รู้จัก Mappa กับบทบาทใหม่ ที่อยากเป็นเพื่อนการเติบโตของคนทุกวัย ไม่ใช่แค่เด็กๆ
หลายคนอาจไม่รู้จัก ‘Mappa’
แต่หลายคนก็อาจจะรู้จัก Mappa โดยเฉพาะพ่อแม่บางส่วนที่มี Mappa เป็นเหมือนคลังความรู้และเพื่อนในการเลี้ยงลูก บางคนอาจคุ้นหูคุ้นตาว่า Mappa ออกแบบการเรียนรู้ บางคนอาจเคยเห็น Mappa ผ่านตาจากคอนเทนต์ออนไลน์และยังไม่แน่ใจนักว่า Mappa ทำอะไร เพราะแม้หลายปีที่ผ่านมา Mappa มักจะแนะนำตัวว่าพวกเขากำลังทำเรื่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว แต่หลายๆ คอนเทนต์ที่ออกมาจาก Mappa กลับแตะเรื่องที่ไกลและกว้างกว่านั้น เรื่องวัฒนธรรม เรื่องความสัมพันธ์มากมายหลายแบบ เรื่องความหลากหลาย เรื่องสิ่งแวดล้อม และสารพัดเรื่องในโลก
แต่ถ้าคุณอยากรู้จัก Mappa มากกว่านี้และสงสัยว่าพวกเขากำลังทำเรื่องอะไรอยู่ เราอาจตอบได้กว้างๆ ด้วยคติพจน์ของ Mappa ที่เด่นหราอยู่บนเว็บไซต์อย่าง
“ถ้าหากดอกไม้ไม่ผลิบาน เราไม่อาจแก้ที่ดอกไม้ เราดูแลระบบนิเวศของดอกไม้”
เพราะที่จริงประเด็นหลักๆ ที่ Mappa พูดถึงก็คือเรื่องของเด็ก เยาวชนและครอบครัว แต่การเติบโตของเด็กคนหนึ่งนั้นไม่ได้ข้องเกี่ยวเพียงแค่กับตัวเด็กเอง พ่อแม่ ครอบครัวหรือแม้แต่โรงเรียน เพราะการเติบโตของเด็กยังโยงใยไปหาแทบทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก และนั่นคือสิ่งที่ Mappa กำลังพูดถึง
Mappa Land ดินแดนที่เกิดจากคำถามที่ว่า ‘เพราะอะไรเจ้าป่าต้องไปเป็นเด็กปั๊ม’
ถ้าให้พูดถึง Mappa ที่ทำงานด้านการเรียนรู้ซึ่งเชื่อว่าความรู้นั้นกว้างกว่าในรั้วโรงเรียน งานที่ Mappa ทำมีทั้งส่วนของ Learning Design หรือการออกแบบการเรียนรู้ ที่มีงานหลายส่วนอยู่ใต้ร่มคันใหญ่นี้ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน เวิร์กช็อป การออกแบบ tool box หรือกระทั่งการจัดเทศกาล และส่วนของ Mappa Media ที่เป็นสื่อออนไลน์
“ที่จริง Mappa เกิดจากตอนที่มีลูก เมื่อก่อนเราเป็นคนบ้าตำรา มีลูกก็อ่านหนังสือหรือสื่อเยอะมาก แต่มันก็มีทั้งข้อมูลที่เราสงสัยว่าจริงไหมและ How-to เยอะแยะไปหมด เลยตั้งคำถามว่าเราจะเชื่อใครดีและมันควรเชื่อไหม เพราะท้ายที่สุดข้อมูลนั้นก็ไม่ได้เขียนจากการรู้จักลูกเราแต่เขียนขึ้นจากลูกของเขาหรือเด็กคนอื่น”
‘มิรา เวฬุภาค’ CEO และผู้ก่อตั้ง Mappa เล่าถึงที่มาที่ไปของ Mappa ในบทบาทของแพลตฟอร์มที่พูดเรื่องการเรียนรู้ของพ่อแม่
“แต่ถ้าเป็นเรื่องการเรียนรู้ที่ลึกลงไปหน่อย ที่เป็น Learning designer (นักออกแบบการเรียนรู้) ก็มีช่วงหนึ่งที่พาลูกไปจะนะ (อ.จะนะ จ.สงขลา) เพื่อให้คนที่นั่นสอนลูกเรื่องการตกปลา ฟังลม เข้าใจธรรมชาติ เป็นคอร์สธรรมชาติที่พาเด็กไปอยู่ในทะเล แต่เรากลับพบว่าเด็กในหมู่บ้านต้องไปเรียนหนังสือ ไม่ได้ออกทะเล เราเลยสงสัยว่าความรู้ที่เราให้คุณค่าควรเป็นเรื่องอะไรกันแน่ การเรียนรู้ควรเป็นเรื่องหลักสูตรแกนกลาง หรือเป็นเรื่องที่มันอยู่ในชีวิตเขา เราเคยคุยกับชาวปกาเกอะญอ เขาพูดว่าการศึกษาเหมือนเอาเจ้าป่าไปเป็นเด็กปั๊ม เพราะพวกเขาที่มีความคุ้นเคยกับป่า มีความเชี่ยวชาญเรื่องป่า จะมาพูดหรือเขียนได้ดีเหมือนคนเรียนภาษากลางได้ยังไง เราเลยตั้งคำถามว่าการศึกษามันช่วยขับเน้นหรือลดทอนคุณค่าของคนกันแน่”
เธอกำลังพูดถึงที่มาของการทำ Application ที่ชื่อว่า Mappa ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ Mappa
