อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ
การทำประมงอย่างล้างผลาญในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้เรามาถึงจุดนี้จนได้ จุดที่ทะเลไทยซึ่งเคยจับปลาทูได้ปีละ 1 แสนกว่าตัน วันนี้เราจับปลาทูได้ไม่ถึง 20,000 ตัน ต้องนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศถึง 500,000 ตันต่อปี สาเหตุทั้งหมดนี้มาจากที่สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับขึ้นมาจากทะเล มีลูกปลาทูติดมาด้วยจำนวนมากโดยที่ภาครัฐไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจึงล่องเรือจากภาคใต้ถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์หยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน ทวงคืนน้ำพริกปลาทู ฟื้นฟูทะเลไทย
ไม่น่าเชื่อว่าปลาทู ที่เปรียบเสมือนปลาประจำชาติอยู่คู่ปากท้องคนไทยมานาน วันนี้กลับหายไปเหลือเพียงจำนวนน้อยนิดในท้องทะเลไดรห้ทย สาเหตุที่ทำให้จำนวนปลาทูลดลง เชื่อว่าเป็นผลจากการแก้ปัญหาการทำประมงของประเทศไทยที่ยังแก้ไม่ถูกจุด ยิ่งแก้ก็เหมือนลิงแก้แห แทนที่อะไรๆ จะดีขึ้นกลับแย่ลง
วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อาศัยและเติบโตมาจากชุมชนริมทะเลมหาชัย จังหวัดสมุทรปราการ ครอบครัวทำกิจการเรือจับปลาทูมานาน เชื่อว่าปลาทูไทยมีน้อยลง เป็นผลจากการออก พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ที่ส่งเสริมให้มีการขยายขนาดเรือประมงพาณิชย์ตามกฎหมายให้มีขนาดระวางได้ถึง 10 ตันกรอส, เพิ่มจำนวนเรือประมงพื้นบ้านจากที่เคยมีอยู่ 30,000-40,000 ลำ เพิ่มเป็น 80,000 ลำ และขยายขนาดความยาวของอวนจาก 120-200 เมตร ออกไปจนถึง 1,000-20,000 เมตร ตามนโยบายของรัฐ
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เผยว่า ปลาทูในทะเลไทยมีจำนวนน้อยลงเป็นผลมาจากที่รัฐบาลไม่เคยมีมาตรการชัดเจนเรื่องการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำให้มีลูกปลาทูถูกจับติดขึ้นมากับเรือประมงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก และถูกขายไปเป็นปลาสำหรับทำอาหารสัตว์ ปริมาณไม่ต่ำกว่า 300,000 ตันต่อปี โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5-10 บาทต่อกิโลกรัม สร้างมูลค่ารวม 1,000-2,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่หากปล่อยให้สัตว์น้ำเหล่านี้ได้เติบโตในระยะเวลาเพียงปีเดียวก็จะสร้างมูลค่านับแสนล้านบาทเลยทีเดียว
ผลจากการที่สัตว์น้ำวัยอ่อนรวมถึงลูกปลาทูถูกจับขึ้นมาก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก ทำให้ปลาทูตัวเต็มวัยในท้องทะเลไทยมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ในระหว่างปี 2550-2557 ไทยเคยจับปลาทูได้เฉลี่ยปีละเกือบ 150,000 ตัน แต่หลังปี 2558-2561 เป็นต้นมา มีปลาทูไทยถูกจับขึ้นมาได้เพียง 20,000-70,000 ตัน โดยจับได้เหลือเพียง 18,436 ตัน เท่านั้น ในปี 2563 ทำให้ประเทศไทยที่เคยมีปลาทูอยู่ชุกชุมทั้งสองฝั่งทะเล จนในที่สุดต้องนำเข้าปลาทูมาจากต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน อิหร่าน โอมาน และเยเมน เป็นปริมาณถึง 500,000 ตันต่อปี
“ปลาทู เป็นหนึ่งในตัวอย่างอาหารทะเลไทยที่กำลังหายไปอย่างน่าตกใจ จากที่เคยเป็นอาหารคู่ครัวไทยยอดฮิตอย่างน้ําพริกปลาทู เราพบตัวอ่อนปลาทูรวมถึงตัวอ่อนของอาหารทะเลอื่นๆ วางขายเกลื่อนตามห้างและตลาดสด โดยที่ผู้บริโภคไม่มีโอกาสได้ตระหนักรู้ว่าแท้จริงเป็นการบริโภคอาหารทะเลที่มีผลกระทบต่อระบบโครงสร้างอาหารทะเลโดยตรง”
เพราะสถานการณ์ของปลาทูกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต สมาคมรักษ์ทะเลไทย, สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และองค์กรสมาชิกหลายองค์กรจึงร่วมกันจัดการรณรงค์ ‘ทวงคืนน้ำพริกปลาทู หยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขาย สัตว์น้ําวัยอ่อน’ ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ทุกฝ่ายได้หันมาใส่ใจและให้ความสําคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไฮไลท์ของกิจกรรมคือจัดขบวนเรือล่องจากภาคใต้ไปถึงกรุงเทพมหานคร โดยนำเรือไปเทียบที่ท่าเรือเกียกกาย ใกล้อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565
อ้างอิง
- https://www.facebook.com/wichok.ron วิโชคศักดิ์
- https://thaipublica.org/2021/01/wicharn-sirichai-ekawat05/ ปลาทูที่ผมรู้จัก