เวลาคนไทยนึกถึง “กรุงเก่า” ก็มักจะนึกถึง “กรุงศรีอยุธยา” ที่เคยเป็นเมืองหลวง ของราชอาณาจักรสยามในช่วงปี พ.ศ.1893-2310
เวลาคนไทยนึกถึง “ประวัติศาสตร์อยุธยา” ก็มักจะนึกถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างการก่อตั้งกรุง ไปจนถึงการเสียกรุงครั้งแรก การกู้เอกราช และการเสียกรุงครั้งที่สอง

คำถามคือระยะเวลา 400 กว่าปีของกรุงศรีอยุธยานั้นมีเรื่องราวแค่นี้เหรอ? คำตอบคือไม่ใช่
ในช่วงเวลานั้นมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในกรุงศรีอยุธยา ทั้งเรื่องของการค้า การทูต และกิจกรรมต่างๆ สารพัด ดังที่เราอาจได้เห็นบางส่วนในละคร ‘บุพเพสันนิวาส’
และเหนือสิ่งอื่นใด ยังมีเรื่องวิถีชีวิตของคนทั่วๆ ไปที่เราน่าจะไม่เคยได้เรียนกันมาเลย เรียกได้ว่า ถ้าผ่านการศึกษาภาคบังคับมา เราอาจจำปีที่ “เสียกรุง” ได้ หรืออาจจะจำสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังอย่างประเทศได้ แต่เราคงจะนึกไม่ออกว่าคนกรุงศรีอยุธยาจริงๆ มี “หน้าตา” เป็นอย่างไร? กินอะไรเป็นอาหาร? ใช้เวลาว่างทำอะไรกัน? มักจะป่วยเป็นโรคอะไร? ทั้งที่เป็นเรื่อง “พื้นฐาน” มากของชีวิต
เหตุที่เราไม่รู้ ก็เพราะว่าประวัติศาสตร์แนวนี้ที่เรียกขานกันว่า “ประวัติศาสตร์สังคม” “ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม” เป็นแนวประวัติศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์ไทยไม่นิยมเขียนกันนัก
ซึ่งต่างกันคนละโลกกับคนตะวันตก เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน คนยุโรปรู้ดีว่าบรรพบุรุษของพวกเขาหน้าตาเป็นอย่างไร ชอบอ่านหนังสืออะไร กินอะไรเป็นอาหาร เวลาว่างชอบทำอะไรกัน วิถีชีวิตของคนประกอบอาชีพต่างๆ เป็นอย่างไร
เรียกได้ว่าในศตวรรษที่ 21 ประเด็นเหล่านี้ นักประวัติศาสตร์บ้านเขา “ศึกษามาจนทะลุปรุโปร่ง” แทบจะไม่มีอะไรให้ศึกษาแล้ว แต่ในบ้านเรา เรากลับไม่มีงานประวัติศาสตร์ทำนองเดียวกันอ่านในแง่นี้หนังสือ ‘มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex’ จึงเป็นก้าวที่สำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ที่พยายามจะฉายภาพชีวิตของคนในกรุงศรีอยุธยาที่มีมากไปกว่าการรบราหรือกระทั่งการค้า เพราะมันเต็มไปด้วยเรื่องชีวิตของผู้คนทั่วไป รูปร่างหน้าตา อาหารการกิน โรคภัยไข้เจ็บ จนถึงเรื่องบนเตียง
ถึงแม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นแนว “เกร็ดประวัติศาสตร์” แต่มันก็ได้ช่วยเติมมิติที่ขาดไปของการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบันได้เกินพอเลยทีเดียว นับเป็นอีกหนึ่งเล่มที่น่าสนใจ สำหรับคนที่อยากรู้จักประวัติศาสตร์ในมิติที่สื่อกระแสหลักไม่ค่อยนำเสนอ
+0