ก่อนจะมาเริ่มต้นกับ Mappa มิราทำงานด้านการศึกษามานานแล้ว แต่ประสบการณ์การพาลูกไปจะนะครั้งนั้นเองที่ทำให้คำถามที่เธอตั้งต่อระบบการศึกษามาตลอดยิ่งชัดขึ้น ว่าอะไรกันแน่คือสิ่งที่ลูกควรได้เรียนรู้ในระหว่างการเติบโต การทำ Mappa จึงไม่ใช่การ ‘ให้’ คำตอบกับคนอื่นๆ แต่คือการชวนผู้คนมาร่วมแสวงหาคำตอบให้กับคำถามนั้นด้วยกัน
“ตอนนั้นเลยคิดว่าต้องทำแอปพลิเคชันเพราะเราอยากให้คนที่เก่งอะไรก็มีแพลตฟอร์มไว้สอนด้านนั้น แต่ทำไปทำมามันก็ต้องทำระดับเด็กเล็กก่อน ดังนั้นเลยไม่ได้เน้นไปที่ความสนใจเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องของทักษะพื้นฐาน (Foundational skill)”
Mappa จึงเป็นแอปพลิเคชันที่ถูกออกแบบโดยใช้หลักการของ Gamification มาเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็กๆ วัย 3-8 ขวบ หรือที่เรียกว่า ‘นักผจญภัย’ และครอบครัวหรือผู้ดูแลที่เรียกว่า ‘คู่หู’ ที่จะได้ผจญภัยกันใน Mappa Land ดินแดนที่เหล่าสปิริตหรือทักษะที่ถูกหลงลืมและไม่ถูกให้ความสำคัญในระบบการศึกษามารวมตัวกันอยู่ รอให้เหล่านักผจญภัยและคู่หูได้มาพบเจอและทำความรู้จักกับพวกเขา
ในตอนนี้ ก้าวแรกของแอปพลิเคชัน Mappa เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ใช้งานแล้ว ขั้นต่อไปจึงเป็นการทดลองพัฒนาแอปดังกล่าวไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น
“อย่างตอนนี้มีของมิวเซียมสยามที่ไม่ใช่ทักษะพื้นฐานแล้ว แต่เป็นเรื่องการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ มันเป็นการทำปริศนาคำทายขึ้นมา ให้ทุกคนสนุกกับมันได้และได้สำรวจพิพิธภัณฑ์ เอาแอปไปเป็นไกด์นำทางในการทำกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์ ก็เริ่มมีแบบนี้มาบ้างแล้ว”
การออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่อยู่ในกรอบความมุ้งมิ้ง
อย่างที่เราเกริ่นไปตั้งแต่ต้น ความจริงแล้วแอปพลิเคชัน Mappa ก็เป็นส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งใต้ร่มที่ใหญ่กว่า นั่นคืองาน Learning design หรือการออกแบบการเรียนรู้ ซึ่งหากอธิบายอย่างง่ายที่สุด การออกแบบการเรียนรู้ก็คือการออกแบบวิธีพาคนจากจุด A มายังจุด B
“ระหว่างจุด A กับจุด B ก็มีสิ่งที่เรียกว่า gap (ช่องว่าง) สมมติเราบอกว่าเราอยากเป็นหมอ แต่เราไม่รู้จักอวัยวะเลย มันก็จะเกิด gap ที่เรียกว่า Knowledge gap (ช่องว่างด้านความรู้) หรือเราบอกว่าเวลาผ่าตัดเรามือสั่น ไม่คุ้นเคยก็ต้องทำบ่อยๆ จนคุ้น อันนี้ก็เป็น Skill gap (ช่องว่างด้านทักษะ) มันก็ต้องมาดูว่า gap ที่ทำให้เราเดินจาก A ไป B ไม่ได้คืออะไร พอรู้เสร็จมันก็จะเข้าสู่กระบวนการว่าเราจะอุด gap ยังไง มีเครื่องมืออะไรในการเติมช่องว่างบ้าง อย่างทักษะมันคือการทำซ้ำๆ ก็ต้องคิดว่าทำยังไงให้คนทำซ้ำๆ หรือ Knowledge gap ก็คือทำยังไงให้คนจำได้เร็วขึ้น หรือถ้าใครอยากลดน้ำหนักแต่ลดไม่ได้ ก็จะเรียกว่าเป็น Habit gap (ช่องว่างด้านพฤติกรรม)
“ซับซ้อนกว่านั้นคือถ้าคนไม่อยากไป B แล้ว อยากไป B1 อยากไป C หรือ D เพราะไม่อยากทำสิ่งนี้แล้ว ก็ต้องมีคำถามถามเช็ก มันก็จะต้องต่อยอดไปเรื่อยๆ พอเรารู้ gap มันก็จะเป็นกระบวนการการออกแบบ”
