้อควายก็ได้
ชอบกิน ‘เนื้อ’ กันไหม? เนื้อวัวเป็นอาหารอันโอชะของคนหลายๆ ประเทศในโลก อย่างไรก็ดีเคยสงสัยไหมว่า ชาติไหนส่งออกเนื้อวัวมากที่สุด?
ถ้าไปเช็กสถิติ เราก็จะเห็นเลยว่าชาติที่ส่งออกเนื้อวัวอันดับ 1 ของโลกคือบราซิล ซึ่งเขาก็ส่งออกให้อเมริกาเป็นหลัก (อเมริกาเป็นชาติที่นำเข้าเนื้อวัวเยอะที่สุดในโลก) แต่ถ้ามาดูชาติที่ส่งออก ‘เนื้อวัว’ อันดับ 2 เราก็จะพบว่าไม่ใช่ชาติที่เราคุ้นอย่างออสเตรเลีย แต่เป็น ‘อินเดีย’
ตรงนี้บางคนอาจไม่สงสัย เพราะอินเดียมีวัวเยอะสุดๆ แต่ในความเป็นจริง ในอินเดียการฆ่าวัวเป็นอาชญากรรมทางสังคมที่ร้ายแรงมากๆ เรียกได้ว่าใครฆ่าวัวนี่จะโดนรุมสกรัมได้โดยง่ายเลย เพราะมันไปละเมิดความเชื่อของคนทั่วไปที่เชื่อว่าวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มากๆ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซีเรียสมากในช่วงตอนเหนือของประเทศซึ่งเต็มไปด้วยชาวฮินดูเคร่งๆ ที่ไม่ใช่แค่ไม่กินเนื้อวัว แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ
ดังนั้น ในความเป็นจริง ในอินเดียในภาพรวมไม่มีอุตสาหกรรมเนื้อวัวเลยแม้แต่นิด
แต่ทำไมตัวเลขมันโชว์ว่าอินเดียส่งออก ‘เนื้อวัว’ เป็นอันดับ 2 ของโลกล่ะ
คำตอบคือ เวลาเราเห็นคำว่า ‘เนื้อวัว’ หรือ beef ในภาษาอังกฤษ จริงๆ มันไม่ได้รวมแค่เนื้อวัว แต่รวมเนื้อควาย (water buffalo) ไปด้วย และนี่คือเนื้อที่ส่งออกจากอินเดียทั้งหมด
ซึ่งมาดูดีๆ เราจะพบว่า อินเดียส่งออก ‘beef’ น้อยกว่าบราซิลนิดเดียวเอง ซึ่งบราซิลส่งออกวัวเป็นหลักแน่ๆ (บราซิลมีเลี้ยงควายบ้าง แต่น้อย) ในขณะที่ beef อินเดียส่งออกคือควายล้วนๆ
ดังนั้นสิ่งที่สรุปได้คือ อินเดียคือชาติที่ส่งออกเนื้อควายเป็นอันดับ 1 ของโลก และนี่คือสินค้าเกษตรที่มียอดส่งออกมากที่สุดของอินเดีย สูงกว่าข้าวบาสมาติเสียอีก
ทำไมอินเดียถึงส่งออกควายมากมายขนาดนั้น?
คำตอบคือ ในรอบ 10-20 ปีหลังอินเดียเลี้ยงควายกันมาก เพราะเลี้ยงควายมันคุ้มกว่าเลี้ยงวัว?
