2 Min

ประเทศแรกในโลก! ออสเตรเลียอนุญาตให้ใช้ ‘เห็ดเมา’ ในการรักษาผู้ป่วยโรคจิตเวชบางประเภทแล้ว

2 Min
725 Views
10 Jul 2023

รู้ไหมว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้อนุญาตให้สามารถใช้ ‘ยา MDMA’ (หรือยาอี) และ ‘สารไซโลไซบิน’ สารหลอนประสาทที่พบใน ‘เห็ดเมา’ (Magic mushrooms) เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคจิตเวชบางประเภทได้แล้ว

ความเกี่ยวข้องระหว่างโรคจิตเวชและเห็ดเมานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่นเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมาก็ได้มีงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์อย่าง New England Journal of Medicine ที่ได้ศึกษาการใช้ ‘สารไซโลไซบิน’ (Psilocybin) ซึ่งพบในเห็ดเมามาใช้ในการบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง โดยที่ข้อสรุปของงานวิจัยนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า สารประเภทนี้สามารถช่วยบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ 

อย่างไรก็ดี กรณีของออสเตรเลียก็ถือเป็นก้าวสำคัญในฐานะประเทศแรกที่ได้รับรองการใช้ยา MDMA และสารไซโลไซบินเพื่อการรักษาทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ และลดระดับยาทั้งสองประเภทจากระดับ 9 (สารต้องห้าม) มาสู่ระดับ 8 (ยาควบคุมพิเศษ) สำหรับใช้รักษาทางการแพทย์เท่านั้น

ดร.ไมค์ มัสเคอร์ (Dr. Mike Musker) นักวิจัยเรื่องสุขภาพจิตแห่งมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย (University of South Australia) ชี้ว่า การอนุญาตให้สารหลอนประสาทสามารถใช้รักษาทางการแพทย์ได้นั้นเรียกได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญในรอบ 70 ปีของวงการจิตเวชเลยทีเดียว โดยมัสเคอร์ชี้ว่า การใช้ไซโลไซบินแค่ 25 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว จะสามารถส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ถึง 3 เดือนเลยทีเดียว

แต่แม้ว่ายาประเภทนี้จะได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลออสเตรเลียแล้วก็จริง นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า จิตแพทย์จะสามารถจ่ายยาประเภทนี้ให้กับผู้ป่วยโรคจิตเวชทุกคน แต่จำเป็นต้องประเมินอย่างระมัดระวังเป็นกรณีไป และผู้ป่วยก็ไม่สามารถใช้ยาประเภทนี้ด้วยตัวเองที่บ้านได้ แต่ต้องใช้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของจิตแพทย์ นั่นเพราะมันยังมีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยอาจเผชิญกับ ‘bad trip’ ซึ่งหมายถึงประสบการณ์ที่ย่ำแย่จากการใช้สารหลอนประสาทเหล่านี้ โดยหากใช้อย่างไม่ระมัดระวังก็อาจยิ่งสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับผู้ป่วยยิ่งกว่าเดิมก็เป็นได้

ขณะเดียวกัน อีกประเด็นหนึ่งที่ยังเป็นที่พูดถึงกันอยู่คือ ราคาที่แพงมหาศาลของการรักษาด้วยยาประเภทนี้ เพราะมันอาจมีราคาสูงถึง 15,000-25,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เลยทีเดียว ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป

ทั้งนี้ The Guardian อธิบายว่า กระบวนการรักษาด้วยสารหลอนประสาทแต่ละครั้งจะใช้เวลามากกว่าหนึ่งวัน เริ่มจากการที่ผู้ป่วยจะได้รับยาในตอนเช้า โดยที่ในอีก 6-8 ชั่วโมงให้หลังเมื่อผู้ป่วยกลับมาสู่สภาวะปกติอีกครั้ง พวกเขาก็จะถูกประเมินอาการอย่างละเอียดก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน โดยเมื่อกลับถึงบ้านจะต้องให้คนใกล้ชิดคอยเฝ้าสังเกตอาการพวกเขาต่ออีก 24 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้สารหลอนประสาทไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเรื่องนี้จะถือเป็นก้าวสำคัญของวงการจิตเวช ทว่า ศาสตราจารย์เดเนียล เพอร์คิน (Prof. Daniel Perkin) แห่ง Psychae Institute เมลเบิร์น ก็อธิบายว่า การใช้สารหลอนประสาทในผู้ป่วยจิตเวชจะดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะแม้ว่าจะมีงานวิจัยที่ยืนยันว่า สารหลอนประสาทส่งผลในเชิงบวกให้กับผู้ป่วยทางจิตได้จริง หากนั่นก็เป็นเพียงข้อค้นพบจากการวิจัยระยะสั้นเท่านั้น โดยที่ผลกระทบในระยะยาวยังจำเป็นต้องทำการศึกษากันต่อไป

“อีกประเด็นหนึ่งที่ผมยังเป็นกังวลคือ ผู้ป่วยจิตเวชต่างก็อยากได้รับการรักษา ซึ่งถ้าเราไม่สามารถหาวิธีการรักษาในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างทันเวลา มันก็มีความเสี่ยงที่ผู้คนจะเริ่มหาสารหลอนประสาทเหล่านี้มาใช้งานด้วยตัวเอง” เพอร์คิน อธิบาย

อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้สามารถใช้สารหลอนประสาทกับผู้ป่วยจิตเวชถือเป็นมิติใหม่ที่น่าจับตา ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า หลังจากออสเตรเลียแล้ว จะเป็นประเทศไหนต่อไป

อ้างอิง

  • The Guardian. Australian psychiatrists can now prescribe MDMA and psilocybin: who can access them and how do they work? https://shorturl.at/ozGMV
  • Mint. Australia approves narcotic drugs MDMA, magic mushroom for medical purpose. https://shorturl.at/PSW56