นอกจากการหา gap ระหว่างจุด A และจุด B และการออกแบบการเรียนรู้เพื่ออุด gap ดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ Mappa ให้ความสำคัญในการออกแบบก็คือเรื่องของ Visual design
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อพูดถึง Visual design แล้ว เรามักจะพบว่าสื่อสำหรับเด็กในประเทศไทยมักจะมีดีไซน์ที่เน้น ‘ความน่ารัก’ ตามกรอบการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ เช่น พี่หมูอ้วนพี พี่หมีกอดอุ่น กระต่ายตาแบ๊ว และตัวละครสุดกุ๊กกิ๊กที่สะท้อนมุมมองที่เรามีต่อเด็ก ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ Mappa พยายามหลีกเลี่ยงในการออกแบบการเรียนรู้
“ถ้าเราไปดูดีไซน์ของ Mappa มันจะผสมระหว่างความกุ๊กกิ๊กกับความ witty ซึ่งเป็นมุมมองที่เรามีต่อเด็กและเป็นอีกอย่างที่เราพยายามจะทำ เราพยายามจะดีไซน์ให้สังคมเข้าใจว่าเด็กไม่ต้องบริโภคแค่ของกุ๊กกิ๊กหรือตัวละครตาแบ๊ว ซึ่งอาจทำให้เด็กมองโลกด้านเดียว ความสวยงามมีแบบเดียว ไม่มีความสวยงามที่หลากหลาย เพราะที่จริงเรื่องราวที่เด็กเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยของเขามันไม่ได้มีแต่เรื่องกุ๊กกิ๊ก มันมีเรื่องลบๆ ด้วย ในวัยเด็กบางทีเราก็แอบอยากลองเป็นขโมยหรืออะไรแบบนี้ มีการพูดเรื่องพวกนี้ได้ด้วยเหมือนกัน เด็กควรจะได้เข้าใจเนื้อหาพวกนี้ได้โดยที่ไม่ต้องแอบซ่อนด้วยเหมือนกัน”
“พูดได้ไหมว่าเวลาที่เราจะออกแบบ สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือการไม่ตีตราว่าเด็กต้องเป็นยังไง” เราถาม
“ใช่” มิราตอบแทบจะในทันที “พอเราทำแบบนั้นมันไม่ได้จบแค่เราตีตราเด็ก มันจบที่โลกของเด็กแคบลงด้วย เพราะจริงๆ เราควรปลูกฝังให้เด็กๆ เห็นความงามในความหลากหลาย แต่บางครั้งผู้ใหญ่ไปขัดขวางกระบวนการเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่ว่าเราเป็นคนไม่ดีถึงทำแบบนั้น แต่เราทำไปโดยไม่รู้ตัวเพราะคิดว่าลูกเราจะต้องได้ของที่ดีที่สุด น่ารักที่สุด เราเลยเลือกอะไรแบบนั้นไป หรือความเข้าใจที่ว่าเรื่องลบๆ อารมณ์ลบๆ ไม่เหมาะกับเด็ก
“เรารู้สึกว่าเราไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ที่มองโลกแคบ เราอยากเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจว่าศิลปะหรืองานต่างๆ ที่ถูกสร้าง คุณค่าที่แท้จริงของมันคืออะไร บางครั้งเมื่องานถูกเคลือบด้วยความน่ารัก มันก็ไปไม่ถึงแก่นที่ควรสื่อสารกับเด็ก มีนักวาดภาพประกอบหลายคนเลย ที่ถามว่าวาดอันนี้จะดีเหรอคะ เด็กเขาจะเป็นอะไรไหม เราก็บอกว่าเด็กเข้าใจได้ เด็กเข้าใจตัวประหลาดบนโลกได้ตั้งเยอะตั้งแยะ ทำไมจะเข้าใจมันไม่ได้ สิ่งที่อยู่ในหัวเด็กมันประหลาดกว่าสิ่งที่คุณวาดตั้งเยอะ” เธอตอบพลางหัวเราะ
Relearn Festival เทศกาลที่ชวนคนมาเรียนรู้ผ่านการ Unlearn และ Relearn
“การทำ Mappa มันทำให้เราได้โอกาส มันได้สนามทดลองเรียนรู้เยอะมาก Relearn ก็เป็นหนึ่งในสนามทดลองที่เป็นโอกาสที่ดีมากๆ มันจะมีสักกี่คนบนโลกที่ได้ออกแบบเทศกาล แล้วคนมาเทศกาลเราก็บอกว่าโอ้โห หัวบวมมาก คอนเทนต์เยอะเพราะว่าเราจัดทุกอย่างที่เราอยากทำลงไปในนั้น และเทศกาลเรามันก็ไม่ได้เจอแค่นิทรรศการอย่างเดียวหรือเจอแค่เวทีอย่างเดียวแล้วไม่มีอย่างอื่น เพราะมันจะมีการผสมผสานทุกอย่างในนั้น”
เธอกำลังพูดถึงมหกรรม Relearn Festival อีกหนึ่งงานใหญ่ของ Mappa ที่อยู่ใต้ร่ม Learning design ซึ่งเริ่มจัดครั้งแรกในปี 2562 ให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงลูก แต่ต้องหยุดชะงักไปเพราะการระบาดของ COVID-19
