ฉลามมาโก เจ้าของฉายา ‘ชีตาห์แห่งท้องทะเล’ แต่ไวแค่ไหนก็ถูกคนไล่ตัดครีบทันอยู่ดี
หากเสือชีตาห์คือสัญลักษณ์ของสัตว์บกที่วิ่งไว ‘ฉลามมาโก’ ก็เปรียบได้กับสปีชีส์คู่ขนานในโลกแห่งมหาสมุทร เพราะมันคือสายพันธุ์ฉลามที่ว่ายน้ำได้ไวที่สุดในโลก จนถูกขนานนามว่า ‘ชีตาห์แห่งท้องทะเล’
ต้องย้ำก่อนว่า ‘ฉลามมาโก’ เป็นสายพันธุ์ฉลามที่ว่ายน้ำไวที่สุด ไม่ใช่สายพันธุ์ปลาที่ว่ายน้ำไวที่สุด หากถามว่าฉลามมาโกว่ายน้ำไวแค่ไหน คำตอบจากสถิติที่มีคนไปเก็บมา พบว่าพวกมันว่ายอยู่ที่ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 50 – 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ก็มีบางรายงานอ้างว่าพวกมันอาจว่ายได้ไวถึง 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนสาเหตุนั้น นักวิทยาศาสตร์อธิบายไว้ว่าพวกมันสามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายได้ดี เลือดที่อุ่นช่วยลำเลียงออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อแดงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการว่ายน้ำ โคนหางที่เว้าเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวและมีความแข็งแรงช่วยให้จังหวะการสะบัดหางขณะว่ายน้ำเป็นไปอย่างราบรื่น
นอกจากนั้น รูปร่างที่ปราดเปรียวยังมีส่วนช่วยให้เกิดแรงต้านทานน้อยกว่าฉลามประเภทอื่นๆ

ฉลามมาโก l wikipedia
ด้วยความเร็วที่วิวัฒนาการประทานให้นี้ พวกมันจึงถือเป็นนักล่าฝีมือฉกาจ สามารถล่าเหยื่อได้อย่างสบายๆ ไม่ว่าจะโลมา แมวน้ำ หรือเต่าทะเล เหยื่อเหล่านี้มักจะถูกจู่โจมโดยไม่ทันตั้งตัวกว่าจะเข้าใจว่าตัวเองกำลังถูกล่า ส่วนหนึ่งของร่างกายก็อยู่ในปากฉลามไปแล้ว
นอกจากเรื่องความเร็ว ฉลามมาโก ยังขึ้นชื่อในฐานะนักกระโดดน้ำ ที่สามารถถีบตัวโดดพ้นน้ำได้สูงแบบเดียวกับโลมา
จุดเด่นอีกอย่างคือพวกมันขึ้นชื่อในเรื่องความฉลาด ในทางกายภาพฉลามมาโกมีอัตราขนาดสมองใหญ่กว่าฉลามสายพันธุ์อื่นๆ
ความฉลาดของฉลามมาโก ได้ถูกอธิบายผ่านแสดงพฤติกรรมการเอาตัวรอด ว่ามีความแตกต่างจากปลาหรือฉลามชนิดอื่นๆ ที่เมื่อถูกจับแล้วมันจะหาทางเอาตัวรอดด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ เช่น การพยายามว่ายวนเพื่อตัดเอ็นให้ขาด บางครั้งมันอาจพุ่งเข้าชนเรือตกปลา หรือบางทีอาจกระโดดขึ้นเรือก็มีให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง
ตรงนี้ต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า เรือที่ว่าเป็นพวกเรือขนาดเล็ก สำหรับกิจกรรมตกปลานันทนาการ ไม่ใช่เรือหาปลาขนาดใหญ่ มิเช่นนั้นการพุ่งชนเรือก็คงไม่เรียกว่าเป็นวิธีที่ฉลาดสักเท่าไหร่
แต่ก็เพราะความเร็ว ความฉลาด และความช่างกระโดดของพวกมันก็กลับกลายเป็นภัยกับตัว เมื่อคนกลับมองว่าการจับฉลามชนิดนี้ได้เป็นเรื่องของความท้าทาย ถึงขั้นที่เกือบๆ จะกลายเป็นธุรกิจกีฬากันเลยทีเดียว
ซึ่งการจับฉลามมาโกในฐานะกีฬาของความท้าทาย ถือเป็นภัยคุกคามอันดับสองที่ทำให้ฉลามสายพันธุ์นี้เริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

ฉลามมาโก l dailylocal
ส่วนภัยคุกคามอันดับหนึ่งนั้น หนีไม่พ้นการทำประมง ซึ่งกรณีของฉลามมาโกถือเป็นสายพันธุ์ที่มีการค้าเนื้อและครีบมากเป็นอันดับต้นๆ หรือพูดได้ว่าเป็นสายพันธุ์ฉลามที่คนตั้งใจจับมากินกันอย่างจริงจัง เอาทั้งครีบไปทำซุปและยังเอาเนื้อไปทำอาหารทาน (ขายกันที่น้ำหนักปอนด์ละประมาณ 1,000 บาท) โดยมีเรือของสหภาพยุโรปซึ่งส่วนใหญ่เป็นสเปนและโปรตุเกส รับผิดชอบ 65 เปอร์เซ็นต์ ของการจับปลาชนิดนี้
IUCN Redlist จัดให้ฉลามมาโกเป็นกลุ่ม ‘สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์’ (EN – Endangered species) ในปี 2019 จากการประเมิน คาดว่าประชากรในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนลดลง 96 เปอร์เซ็นต์ และประชากรแอตแลนติกเหนือคาดว่าจะลดลง 60 เปอร์เซ็นต์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ฉลามมาโกเป็นสิ่งมีชีวิตที่เติบโตช้า กว่าตัวผู้จะพร้อมผสมพันธุ์ ก็ต้องมีอายุ 9 ปีขึ้นไปก่อน ขณะที่วงจรการสืบพันธุ์จะมีขึ้น 3 ปีต่อครั้ง และตัวเมียต้องใช้เวลาอุ้มท้องนาน 18 เดือน
ปัจจุบันยังพอมีข่าวดีว่า กว่า 50 ประเทศทั่วโลกที่ทำประมง ตัดสินใจร่วมยุติการจับฉลามมาโกในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ โดยข้อตกลงนี้จะเริ่มบังคับใช้ในปีนี้ จนสิ้นสุดในปลายปี 2023
แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้นก็เป็นเพียงการพักครึ่งเวลา ไม่นานหลังจากนั้นการล่าก็จะกลับมาเริ่มต้นอีกครั้งเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
และในที่สุด สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ ที่อยู่มาตั้งแต่ยุคครีเตเชียส ก็อาจจะมาถึงบทสิ้นสุดในยุคแอนโทรโปซีน
อ้างอิง
- The Guardian. World’s fastest shark added to list of vulnerable species to regulate trade. https://bit.ly/3nVEApT
- Money Inc. The 10 Most Expensive Types of Sharks to Eat in the World. https://bit.ly/3plRjlx
- Fishing Booke. Shortfin Mako Shark: the World’s Ultimate Hunter. https://bit.ly/3FPvYHI
- Mongabay. Advocates welcome halt to shortfin mako shark fishing, call for longer ban. https://bit.ly/3rdl76k