ทำไมคุ้มกว่า คำตอบคือ เพราะเลี้ยงควายไป แก่ๆ แล้วควายเอาไปขายเข้าโรงฆ่าสัตว์ได้ เพราะเนื้อมันขายได้ ต่างจากวัว ที่ทำแบบเดียวกันไม่ได้เพราะเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์
อธิบายง่ายๆ วัวเป็นสัตว์สำคัญของอินเดียก็จริง เพราะคนอินเดียกินนมวัวเยอะมาก และขี้วัวก็เอามาทำเชื้อเพลิงได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ควายทำไม่ได้ นมควายสามารถใช้งานได้เหมือนนมวัว ขี้ควายก็ใช้งานได้เหมือนขี้วัวเพราะกินอาหารเหมือนๆ กัน ระบบย่อยอาหารก็คล้ายๆ กัน แต่สิ่งที่ควายทำได้มากกว่าวัวคือมันสามารถถูกจับเข้าโรงฆ่าสัตว์แล้วส่งเนื้อไปขายต่างประเทศได้ (ที่ต้องส่งออกก็เพราะคนอินเดียทั่วๆ ไปไม่กินทั้งเนื้อวัวและเนื้อควาย)
คำถามคือส่งออกไปไหน? คำตอบคือ ไปได้ทุกที่ที่ต้องการเนื้อวัว เพราะในตลาดโลกส่วนใหญ่ มันไม่มีการแยกระหว่างเนื้อวัวกับเนื้อควาย เขาถือว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน ซึ่งในทางชีววิทยา ควายกับวัวอยู่ใน sub-family เดียวกัน แต่อยู่คนละ genus กันเท่านั้น และในเคสของ ‘เนื้อสัตว์’ การที่เนื้อสัตว์ที่อยู่ใน family เดียวกันแต่คนละ genus จะจัดเป็น ‘เนื้อสัตว์’ ชนิดเดียวกันมันเรื่องปกติมากๆ (เช่น ปลาแซลมอนแอตแลนติก กับแซลแมนแปซิฟิก จริงๆ ก็เป็นปลาคนละ genus กัน แต่เวลาขายในท้องตลาดก็เรียก ‘แซลมอน’ เหมือนกัน)
นี่ทำให้เนื้อควายจากอินเดียมันถูกเอามาขายปะปนกับเนื้อวัวในฐานะเนื้อวัวราคาถูก (เพราะเนื้อควายที่ส่งออกมาจากอินเดียเป็นเนื้อของควายแก่ที่เลี้ยงแบบปล่อย ซึ่งเหนียวมาก)
ถามว่ามันเยอะแค่ไหน? เอาง่ายๆ ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนีเซีย เขาบอกเลยว่า ถ้าคุณไปซื้อ ‘เนื้อวัว’ ที่ตลาดแถวจาการ์ตา คุณมีโอกาส 50/50 เลยที่จะซื้อ ‘เนื้อควาย’ มาแทน เพราะมันขายปนกันไปหมด เขาไม่แยก ไม่มีความจำเป็น ไม่มีกฎหมายกำหนดให้แยก และเนื้อควายที่ว่าก็มาจากอินเดีย
และก็ไม่ใช่อินโดนีเซียเท่านั้น เพราะตลาดใหญ่จริงๆ ของ ‘เนื้อควาย’ คือประเทศจีน ซึ่งคนจีนก็ไม่ได้ซีเรียสในการแยกเนื้อวัวกับเนื้อควายเวลากิน หรือให้ตรงกว่านั้นก็คือเวลามันมาอยู่ในเมนูแบบจีน เนื้อวัวหรือควายกินเข้าไปก็ไม่ต่างกัน
ซึ่งในความเป็นจริงขนาดจีนมีการแบนการนำเข้าเนื้อควายจากอินเดีย เพราะกังวลเรื่องความสะอาด (อินเดียไม่ได้เลี้ยงควายในฟาร์ม แต่เลี้ยงแบบปล่อยน่าจะแทบทั้งหมด) แต่ผลคืออินเดียก็ส่งออกควายไปเวียดนาม แล้วก็ค่อยส่งเข้าไปจีนอีกที ดังจะเห็นว่าทุกวันนี้ อินเดียส่งเนื้อควายไปเวียดนามมากที่สุด ซึ่งปริมาณขนาดนั้น คนเวียดนามซึ่งก็ชอบกินควายอยู่ ก็ไม่มีทางกินไหวหรอกครับ และส่วนมากถูกส่งต่อไปที่จีน