“ตอนทำงาน Relearn ปีแรก มันเกิดจากการลองทำไปก่อน แล้วดูว่าพ่อแม่เอาด้วยไหม ต้องบอกเลยว่ามันเกิดขึ้นจากพ่อแม่เลย เพราะว่าพอมันมีคนเอาด้วยแปลว่ามันมีคุณพ่อคุณแม่เหล่านั้นที่ไม่ได้มองความสวยงามแบบเดียว ไม่ได้มองว่าเด็กเป็นผ้าขาว ไม่ได้มองว่าเด็กเป็นผู้ด้อยกว่า เขาอยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เลยก็มารวมตัวกัน ก็ยังเป็นพ่อแม่ที่ยังอยู่ด้วยกันจากปีหนึ่งถึงปีสาม
“การจะ relearn มันต้อง unlearn ก่อน แต่ unlearn มันเอามาเป็นชื่องานไม่ได้ เลยใช้ relearn” มิราตอบพร้อมอารมณ์ขันเมื่อเราถามว่าเพราะอะไรจึงต้องเป็นคำว่า ‘relearn’
“การ unlearn มันเป็นความกล้าหาญมากและเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้า unlearn ได้ relearn ก็จะตามมาเอง เพราะถ้าเรายึดติดบางอย่างมากๆ เราไม่สามารถปล่อยวางมันได้เลย มันก็จะไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน ครอบครัวเลย แต่เราคิดว่ามันเกี่ยว มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องมา unlearn คำว่าครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและมีหมาหนึ่งตัวอยู่บนโซฟาสักที”
หลังจากหยุดไปเพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 Relearn Festival ก็กลับมาจัดอีกครั้งในปี 2024 ภายใต้แนวคิด Co-Creating Next Generation ที่เชื่อว่าระบบนิเวศรอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ บ้าน โรงเรียน พื้นที่เรียนรู้ สังคม หรือแม้แต่นโยบายนั้นล้วนเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง
“งาน Relearn มีเนื้อหาสองชั้น เด็กเข้ามาเขาก็จะมีสารที่สื่อถึงเขา ผู้ใหญ่เข้ามาก็จะมีสารของเขาด้วย เราคิดถึงคนร่วมงานหลายกลุ่ม แต่ว่าวัตถุประสงค์หลักของงานก็ยังคงเป็นปรัชญาการทำงานของเรา คือถ้าดอกไม้ไม่บานเราจะไม่แก้ดอกไม้ เราแก้สภาพแวดล้อม จริงๆ คอนเทนต์ในงานคือการให้เด็กเป็นตัวล่อพาผู้ใหญ่มาเรียนรู้ใหม่”
สำหรับ Relearn Festival ในปีนี้ที่จัดที่มิวเซียมสยามทุกสุดสัปดาห์ ยาวถึงหนึ่งเดือนเต็ม ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2568 ไปถึงวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ กลับมาพร้อมกับแนวคิด Intergeneration หรือการอยู่ร่วมกันของคนระหว่างวัย ที่จะเปิดพื้นที่ให้คนหลากวัยได้มาทำกิจกรรมร่วมกันด้วยมุมมองที่เปิดกว้างและโอบรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ
“ปีนี้คือหัวข้อ Intergeneration ว่าการอยู่ร่วมกันมันคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไปจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงบ้านก็ไม่ต้องมีห้องหรือกำแพงเลยไหม ซึ่งความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องมีพื้นที่ของเรา แต่เราแค่ไม่ทิ้งพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งไป เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองและเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่นด้วย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราอยากให้ระบบนิเวศรอบตัวเด็กเข้าใจประเด็นบางอย่างในเรื่องนี้
