หญิงไทยเป็นอย่างไรในอดีต?

1 Min
763 Views
10 Mar 2021
ถ้าหากเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทยผ่านบันทึกทั่วไป เรามักมองเห็นเพียงมิติทางการเมือง สถาบันกษัตริย์ สงคราม และพื้นที่ทางศาสนา ซึ่งผู้เล่นที่โลดแล่นบนหน้าประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้ชายทั้งนั้น ส่วนพื้นที่ของผู้หญิงมักไม่ถูกให้ความสำคัญ ยกเว้นจะมีให้เห็นบ้างถ้าเป็นเรื่องของหญิงสูงศักดิ์ หรือวีรสตรีผู้ยิ่งใหญ่ นั่นอาจทำให้ภาพสังคมและทัศนคติต่อผู้หญิงธรรมดาๆ สามัญตกหล่นหายไป
 
 
ในยุคแห่งการล่าอาณานิคมในรัชสมัยที่ 5 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่รอยต่อของรัฐจารีตแบบเดิม กับรัฐชาติสมัยใหม่ อาจเป็นครั้งแรกที่เราสามารถมองเห็นตัวละครที่หลากหลายมากกว่าเดิมในหน้าประวัติศาสตร์ ที่มีการปฏิรูประบบศาล ให้มีความทันสมัยแบบตะวันตก แต่ก็ยังอุดมไปด้วยจารีตแบบ “เดิมๆ” อยู่มากโข
 
ในหนังสือ ‘รักนวลสงวนสิทธิ์’ จะเปิดเผยเรื่องราวข้อพิพาทที่ผู้หญิงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะฐานะโจทก์ หรือจำเลย ทำให้เรามองเห็นสังคมในสมัยนั้นผ่านทุกชนชั้น ทุกสถานะ ตั้งแต่เจ้านายสูงศักดิ์ ไพร่ บ่าว ลูกสาว มารดา สาวโสด ไปจนถึงหญิงม่าย
 
ในช่วงเปลี่ยนผ่านยุคสมัย สังคมให้คุณค่ากับผู้หญิงอย่างไร คุณค่าของพรหมจรรย์ การเป็นชู้ เจ้านายข่มขืนชำเราบ่าว นายจ้างทุบตีทำร้ายเมื่อถูกลักทรัพย์ ความสัมพันธ์ชายหญิง ในเรื่องเหล่านี้เนื้อตัวร่างกายของหญิงไทยได้รับการปกป้องและมีสิทธิมากแค่ไหน
 
และในฐานสังคมที่ว่า “สตรีคือสมบัติของบุรุษ” ไม่ว่าจะของพ่อ ของสามี หรือของลูก พวกเธอต่อสู้ปกป้องสิทธิของตัวเองอย่างไร
 
นี่คือเรื่องที่หนังสือเล่มนี้บอกเล่าโดยดัดแปลงจากวิทยานิพนธ์สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้อพิพาทที่ถูกหยิบมาไม่ได้นำเสนอเพียงแค่พูดถึงความเป็นเพศหญิง แต่สะท้อนให้เห็นสังคมไทยที่กำลังผลัดเข้าสู่ความ “ทันสมัย” แบบใหม่ และบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ
 
หากเทียบปี 2020 กับช่วงเวลาในหนังสือ วันนี้สิทธิสตรีของไทยเบ่งบานขึ้นมาก และถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ‘รักนวลสงวนสิทธิ์’ จะทำให้คุณย้อนกลับมาทำความเข้าใจความเป็นไปของสิทธิหญิงไทยในยุคที่ก้ำกึ่งเปิดรับระบบจากวัฒนธรรมตะวันตก แต่ยังเต็มไปด้วยจารีตแบบดั้งเดิม ซึ่งสะท้อนมาจนถึงปัจจุบันแบบตัดกันไม่ขาด