‘กัญชาชน’ ใน ‘พันธุ์หมาบ้า’ ผู้มาก่อนยุค ‘กัญชาเสรี’ สะท้อนเรื่องพี้ๆ มีในไทยนานแล้ว
“…ทัยอยู่ในกรมทหารในลักษณะอยู่ไปวันๆ รอเวลาปลดประจำการ เขารู้ว่าถึงแม้จะคิดอย่างไรก็ทำอะไรในเวลานี้ไม่ได้ มีอยู่ทางเดียวคือทำชีวิตที่เป็นอยู่นี้ให้สนุกสนานโดยไม่คิดอะไร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยถ้าทัยมีโอกาสดูดกัญชา เขาจะดูดมันให้ครึ้มอกครึ้มใจ มีเวลาว่างก็จับกีตาร์ขึ้นมาเล่นระบายใจ…”
ข้อความดังกล่าวคือบทตอนหนึ่งของหนังสือชื่อว่า ‘พันธุ์หมาบ้า’ วรรณกรรมร่วมสมัยเล่มหนึ่งของไทยที่ผ่านการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากว่า 30 ครั้ง ในรอบ 34 ปี นับตั้งแต่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2531 โดยที่นักอ่านหลายคนยกให้เป็น ‘ตำนานกัญชาชน’ รุ่นบุกเบิกของไทย
ชาติ กอบจิตติ ผู้เขียน ‘พันธุ์หมาบ้า’ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2547 ก็เขียนไว้ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 20 โดยสำนักพิมพ์หอน (สิงหาคม 2546) ว่าเรื่องราวที่เขียนนั้นนำมาจาก ‘พฤติกรรมของคนจริงๆ’ และเป็นนวนิยายที่ใช้จินตนาการ ‘น้อยที่สุด’ เพราะมีบรรทัดแห่งความจริงให้ไต่ตามอยู่แล้ว
เรื่องราวของ ชวนชั่ว ทัย เล็กฮิป อ็อตโต ไปจนถึง ตา และพี่ปื๊ด หรือตัวละครคนอื่นๆ ในวรรณกรรมเรื่องนี้จึงเหมือนเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์สังคมไทยยุคหนึ่งก่อนที่จะมีนโยบายกัญชาเสรี เพราะแม้แต่ยุคที่กัญชายังอยู่ในบัญชียาเสพติด คนไทยก็ยังสามารถซื้อหากัญชาผิดกฎหมายมาใช้กันได้ แม้แต่ตัวละครซึ่งอยู่ในกรมทหารก็ยังอุตส่าห์เข้าถึงกัญชาได้
“…แล้วพวกเขาก็เติมกัญชากันคนละอีกรอบสองรอบ ต่างรักษาระดับความมึนเมาในตัวไว้ มิให้มากเกินไป แต่ก็ไม่ยอมให้สร่าง ดุจดังคอยระวังเรือบรรทุกของ ถ้าใส่ของมากเกินไป เรือก็ล่มจมลง แต่ถ้าบรรทุกน้อยเกินไปก็ไม่เสี่ยงอันตราย ขาดความตื่นเต้นสนุกสนาน–ฉันนั้น พวกเขาต่างประคับประคองเรือของตัวเองให้ล่องลอยไปในน้ำอย่างชนิดปริ่มๆ แปล้ๆ…”
บทบรรยายประสบการณ์กัญชาใน พันธุ์หมาบ้า อาจไม่ได้เป็นเรื่องจริงทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าผู้เขียนย้ำกลายๆ ว่านี่เป็นเพียงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้มาจากชีวิตจริงของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ก็ช่วยให้ผู้ที่ไม่คิดจะเสพกัญชาพอจะ ‘เข้าใจ’ มิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น ทั้งเหตุผลและอารมณ์ของผู้ที่ใช้กัญชา ตลอดจนภาวะที่ตามมาจากการเสพกัญชาเป็นเวลานานติดต่อกัน
กัญชาในไทยซ่อนอยู่ใน ‘ยา–อาหาร–นันทนาการ’ มานานแล้ว
การดำรงอยู่ของกัญชาในสังคมไทยที่ถูกสะท้อนผ่านวรรณกรรม ‘พันธุ์หมาบ้า’ เป็นข้อมูลหนึ่งที่ถูกนำไปอ้างถึงในวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 17 ฉบับที่ 3 กันยายน–ธันวาคม 2562 ซึ่งเผยแพร่ในยุคที่คนกำลังพูดถึงนโยบาย ‘กัญชาเสรี’ อย่างหนักหน่วงหลังการเลือกตั้งครั้งใหญ่
วิชัย โชควิวัฒน จากสถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ผู้เขียนบทความดังกล่าวสรุปว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องกัญชาในไทยไม่ได้จำกัดขอบเขตเฉพาะการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่มองแค่ประโยชน์ด้านดีและมองกัญชาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยมาแต่โบราณ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อทบทวนว่ากัญชามีบทบาทในวิถีชีวิตคนไทยสมัยก่อนมากน้อยเพียงใด และวรรณกรรมอย่าง พันธุ์หมาบ้า ก็ถูกอ้างถึงด้วยเช่นกัน
“การศึกษาจากวรรณกรรมสำคัญบางเล่ม ทั้งเอกสารประวัติศาสตร์ สารคดี กึ่งสารคดี และวรรณกรรมร่วมสมัย พบว่ามีการนำกัญชามาใช้ในยาและอาหารบ้าง ไม่มาก ไม่พบการนำมาใช้ในพิธีกรรมเหมือนในบางอารยธรรม การใช้เพื่อนันทนาการส่วนมากพบในคนชั้นล่างในสังคม โดยสังคมไทยเห็นว่ากัญชาเป็นของไม่ดีและคนเสพเป็นคนไม่ดี”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีประกาศ ‘ปลดล็อก’ ถอดกัญชา (และกัญชง) ออกจากบัญชียาเสพติด เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เปิดให้ประชาชนจดแจ้งการปลูกในครัวเรือนได้ โดยมีเงื่อนไขให้ปลูกในปริมาณที่กำหนดเพื่อใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพ หรือเป้าหมายทางการแพทย์ จึงมีเสียงตอบรับทั้งเชิงบวกและเชิงลบ