“และปีนี้ยังมีเรื่องของพื้นที่ปลอดภัย ที่เราจะมาเรียนรู้กันสักทีว่าพื้นที่ปลอดภัยที่เราพูดกันจนเป็นคำที่มันเฝือๆ มันคืออะไรกันแน่ พูดไปใครก็พูดได้นะว่าเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน แต่สุดท้ายมันก็ไม่ปลอดภัยอยู่ดี และพื้นที่ปลอดภัยนั้นมันมีจริงไหม หรือว่าใครเป็นคนสร้าง มันสร้างฝ่ายเดียวได้ไหม ก็เป็นเรื่องที่เราจะตั้งคำถามกันในงาน relearn”
มิราเปรียบเทียบการแบ่งแยกช่วงวัยออกเป็นเจเนอเรชันต่างๆ ให้เราฟังด้วยการเปรียบเทียบไพ่สำรับหนึ่งที่มีไพ่ครบทุกใบซึ่งทุกคนเกิดมาพร้อมไพ่สำรับนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราแต่ละคนจะเลือกทิ้งไพ่บางอย่างไป
“เช่นบางคนที่เป็นลูกคนจีนซึ่งมีค่านิยมเรื่องความขยัน เราก็จะทิ้งไพ่ความขี้เกียจไป แล้วกับไพ่ความขยันไว้ หรือบางทีเราอาจจะเลือกเก็บไพ่ความขี้เกียจไว้เลยเพราะอยากประชดชีวิต ในกระบวนการของชีวิตเรา มันคือกระบวนการทิ้งไพ่แล้วก็เก็บไพ่ เก็บไพ่คือการอธิบายตัวเราด้วยไพ่ที่เราถือในมือ ส่วนไพ่ที่เราทิ้งไปคือไพ่ที่เราไม่เห็นคุณค่า เราไม่ชอบ เราไม่อยากเป็น เราไม่อยากมี
“ประเด็นก็คือเวลาที่เราอธิบายตัวเองว่าเราเป็น Gen Z เราก็จะถือไพ่ Gen Z ไว้ Gen Y ก็ถือไว้สำรับหนึ่ง ทีนี้ถ้าเราต่างคนต่างถือแล้วเราไม่เรียนรู้จากกัน มันก็จะเกิด crack คำว่า Generation gap มันเหมือนเป็นเส้นบางๆ ที่กั้นคน แต่คำว่า gap ในกระบวนการการเรียนรู้คือถ้าเจอ gap ยังไงก็ต้องทำ Learning design ถูก แต่ Generation gap มันถูกอธิบายคนละอย่างกัน ดังนั้นเราเลยคิดว่าถ้าอย่างงั้นเราจะเปลี่ยน Generation gap เป็น Learning gap ได้ไหม ทำให้ขอบเขตที่มีอยู่ระหว่างเราเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ไหม แต่คนที่มางานจะไปเรียนรู้ยังไงก็เรื่องของเขา เราแค่สร้างโอกาส เอาคนหลากหลายวัยมารวมกัน และสร้างเงื่อนไขบางอย่างให้เขารู้จักกันได้ไหม เราก็จะแปลงคอนเซ็ปต์ให้เป็นประสบการณ์เพื่อให้คนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน”
Relearn Festival ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่ Mappa ขนกิจกรรมมาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเวทีสนทนาที่ชวนคนต่างวัยมาแบ่งปันมุมมองเรื่อง Intergeneration ร่วมกันและเวทีทอล์กของเหล่าคุณพ่อ
สนามเด็กเล่นที่ออกแบบโดยทีม Little Lot ที่ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองมาสังเกตการเล่นของเด็กๆ ว่าหากไม่มีการแทรกแซงจากผู้ใหญ่แล้ว เด็กๆ เรียนรู้อะไรได้จากสนามเด็กเล่น การเล่นเปลี่ยนไปกี่แบบ เด็กสร้างการเล่นอย่างไร ทะเลาะกันกี่หน คืนดีกันกี่ครั้ง และกิจกรรม ‘InterGen Beat Play ต่างวัย แค่เปิดใจก็ล้าลาลา’ ที่พาคนต่างวัยมาทำเพลงร่วมกัน
นิทรรศการ Safe Space ที่ชวนทบทวนถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน และชวนพูดคุยว่าที่จริงแล้วพื้นที่ปลอดภัยคืออะไรกันแน่ และเราจะสามารถเข้าๆ ออกๆ จากพื้นที่นั้นได้ไหม
กิจกรรมจาก Papa Project ที่มาพร้อมกิจกรรมมากมาย เช่น การพาคนหลายวัยตะลุยไปในเมืองดิสโทเปียที่แตกสลายเพราะการแบ่งแยก เพื่อกอบกู้เมืองนี้ขึ้นมาอีกครั้งผ่านการทำของเล่นและสิ่งประดิษฐ์ ก่อนขยับไปอีกขั้นด้วยการประดิษฐ์สิ่งของโดยไม่พูดกัน และการทำให้เมืองไร้ขยะ