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจสงสัยว่าเนื้อวัวกับเนื้อควายนี่มันเหมือนกันขนาดคนแยกไม่ออกเลยเหรอ? จริงๆ ในไทย ถ้าอยากกินเนื้อควาย ให้ไปกินทางภาคเหนือ เขาถือเป็นของอร่อย และมันมีราคาแพงกว่าเนื้อวัวด้วยซ้ำไปในไทย
เนื้อควายมี ‘กลิ่นสาบเฉพาะตัว’ ซึ่งไม่เหมือนเนื้อวัว อันนี้คนเคยกินคงรู้ เรียกได้ว่ากินดิบๆ แบบที่ทางภาคเหนือเอามาทำลาบทำหลู้นี่ ต้องเนื้อควายเท่านั้น เนื้อวัวแทนกันไม่ได้
แต่ในกรณีปรุงสุก ใส่เครื่องเทศเยอะๆ เราจะพบว่า เนื้อวัวกับควายแทบไม่ได้ต่างกันเลย เพราะรสสัมผัสมันคล้ายกันมากๆ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่ได้กินจริงจัง (ต้องเน้นแบบนี้ เพราะคนกินจริงจังนี่อย่าว่าแต่วัวคนละพันธุ์เลยที่แยกได้ วัวพันธุ์เดียวกันเลี้ยงคนละที่ยังแยกได้เลย)
ในแง่นี้ ทั้งอุตสาหกรรมอาหารสดและอาหารแปรรูปในโลก ทุกวันนี้ก็เลยเริ่มปรับตัว อะไรที่เรียกว่า beef บางทีจะใช้เนื้อควายจากอินเดียทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพวกอาหารสัตว์ต่างๆ ที่เป็น ‘รสเนื้อ’, beef jerky (เนื้อหมักที่ผ่านการอบแห้งหรือรมควันในเตาอบ) หรืออาจจะกระทั่งไส้กรอก ด้วยเหตุที่ว่า เนื้อควายมันถูกกว่าเนื้อวัว และมันก็ไม่มีกฎหมายใดๆ ที่ห้ามใช้เนื้อควายแทนเนื้อวัว
ดังนั้นใครไปต่างประเทศ สั่งเมนู ‘เนื้อ’ ไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงสดหรือแปรรูป แต่ไม่อยากกินเนื้อควาย ก็ต้องระวังเลย เพราะประเทศส่วนใหญ่เขาไม่ได้แยกเนื้อสัตว์สองชนิดนี้ออกจากกัน
อย่างไรก็ดี ถ้าถามว่า ‘ควาย’ ไม่อร่อยเหรอ? ไปถามคนเหนือจำนวนไม่น้อยเขาคงเถียงเลย เพราะเขามองว่าควายอร่อยกว่าวัวอีก
ในแง่นี้ในกรณีของไทย บอกได้เลยว่าไม่ต้องกลัวคนจะเอาเนื้อควายมาแทนเนื้อวัว เพราะในไทยก็อย่างที่บอก เนื้อควายไม่ได้หาง่ายๆ ไม่มีการนำเข้าจากอินเดียเป็นล่ำเป็นสันแน่ๆ และที่ขายๆ กันอยู่คือควายเลี้ยงในไทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเขาก็ไม่เอาไปขายแล้วบอกว่าเป็น ‘เนื้อวัว’ หรอก เพราะขายเป็น ‘เนื้อควาย’ มันได้ราคาดีกว่าเยอะ
ซึ่งก็คล้ายๆ ในอเมริกา ที่ก็มีการขายเนื้อควายไบซันเหมือนกัน และก็ไม่ได้ขายแทนเนื้อวัว เพราะขายเป็นเนื้อควายไบซันได้ราคาดีกว่า
อ้างอิง
- Wikipedia. Buffalo meat. https://en.wikipedia.org/wiki/Buffalo_meat
- ThePrint. India’s beef exports rise under Modi govt despite Hindu vigilante campaign at home. https://bit.ly/3OjJJSy
- Beef2Live. Ranking Of Countries That Export The Most Beef (USDA). https://bit.ly/3zeTvBe
- APEDA. Buffalo Meat. https://bit.ly/3ze2Uce
- Reuters. Indonesia sets beef, buffalo meat import targets for 2020. https://reut.rs/3OenFZD