2 Min

รู้ไหม เวลาผู้ชายอินเดียจูงมือกัน เขาแค่ ‘เพื่อนกัน’ ไม่ได้คิดอะไรเกินเลย

2 Min
834 Views
15 Jun 2022

ท่ามกลางกระแสหนัง RRR ที่โด่งดังใน Netflix กลางปี 2022 สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนที่คุ้นกับหนังแอ็คชั่นตะวันตกแปลกตาไม่ใช่แค่ฉากแอ็คชั่นที่จงใจเว่อร์แบบที่เราไม่รู้จะทึ่งหรือขำดีเท่านั้น และก็ไม่ใช่ฉากเต้นที่คนพอคุ้นกับหนังอินเดียก็คงเคยเห็นอยู่แล้ว แต่เป็นฉากแบบที่ในตะวันตกเรียกว่าโบรมานซ์’ (Bromance) ที่ตัวเอกผู้ชายสองคนสนิทสนมเล่นกันกะหนุงกะหนิง จับมือถือแขนกัน ในแบบที่เราอาจสงสัยว่าพวกเขาเป็น LGBT หรือไม่

ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่!

ตามเรื่อง ทั้งสองคนเป็นชายรักต่างเพศปกติ และก็ไม่มีนัยอื่นใดในเรื่องที่จะบอกว่าสองคนเป็นคู่เกย์และก็ไม่ได้มีองค์ประกอบใดของหนังให้เหล่าสาววายได้จิ้นแต่อย่างใด และนี่ก็นำมาสู่ประเด็นที่เราจะเล่าให้ฟังวันนี้ เรื่องวัฒนธรรมผู้ชายจับมือกันของคนอินเดีย

ในโลกตะวันตก หรือในพื้นที่ตะวันออกไกล การแตะเนื้อต้องตัวกันของผู้ชายไม่ใช่สิ่งที่นิยมกันเท่าไร เพราะคนจะมองว่านั่นเป็นพฤติกรรมของชายรักชายและขนาดประเทศอย่างอังกฤษที่ถือว่ามีความก้าวหน้าและเปิดกว้างทางเพศพอควร กลุ่มคนรักเพศเดียวกันราว 2 ใน 3 ก็ไม่กล้าที่จะจับมือกันในที่สาธารณะ เพราะเสี่ยงต่อการโดนทำร้าย

แต่ที่อินเดีย มันคืออีกโลก

ผู้ชายอินเดียจับมือกันเป็นปกติ และไม่มีใครที่นั่นมองว่าเป็นพฤติกรรมรักร่วมเพศเรียกได้ว่าจับกันตั้งแต่วัยรุ่นยันคนแก่ ในปี 2013 ดาราตลกแคนาดาเชื้อสายปัญจาบ ก็เคยทำเพลงชื่อ The Pinky Song พูดถึงประเด็นนี้ตรงๆ 

ในปี 2018 ช่างภาพอังกฤษอย่าง วินเซนต์ ดอลแมน (Vincent Dolman) ก็เคยถ่ายภาพเอาไว้เป็นซีรีส์เลย ซึ่งในชุดภาพถ่ายก็ค่อนข้างจะชัดมากว่า เขาจับมือกันเป็นปกติ ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะ ยืน นั่ง เดิน โดยดอลแมนก็ได้บรรยายเอาไว้ว่า เขาเคยมองชายอินเดียจับมือกันด้วยสายตาแปลกๆ เพราะไม่คุ้น แต่คนอินเดียก็มองเขากลับด้วยสายตาราวกับจะบอกว่าทำไมเราจะจับมือกันไม่ได้ เราคือเพื่อนรักกัน

ไม่มีใครอธิบายชัดๆ ว่าพฤติกรรมนี้ของผู้ชายอินเดียมาจากไหน บ้างก็ว่ามันเกิดจากการที่วัฒนธรรมอินเดียนั้นไม่อนุญาตให้ผู้ชายและผู้หญิงแตะเนื้อต้องตัวกันในที่สาธารณะ คนอินเดียก็เลยเอาความโหยหาการสัมผัสมนุษย์ไปถาโถมใส่คนเพศเดียวกันแทน 

อย่างไรก็ดี ในหลายๆ วัฒนธรรมในโลกที่ไม่อนุญาตให้ผู้ชายและผู้หญิงแตะเนื้อต้องตัวกันในที่สาธารณะก็ไม่ได้นำไปสู่การจับมือกันของผู้ชายโดยไม่มีนัยทางเพศใดๆ เหมือนในอินเดียแต่อย่างใด

สุดท้าย เราก็คงจะเข้าใจได้ว่ามันเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมซึ่งทุกอย่างมันเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น เราแค่ไม่ชินกับมัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นจริงไม่ได้สำหรับคนกลุ่มอื่น เพราะอย่างน้อยๆ ในวัฒนธรรมไทย ผู้หญิงที่เป็นเพื่อนกันก็จับมือกันได้ตามปกติ เดินจูงมือกันได้ตามปกติ โดยไม่น่าจะมีใครคิดว่าพวกเธอเป็นคู่เลสเบี้ยนแต่อย่างใด

อ้างอิง