“อย่างโซนหนึ่งก็จะเป็นโซนชื่อ Museum of Generation: Matter of Time ก็เป็นไทม์ไลน์การศึกษาจากก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงยุคปัจจุบัน” มิรายกตัวอย่างกิจกรรมในงาน Relearn Festival ครั้งนี้อย่างนิทรรศการซึ่งเล่าเรื่องไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การศึกษาไทยที่พาผู้คนย้อนไปทำความเข้าใจถึงการเติบโตของคนหลากหลายวัย
“เราจะพาคนเข้าไปสัมผัสการศึกษาห้ายุค ตั้งแต่ยุคที่ผู้หญิงไปโรงเรียนไม่ได้ ต้องเรียนอยู่ที่บ้านหรือร้อยมาลัย หรือมียุคที่เราต้องผ่านเรื่องติวข้อสอบเอนทรานซ์ ซึ่งเนื้อหาในนิทรรศการดูเผินๆ ก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องการศึกษา แต่จริงๆ คือการชวนคิดว่าระบบที่ทำให้คนคนหนึ่งเติบโต มันต่างกันมากเลย ในยุคนี้เราเลือกการศึกษาได้ ในขณะที่ตอนนั้นบางคนไม่ได้ไปโรงเรียน ยายเราไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะเขาเกิดในสังคมที่แบ่งแยกหญิงชายชัดเจน ซึ่งทำให้เขาเข้าใจค่านิยมใหม่ๆ ได้ยาก เพราะมันไม่ได้ปรับตัวได้ง่ายขนาดนั้นเนื่องจากพื้นฐานการเติบโตเขาเป็นแบบนั้น นี่คือสิ่งที่ตัวนิทรรศการพยายามจะบอก
“เราทำให้มันดูเป็นงานที่รื่นรมย์ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าการเรียนรู้ประเด็นบางอย่างที่มันดูยากนั้นมันไม่ได้ยาก” นี่คือสาเหตุที่ Mappa ใช้การเล่นมาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้
“ตัวกระบวนการออกแบบเองก็เป็นภารกิจของคนออกแบบเหมือนกัน ตอนตั้งเป้าว่าจะทำประเด็น Intergeneration ในช่วงการทำนิทานเพื่อเป็นหนังสือคอนเซ็ปต์ของงานนี้ มันชัดสุดเลยว่าเราเป็นคนชอบคำตอบตายตัวโดยไม่รู้ตัว เพราะเราอ่านนิทานที่มันจบแบบสุขนิยมมาตั้งแต่เด็ก แต่ระหว่างการทำนิทานเล่มนั้นเราก็มองชีวิตว่า อ้าว มันไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ที่คนต่างวัยกันจะอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ตลอดเวลา ไม่มีขอบเขต ไม่มีหมู่พวก มันยากมาก เราเลยรู้สึกว่านี่มันไม่ใช่ความจริงแล้ว ดังนั้นเราก็ควรจะเปลี่ยนความเข้าใจ
“ที่จริงเราค้นคว้าค่อนข้างเยอะด้วย แล้วก็คิดเยอะเลยว่าอะไรทำให้เกิดการแบ่งเจเนอเรชัน ก็พบว่า echo chamber ทำให้เกิดการแบ่งแยก ทำให้เกิดพวกฉันพวกเธอ
“พอไปค้นคว้า เราพบว่าอยู่ดีๆ ก็มีนักเขียนคนหนึ่งแบ่งคนออกเป็นช่วง ช่วงละ 10 ปี แล้วทุกคนก็เชื่อแบบนี้เลย แล้วทุกคนตอนนี้ก็ยอมรับว่าเรามีเจเนอเรชันและยอมเรียกตัวเองว่าสิ่งนั้นแล้ว ซึ่งจริงๆ นักเขียนคนนั้นก็อธิบายทางสังคมนะไม่ใช่ว่าไม่มีข้อมูลเลย แต่ว่าเราเชื่อแบบไม่มีเงื่อนไขเลย งานนี้ก็เลยเหมือนเราพาคนมาตั้งคำถามกับกรอบความเชื่อที่ไม่มีเงื่อนไขนี้ว่าทำไมเราถึงเชื่อ แล้วเราก็พร้อมสร้างกรอบขึ้นมาด้วยว่าฉันเป็น Gen Y นะ เธอเป็น Gen Z นะ อย่ายุ่งกัน”
การชวน ‘ตั้งคำถาม’ ดูจะเป็นหัวใจสำคัญของแนวคิดในการจัดงาน Relearn ขึ้นมาแต่ละครั้ง เพราะแม้หลายคนอาจจะตั้งใจมาเพื่อหาความรู้ หาคำตอบและบางคนอาจจะได้คำตอบกลับไป แต่ Relearn Festival นั้นออกแบบมาเพื่อเป็นการชักชวนผู้คนเข้ามาร่วมทำภารกิจของตัวเองเพื่อร่วมแสวงหาคำตอบที่แตกต่างกันไป มากกว่าจะเป็นการหยิบยื่นคำตอบตายตัวให้กับผู้ที่มาร่วมงาน
