“ชัยชนะของความจริงเกิดจากการที่เหล่าปฏิเสธมันค่อยๆ ล้มหายตายจากไป และการที่ผู้สนับสนุนที่มันเป็นคนรุ่นใหม่ๆ ค่อยๆ โตขึ้นมาแทนที่คนแก่ๆ ที่ตายไปพวกนี้” – Max Planck – นักฟิสิกส์ บิดาแห่งทฤษฎีควอนตัม
ความจริงที่ควรจะเป็น
“ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” เรามักจะสอนให้เชื่อและยึดมั่นในความจริง แต่สิ่งที่มักไม่มีใครบอกเราคือจริงๆ แล้วเรามักจะตายก่อนความจริงจะปรากฏ
และนี่เป็นจริงแม้กระทั่งในโลกวิชาการด้านวิทยาศาสตร์
เรามักจะเชื่อว่า ในโลกวิชาการ เมื่อคำอธิบายโลกที่ “จริงกว่า” ปรากฏ มันจะหักล้าง “ความจริงที่ดำรงอยู่เดิม” ได้ และการที่ “ความจริงที่จริงกว่า” ลบล้างความจริงเก่าไปเรื่อยๆ นี่แหละคือหน้าตาของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
ความจริงที่เกิดขึ้นจริง
แต่ในความเป็นจริง แม้แต่ในโลกวิชาการ พวกไอเดียใหญ่ๆ ระดับล้มล้างไอเดียเก่าๆ มันไม่ได้ “ล้มล้าง” กันชั่วข้ามคืน และไม่ได้เกิดในเดือนสองเดือนหรือปีสองปี แต่ใช้เวลากันข้ามทศวรรษกว่า ความคิดจึงจะเปลี่ยน
เราอาจคิดว่า ‘โลกวิชาการ’ คุยกันด้วยเหตุด้วยผล คุยกันด้วยข้อเท็จจริง คุยกันด้วยหลักวิชาการ ฉะนั้น “ความเชื่อ” น่าจะเปลี่ยนได้เร็วกว่านี้
แต่ปัญหาคือ ข้อเท็จจริงระดับ “หลักวิชาการที่ยึดถือกันมาน่ะ มันผิด!” ไม่ใช่เรื่องที่จะคุยกันจบเร็วๆ แน่
ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ดูจะหักล้าง “ความเชื่อ” ของคนที่เชื่อในความก้าวหน้าของความรู้ของมนุษยชาติมาก แต่คนแรกๆ ที่ตั้งข้อสังเกตแบบนี้คือ Max Planck นักฟิสิกส์ที่ใช้เวลามหาศาลของชีวิตผลักดัน ‘ทฤษฎีควอนตัม’ ก่อนจะได้พบความจริงว่า จริงๆ แล้วเขาเปลี่ยนคนแก่ๆ ให้เชื้อในทฤษฎีควอนตัมแทบไม่ได้เลย เขาทำได้แค่ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ เชื่อใน “ความจริงชุดใหม่” และกว่าคนจะเชื่อทฤษฎีควอนตัมกันแพร่หลาย ก็ตอนที่คนรุ่นเก่าที่ไม่เชื่อทฤษฎีนี้ล้มหายตายจากไปหมดน่ะแหละ
“ข้อค้นพบ” เรื่องควอนตัมของ Max Planck เป็นประเด็นสำคัญใน “ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์” ที่นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ถึงกับตั้งชื่อเลยว่า “หลักของ Planck” (Plank’ s Principle)
แม้ว่าข้อค้นพบดังกล่าวจะไม่ได้จริงในทุกกรณี แต่ก็เรียกได้ว่าจริงในกรณีส่วนใหญ่เลยทีเดียว
ความจริงที่จะอยู่กับเรา
ที่ว่ามานี้ คือในมิติของในโลกทางวิชาการ ที่ผู้คนเถียงกันด้วยเหตุผล เอาความรู้และปัญญามาชนกันตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงทางความคิดยังเกิดขึ้นไม่ได้เลย ดังนั้นจะประสาอะไรกับโลกในสังคมการเมือง ที่คนไม่ยอมเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลด้วยข้อเท็จจริง แต่เอาความเชื่อฝังหัวมาคุยถมกัน
แล้วเราต้องให้ “คนแก่” ตายไปหมด สังคมถึงจะเปลี่ยนเหรอ?
คำตอบที่อาจเศร้าแต่จริงคือ “ใช่แล้ว”
แต่ที่โหดกว่านั้นก็คือ ทุกวันนี้ในสังคมประชาธิปไตยที่เสียงส่วนใหญ่เป็นใหญ่ และมีภาวะผู้สูงอายุ สัดส่วนคนแก่ที่อายุยืนไปเรื่อยๆ มากกว่าคนหนุ่มสาวที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว และนี่ก็น่าจะทำให้ในระดับ “ความคิด” สังคมไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว แต่น่าจะเปลี่ยนได้ช้าขึ้นเรื่อยๆ
ตามความหนักข้อของภาวะสังคมผู้สูงอายุ ที่คนแก่ที่เชื่อสิ่งเก่าก็ไม่ตายไปซะที และจำนวนคนรุ่นใหม่ที่มาแทนที่ก็เพิ่มในอัตราที่น้อยลงทุกวัน