วิวัฒนาการของ ‘การส่งสาร’ ให้ถึงมือผู้รับ มีให้เห็นตั้งแต่การทำสงครามในยุคโบราณ เรื่อยมาจนถึงการส่งข่าวคราวให้คนทางบ้านในยุคที่คนเริ่มผจญภัยไปต่างถิ่น รวมถึงการทำธุรกิจติดต่อกับ ‘คู่ค้า’ ทั้งหลาย ซึ่งในที่สุดก็ทำให้หลายประเทศก่อกำเนิดบริการ ‘ไปรษณีย์’ ขึ้นมา
ที่สหรัฐอเมริกาก็มีบริการส่งไปรษณีย์มานับร้อยปีแล้ว แต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีเรื่องฮือฮาของคนยุคนั้นเกิดขึ้น เพราะบริการ ‘ส่งพัสดุ’ ที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมขึ้นไปได้เกิดขึ้นเป็น ‘ครั้งแรก’
แน่นอนว่าคนที่อยากท้าทาย ไม่ว่าจะด้วยความสงสัยหรือความคึกคะนองแบบแผลงๆ ก็ทดลองใช้บริการส่งพัสดุกันมากมาย และหลายสิ่งหลายอย่างที่คนส่งพัสดุได้สร้างความปวดหัวให้กับบุรุษไปรษณีย์ไม่น้อย เช่น การส่งไข่ไก่ดิบ เพื่อทดสอบว่ากว่าจะถึงที่หมาย ไข่จะแตกหรือว่ายังอยู่ดี ทั้งยังมีคนที่ส่งหมู งู และแกะ ตัวเป็นๆ โดยที่บอกไม่ได้ว่าเหตุผลอย่างอื่นของการส่งนั้นคืออะไรนอกจากการ ‘ลองของ’ ว่าบริการใหม่นี้จะดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า
แต่หลายคนอาจไม่คาดคิดว่าจะมีใครกล้าส่ง ‘เด็กทารก’ ในฐานะ ‘พัสดุ’ กับเขาด้วย
เว็บไซต์ History ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์ทั่วโลก รวมถึง Guinness Book World Records ที่เป็นสถาบันเก็บบันทึกสถิติทั่วโลก ยืนยันข้อมูลตรงกันว่า การส่งเด็กทารกในฐานะพัสดุไปรษณีย์นั้น ‘เคยเกิดขึ้นจริง’ ในสหรัฐฯ ช่วงที่ริเริ่มการส่งพัสดุขนาดใหญ่ครั้งแรกๆ
หลักฐานบ่งชี้มีทั้งภาพถ่ายบุรุษไปรษณีย์สะพายกระเป๋าที่มี ‘เด็กอ่อน’ โผล่ขึ้นมา และก็มีเอกสารอ้างอิงที่ระบุว่าใครต้องการส่งอะไรไปที่ไหนบ้าง ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลตามปกติของสำนักงานไปรษณีย์แต่ละแห่ง โดยมีข้อมูลบ่งชี้ว่า ‘เจมส์ บีกส์’ (James Beagues) คือ เด็กคนแรกที่ถูกพ่อแม่ ‘ส่งผ่านไปรษณีย์’ ไปยังบ้านปู่กับย่าซึ่งอยู่ต่างเมืองในรัฐโอไฮโอ
โดยเขาถูกส่งในฐานะ ‘พัสดุ’ หนัก 4.9 กิโลกรัม และมีค่าอากรแสตมป์ที่เป็นธรรมเนียมในการส่งพัสดุ 15 เซ็นต์ ส่วนอีก 50 ดอลลาร์เป็นเงินประกันว่า ‘พัสดุ’ จะส่งถึงมือ ‘ผู้รับ’ อย่างปลอดภัย
ข้อมูลที่บันทึกในพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์แห่งชาติสหรัฐฯ แจ้งว่าเจมส์ ‘ถูกรับเข้าระบบไปรษณีย์’ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1913 แต่ไม่ได้ระบุว่าเขา ‘ถึงมือผู้รับ’ วันไหนแน่ แต่มีการประเมินตามสถิติก่อนหน้าของการส่งพัสดุขนาดเล็ก มีความเป็นไปได้ว่าเจมส์จะถึงปลายทางในวันเดียวกันนั้นเลย
ซึ่งหลังจากกรณีของเจมส์แล้ว ก็ยังมีเด็กทารกอีกหลายคนถูกส่งในฐานะ ‘พัสดุ’ ในอีกหลายๆ รัฐช่วงปี 1913-1915 โดยนักประวัติศาสตร์ประเมินว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริการนี้ได้รับความนิยมอาจเป็นเพราะค่าส่งพัสดุนั้น ‘ถูกกว่ามาก’ ถ้าเทียบกับ ‘ค่าตั๋วรถไฟ’ ที่พ่อแม่จะต้องจ่ายในการเดินทางเพื่อพาลูกไปส่งให้กับปู่ย่าตายายหรือเครือญาติช่วยดูแล
ต่อมาจึงได้มีการปรับแก้กฎระเบียบในการรับส่งพัสดุ โดยมีข้อห้ามส่ง ‘มนุษย์’ หรือ ‘สิ่งมีชีวิตอื่นๆ’ ทางไปรษณีย์ เพราะมีคนร้องเรียนว่านี่คือการกระทำที่หละหลวมและเป็นอันตรายต่อเด็ก ซึ่งคนในสำนักงานไปรษณีย์ก็ชี้แจงว่าไม่ได้เห็นด้วยกับการรับส่งเด็กตั้งแต่แรก แต่ปฏิเสธไม่ได้เพราะไม่มีข้อห้ามที่จะใช้ประกอบการปฏิเสธ ‘ผู้ส่งพัสดุ’ ได้
หลังจากปี 1915 บริการนี้ก็เลยหายไปจากไปรษณีย์ทั่วสหรัฐฯ เป็นการถาวร
อ้างอิง
- Guinness World Records. Mail-order babies: The bizarre history behind mailing kids. https://bit.ly/3oPtLIM
- History. When People Used the Postal Service to ‘Mail’ Their Children. https://bit.ly/41Y0UAl