“ปีที่แล้วทำเสร็จหลายคนมาชมว่างานดีมาก ชอบทุกอย่างเลย แต่ว่างานมันสื่ออะไรนะคะ ช่วยสรุปให้หนอ่ย” มิราเล่าปฏิกิริยาของคนที่มาร่วมงาน “เพราะบางทีคนต้องการคำตอบที่มันชัดไปเลย แต่เรามีหน้าที่แค่สร้างสภาพแวดล้อมและประสบการณ์บางอย่างเพื่อให้เขาเข้ามาในภารกิจนี้ ซึ่งเขาจะเจอคำตอบอะไรหรือไม่เจอมันขึ้นอยู่กับเขา เราเพียงแค่ออกแบบให้เขาเข้ามาเจอการเดินทางของตัวเองแล้วก็เดินทางไปในงาน Relearn ด้วยกัน บางคนอาจไปเข้าใจบางอย่างจากละครที่เราเอามาแสดง บางคนอาจเข้าใจผ่านเพลง บางคนอาจเข้าใจผ่านสนามเด็กเล่น ก็แล้วแต่ว่าเขาจะเข้าใจมันผ่านอะไร”
จากเด็ก เยาวชน และครอบครัว สู่เพื่อนการเติบโตของคนทุกวัย
งานอีกส่วนของ Mappa ที่น่าจะเป็นที่คุ้นเคยของหลายๆ คนก็คือ Mappa Media หรือการทำสื่อออนไลน์ซึ่งจริงๆ แล้วเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอีกช่องทางในการประชาสัมพันธ์และรองรับแอปพลิเคชัน Mappa แต่เมื่อช่องทางดังกล่าวเติบโตขึ้น Mappa Media จึงกลายเป็นช่องทางการสื่อสารประเด็นการเรียนรู้ของพ่อแม่ที่ขนาบไปกับการเรียนรู้ของลูก
“ช่วงแรกเราจะพูดเรื่องที่ว่าไม่มีหรอกการเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์ หรือไม่มีหรอกการเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เติบโตแล้วไม่มีที่ติเพื่อจะได้ไปสอนคนอีกคนหนึ่งหรือเพื่อเป็นเพื่อนเคียงข้างการเติบโตของคนคนหนึ่ง เรายังผิดพลาดได้ งงได้ ผิดพลาดแล้วยอมรับและขอโทษ นี่คือเนื้อหาที่เราพูดถึงในช่วงแรก”
ไม่ต่างอะไรกับการเป็นพ่อแม่ครั้งแรกหรือการทำสิ่งต่างๆ ครั้งแรก Mappa Media เติบโตขึ้นจากการลองผิดลองถูก จากเริ่มแรกที่เนื้อหาเน้นไปที่เรื่องการเรียนรู้และเติบโตของพ่อแม่ควบคู่ไปกับลูก นานวันไปเนื้อหาใน Mappa Media ก็เริ่มขยายขอบเขตกว้างขึ้น กลายเป็นเรื่องของเด็ก เยาวชนและครอบครัว และยิ่งเวลาผ่านไปเนื้อหาก็ยิ่งกว้างไปกว่าเดิม จนบางครั้งดูราวกับว่าเนื้อหาที่ออกมาจาก Mappa Media นั้นแทบไม่ได้เกี่ยวกับอะไรกับเด็ก เยาวชนหรือครอบครัวเลย
แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดอยู่เสมอสำหรับ Mappa คือความเชื่อที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมทั้งสังคมล้วนเกี่ยวข้องกับการเติบโตของเด็กคนหนึ่งทั้งสิ้น เช่นเดียวกัน สิ่งที่เด็กคนหนึ่งประสบพบเจอในระหว่างการเติบโตของพวกเขาก็จะส่งผลมาจนถึงวัยผู้ใหญ่
“Mappa ไม่เคยทำคอนเทนต์ How-to เลี้ยงลูก แต่เราจะทำเรื่องสังคมให้ย่อยแบบเด็กเข้าใจง่ายหรือว่าทำให้พ่อแม่เข้าใจ หรืออะไรที่มันนามธรรมหน่อย เราก็อยากอธิบายให้เขาฟัง แต่ก็ต้องคิดว่าจะอธิบายยังไงดี
“เนื้อหา Mappa ที่ผ่านมามันเลยไม่ได้พูดเรื่องเด็กเท่าไหร่ แต่มันพูดเรื่องการเติบโตซะเยอะ ขณะเดียวกัน หลายๆ เนื้อหามันก็ไปแตะว่าในวัยเด็กเราเป็นยังไง ก็เลยรู้สึกว่าอยากทำคอนเทนต์ที่มันโตขึ้นนิดหนึ่ง เหมือนเป็นคอนเทนต์ที่คนเข้าใจ เด็กก็เข้าใจได้ แล้วผู้ใหญ่ก็เข้าใจด้วย”
‘เพื่อนการเติบโต’ จึงเป็นทิศทางใหม่ที่มิราคาดหวังให้ Mappa เป็นในอนาคต
“เรากำลังคิดว่าจะรีแบรนด์ให้ Mappa กลายเป็นเพื่อนของการเติบโต เด็กจะเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ซึ่งจริงๆ มันอาจจะเริ่มจากการเรียนรู้ของเด็กแหละ เพราะถ้าเราเข้าใจการเรียนรู้ของเด็ก เราก็จะเข้าใจการเรียนรู้ของคนอื่นด้วย”
