2 Min

“ถึงเวลาแล้วที่เสียงของชาวเมารีรุ่นใหม่จะถูกได้ยิน” สส. วัย 21 ปี ของนิวซีแลนด์กลายเป็นไวรัล หลังแสดง ‘ฮากา’ กลางรัฐสภาเพื่อสะท้อน รากเหง้าและยืนหยัดเพื่อชนพื้นเมือง

2 Min
1671 Views
08 Jan 2024

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา เกิดกระแสไวรัลในหมู่ชาวเน็ตและบรรดาสื่อต่างประเทศที่แห่ชื่นชมสมาขิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่งของนิวซีแลนด์ หลังจากเธอได้แสดง ‘ฮากา’ หรือการเต้นปลุกใจของชนเผ่าเมารีกลางรัฐสภา ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกของเธอ โดย สส. ท่านนี้มีชื่อว่า ‘ฮันนาห์-ราวีตี ไมปี-คลาร์ก’ (Hana-Rawhiti Maipi-Clarke) เธอเป็น สส. ที่มีเชื้อสายเมารี ชนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ ก่อนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทั้งยังเป็น สส. ที่มีอายุน้อยที่สุดในรอบ 170 ปี ด้วยวัยเพียง 21 ปี โดยเธอได้รับคัดเลือกให้เป็น สส. จากการเลือกตั้งระดับชาติของนิวซีแลนด์ครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านมา

‘ฮากา’ คืออะไร?

โดยทั่วไปแล้ว ‘ฮากา’ (Haka) คือการเต้นพื้นเมืองของชาวเมารีที่รวมเอาเนื้อร้อง จังหวะ และท่าทางขึงขังอย่างการตบมือหรือทุบหน้าอกเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างแรงปลุกใจและข่มขวัญศัตรูยามออกรบ ในปัจจุบัน ‘ฮากา’ ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงถึงความภาคภูมิใจของลูกหลานเชื้อสายเมารี เพื่อแสดงถึงความแข็งแกร่งทางกายภาพ ความสามัคคี และจิตวิญญาณที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

โดยการแสดง ‘ฮากา’ ของไมปี-คลาร์ก เป็นส่วนหนึ่งของการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกของเธอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับชาวเมารีในระดับที่มากขึ้น และให้มีการออกกฎหมายที่เป็นธรรมต่อชนพื้นเมือง ก่อนจะกล่าวระลึกถึงข้อเรียกร้องของชาวเมารีเมื่อ 50 ปีที่ก่อน ที่ชื่อว่า ‘เท เปติฮานา’ ( Te Petihana) ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องจากชาวเมารีไปยังเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ เพื่อพิพักษ์วัฒนธรรมและภาษาของตน

โดยเธอได้ใช้การแสดงฮากานี้เพื่อสดุดีรากเหง้าที่แข็งแรงของสายเลือดตนเอง และการยืนหยัดอย่างหนักแน่นต่อแผ่นดินเกิดของชาวเมารีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก่อนที่เธอจะให้คำมั่นสัญญากับประชาชนชาวนิวซีแลนด์ว่า “ฉันจะตายเพื่อคุณ แต่ฉันก็จะมีชีวิตอยู่เพื่อคุณเช่นกัน”

นอกจากนี้ในสุนทรพจน์ดังกล่าว ยังเต็มไปด้วยการใช้ภาษาเมารีอย่างการที่เธอกล่าวว่า “ในเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ รัฐบาลชุดนี้ได้โจมตีโลกทั้งใบของฉัน ทั้งยังทำลายชีวิต ไทเอา (สิ่งแวดล้อม) ไว (น้ำ) เวนูอา (ผืนแผ่นดิน) ทรัพยากรธรรมชาติ หอผู้ป่วยเมารี รีโอ (ภาษา) และทามาริกิ (ลูกหลาน) รวมไปถึงสิทธิของฉันที่จะอยู่ในประเทศนี้ภายใต้ ‘เท ทิรีตี’” (สนธิสัญญาที่อังกฤษรับรองความเป็นเจ้าของดินแดนของชาวเมารี)

เพื่อแสดงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นที่จะดำรงตำแหน่งและเดินหน้าสานต่อนโยบายเพื่อชาวเมารีรุ่นหลัง ก่อนจะสื่อไปยังฐานเสียงของตนว่า “ฉันพร้อมรับใช้คุณทั้งในและนอกสภา ฉันจะตายเพื่อคุณในห้องนี้ แต่ฉันจะมีชีวิตอยู่เพื่อคุณนอกกําแพงนั่น” โดยจากรายงานของ The Guardian แล้ว เธอไม่ได้มองว่าตนเองเป็นนักการเมืองทั่วไป หากแต่มองว่าตนมีบทบาทในฐานะ ‘คาอีเทียคี’ (kaitiaki) หรือผู้พิทักษ์ในภาษาเมารี ที่มีหน้าที่ปกป้องผืนแผ่นดิน ภาษา และภูมิปัญญาดั้งเดิม ของบรรพบุรุษ โดยครั้งหนึ่งเธอกล่าวกับสื่อว่า “ถึงเวลาแล้วที่เสียงของชาวเมารีรุ่นใหม่จะถูกได้ยิน”

อ้างอิง