ผู้สนับสนุนนโยบายกัญชาเสรีที่หนุนให้คนปลูกและใช้งานกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ล้วนแสดงความยินดี ขณะที่หน่วยงานด้านสุขภาพจิตและเครือข่ายผู้ปกครอง รวมถึงบุคลากรการแพทย์จำนวนหนึ่งมองว่า การเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาที่ไม่มีการกำกับดูแลหรือควบคุมในกลุ่มคนบางกลุ่มอาจเป็นอันตราย เพราะผู้บริโภคอาจไม่ได้รับข้อมูลที่รอบด้าน
แม้กัญชาจะไม่นับเป็นยาเสพติดแล้ว แต่ก็ยังมี ‘ความเสี่ยง’ อยู่ดี
หากสิ่งที่ทำให้ต้องถกเถียงกันจริงจังเป็นเพราะหลังปลดล็อกกัญชา 1 สัปดาห์ มีข่าวผู้ล้มป่วยและเสียชีวิตที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการใช้กัญชา แต่ก็มีข้อถกเถียงว่าเป็นเพราะผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวก่อนใช้กัญชาหรือไม่ ทั้งยังมีรายงานว่าเยาวชนทดลองกินผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาแล้วล้มป่วย บางร้านค้าผสมกัญชาในอาหารและไม่แจ้งลูกค้าจนเกิดล้มป่วย รวมถึงข่าวตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติซึ่งมีน้ำผสมกัญชาขาย ตัดสินใจถอดเมนูดังกล่าวออกจากตู้ที่ให้บริการในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้ออกประกาศ สธ. ในวันที่ 17 มิถุนายน 2565 หรือกว่าหนึ่งสัปดาห์หลังจากปลดล็อกกัญชา โดยระบุให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
ท่าทีดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนไม่น้อย แต่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนหนึ่งมองว่า ยังต้องรณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและหามาตรการกำกับดูแลการใช้งานกัญชา เพราะการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์และนันทนาการนั้นมีประโยชน์จริง แต่ก็ต้องเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลผลกระทบจากการใช้กัญชาในชีวิตประจำวันในรูปแบบอื่นๆ เช่นกัน และต้องดำเนินควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีสินค้าจากกัญชาที่ไม่ผูกขาดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือป้องกันการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน
แม้แต่ผู้เขียน พันธุ์หมาบ้า ซึ่งถูกยกให้เป็นตำนานคนสายพันธุ์กัญชา ‘ผู้มาก่อนกาล’ ก็มีข้อความส่งไปถึงผู้อ่านที่ยังเยาว์วัยเช่นกัน เพราะประสบการณ์ที่บอกเล่าผ่านตัวอักษรก็สะท้อนว่าหนทางไปสู่ความเมามายของกัญชานั้นไม่ใช่เรื่องยาก แม้แต่อดีตที่มีกฎหมายควบคุมเอาไว้ชัดเจนก็ตาม
“สำหรับผู้อ่านที่ยังอยู่ในวัยรุ่น–วัยคะนอง ผมใคร่ขอร้องว่าขอให้อ่านเรื่องนี้อย่างพินิจพิจารณา ไตร่ตรองให้รอบคอบ เรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นแม่แบบที่โก้เก๋เพียงผิวเผิน ไม่ใช่เป็นแม่แบบที่ดีสำหรับการดำเนินชีวิต ตรงข้าม กลับเป็นอุทาหรณ์ให้พึงสังวรไว้ว่า ชีวิตวัยรุ่นนั้นแม้ก้าวพลาดเพียงก้าวเดียว อาจทำให้ชีวิตหันเหเป็นอย่างอื่น ที่เราต้องมาเสียใจในภายหลัง”
“ในบรรดา ‘เพื่อน’ ของผมกลุ่มนี้ ถึงวันนี้ เสียชีวิตไปแล้วถึงเจ็ดคน เสียชีวิตไปทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวัยอันสมควร เสียชีวิตไปกับยาเสพติดบ้าง อุบัติเหตุอันเกิดจากความเมามายบ้าง ถูกดักทำร้ายบ้าง ซึ่งล้วนแต่สร้างความเสียใจให้กับคนที่อยู่ข้างหลังทั้งสิ้น…”
อ้างอิง
- Readery. พันธุ์หมาบ้า. https://bit.ly/3ObPnXs
- ชาติ กอบจิตติ. พันธุ์หมาบ้า ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 20 สำนักพิมพ์หอน. เดือนสิงหาคม 2546. (หน้า 10-11 (ความใน) และหน้า 208, 231, 535)
- 101World. กัญชาสนทนา กับ ‘เล็กฮิป’ พันธุ์หมาบ้า. https://bit.ly/3Hw0iJf
- TCI-THAIJO. กัญชาในวิถีชีวิตชาวไทยสมัยก่อน: ข้อมูลจากวรรณกรรมบางเล่ม. https://bit.ly/3xvQo64
- BBC Thai. กัญชา: สธ. ออกประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม หลังเปิด “กัญชาเสรี” ครบสัปดาห์. https://bbc.in/3NZLtkQ