เช่นเดียวกับการเติบโตของคนคนหนึ่ง การเติบโตในครั้งนี้ของ Mappa ก็มาจากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งจากในที่ทำงานและการสังเกตผู้คนรอบตัวว่า ‘ทุกคนต่างมีทุกข์’ และแม้สารตั้งต้นแนวคิด ‘เพื่อนการเติบโต’ จะดูเป็นสิ่งลบๆ แต่ก็เช่นเดียวกันกับการออกแบบการเรียนรู้สำหรับเด็ก การยอมพูดถึงและยอมรับในเรื่องลบๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการเติบโตก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่นัก
“ประสบการณ์ที่ทำ Mappa มันทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนมีทุกข์ ตัวเราเองก็มีทุกข์ในแบบคน 40 กว่า น้องๆ ก็มีทุกข์แบบคน 20 กว่า เด็กๆ หรือลูกเราก็มีทุกข์แบบเด็กวัย 14 ทุกคนมีทุกข์ของตัวเอง แต่ไม่มีเพื่อน มันไม่มีใครจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจของคนในวัยนั้นได้
“มันไม่ใช่แค่เด็กที่ต้องการเพื่อน เพราะเด็กส่วนใหญ่ก็จะโชคดีมีผู้ใหญ่ ครูหรือกระทั่งโรงเรียนมาเป็นเพื่อนการเติบโตของเขาอยู่แล้ว แต่ผู้ใหญ่ที่โตแล้วกลับไม่มี อย่างเราโชคดีมีเพื่อนที่ด่าเราได้ ทำให้เราเห็นมุมมองบางอย่างที่เรามองไม่เห็น เราก็อยากให้ในสังคมมีคนแบบเพื่อนเราบ้าง เราเลยไม่ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายว่าต้องเป็นคนกลุ่มไหน เรารู้สึกว่าทุกคนมีทุกข์ที่บางทีมันหยุดอยู่ระหว่างเราจะโตดีหรือเราไม่อยากโตดี เราอยากทำงานกับคนที่กำลังรู้สึกแบบนี้”
และในตอนนี้หากจะบอกว่า Mappa เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนมาถึงวัยที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองและกำลังจะเปลี่ยนผ่านก็คงไม่ผิดนัก
“ตอนนี้มันเหมือนเป็นโอกาสว่าสิ่งที่เราอยากเอาออกมาสู่โลกใบนี้คืออะไรกันแน่ เนื้อหามันควรเป็นเนื้อหาที่เกาะกระแสไปเรื่อยๆ หรือเราจะทำนิทานที่มันน่ารักกุ๊กกิ๊กไปเรื่อยๆ เพียงเพราะเรากลัวคนจะไม่ซื้อเหรอ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเปลี่ยนไปแบบตามใจตัวเองจนสุดโต่งเลยนะ เพราะเราไม่ได้มองว่าคอนเทนต์แมสมันไม่มีคุณค่า เพียงแต่ว่าคนทำเยอะแล้ว มันไม่มีประโยชน์เลยที่เราจะต้องทำซ้ำ คนทำเรื่องนั้นดีๆ ได้มีเต็มไปหมดเลย แล้ว Mappa ล่ะทำอะไรออกมาสู่สังคมไทยบ้าง เราก็อยากหาสิ่งนี้ให้เจอ
“จุดนี้มันคือการหาสมดุลในการตั้งคำถาม ซึ่งยังไม่มีคำตอบหรอกว่าที่จริงเราอยากให้มันออกมาเป็นแบบไหน แต่การได้คำถามนี้มามันเป็นเรื่องพิเศษ มันไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย เพราะมันคือการตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วเราอยากทำอะไรกันแน่”
แม้ในตอนนี้คำตอบของคำถามที่ว่าพวกเขาอยากทำอะไรกันแน่อาจจะยังไม่ชัดนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนและยิ่งตอกย้ำความเชื่อของ Mappa ก็คือการเติบโตไม่ใช่เรื่องของการก้าวไปสู่ความสมบูรณ์แบบหรือการค้นพบคำตอบที่ตายตัว
ไม่มีใครเคยเป็นพ่อแม่มาก่อนจนกระทั่งเป็นพ่อแม่ครั้งแรก
ไม่มีใครเป็น Learning designer มาก่อน จนกระทั่งได้ออกแบบการเรียนรู้ดูสักครั้ง
ไม่มีใครเป็นคนจัดเทศกาลมาก่อน จนกระทั่งได้จัดเทศกาลครั้งแรก
ไม่มีใครเป็นสื่อมาก่อน จนกว่าจะได้ลองทำสื่อครั้งแรก
และทุกบทบาทนั้นต่างเติบโตได้ด้วยการลองผิดลองถูก การตั้งคำถาม การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างการแสวงหาคำตอบ และนั่นคือสิ่งที่ Mappa กำลังทำอยู่เช่นกัน