2 Min

ทำไมการเป็นแฟนที่ดี ต้องเริ่มที่การรักตัวเอง

2 Min
2070 Views
21 Jun 2021

หลายคนหงุดหงิดหากนึกถึงข้อเสียของแฟนตัวเอง ทำไมต้องขี้ลืม ทำไมมีอะไรไม่ยอมพูด ทำไมชอบอยู่แต่บ้าน สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีข้อบกพร่อง เข้าใจความไม่สมบูรณ์แบบของอีกฝ่าย ซึ่งจะทำให้สองคนอยู่ด้วยกันด้วยความรักมากขึ้น

เชิญชวนทุกคนมาเปิดมุมมอง ทำไมการเป็นคนรักที่ดีต้องเริ่มจากการรักตัวเองก่อน
*ข้อมูลอ้างอิงจาก Kristin Neff ผู้เชี่ยวชาญด้าน self-compassion และบทความของ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การรักตัวเองไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัว ไม่ใช่การตามใจตัวเองมากเสียจนเกินไป และไม่ใช่การวางตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของโลก แต่คือการมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของตัวเอง ให้อภัยกับสิ่งที่ตัวเองเจอ

ความรักตัวเอง (Self-compassion) ของคุณ Kristin Neff แบ่งเป็นสามข้อใหญ่ๆ

  • Self-kindness ความใจดีต่อตัวเองให้อภัยกับความผิดพลาดและความล้มเหลวต่าง ๆ ของตัวเอง ค่อยเป็นค่อยไปกับชีวิต เลือกที่จะเติบโตอย่างเหมาะสม อย่า ‘เฆี่ยนตี’ ตัวเองเกินไปเพราะความกดดันไม่ใช่หนทางในการพัฒนาเสมอไป การมีเมตตากับตัวเองก็เท่ากับการเมตตาคนอื่น ให้อภัยความผิดพลาดของคนรอบข้าง
  • Common humanity การเข้าใจในความเป็นจริงของมนุษย์ ทำความเข้าใจก่อนว่าความล้มเหลวและความไม่สมบูรณ์แบบเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เมื่อเราพบกับความบกพร่อง ให้นึกย้อนว่าคนอื่นก็เคยเจอสภาวะเดียวกัน มีแต่จะมากน้อยต่างกันไป ถ้าเราเข้าใจความจริงข้อนี้ เราก็จะไม่รู้สึกแปลกแยกซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว ตัวเองไม่เก่งพอ ไม่น่ารักพอ ไลฟ์สไตล์ไม่ดีเท่าคนอื่น หากเข้าใจว่าความรู้สึกนี้เป็นเรื่องปกติของทุกคน เราก็จะก้าวผ่านมันได้
  • Mindfulness ความมีสติ ความมีสติที่ว่าหมายถึงการตระหนักรู้ถึงความเป็นไปของตัวเอง ตอนนี้เรามีอารมณ์ด้านบวกหรือด้านลบอยู่ หากมีสติเราจะไม่ฟุ้งซ่านไปกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่หมกมุ่นและไม่จมกับความรู้สึกมากเกินไป ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะคือความสุข ความเศร้า ความเหงาหรือความเจ็บ การมีสติทำให้เราตระหนักรู้ถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตามจริง กล้าเปิดใจและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

Self-compassion ไม่ใช่การปลอบใจหรือการหลอกตัวเองไปวันๆ แต่คือความ ‘ยืดหยุ่นทางอารมณ์’ เพราะหากแข็งกร้าวเกินไป หากวันหนึ่งหักก็พังทลายไม่เหลือ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรอ่อนไหวเสียจนเอาทุกอย่างมาใส่ใจ ทางแก้คือการเข้าใจและให้อภัยตัวเองอย่างเหมาะสม

แล้วการรักตัวเองเกี่ยวข้องอะไรกับการเป็นแฟนที่ดี?

อาจารย์จิรภัทรอธิบายเหตุผลเรื่องนี้ว่า สำหรับคู่รักที่มี Self-compassion สูง เมื่อเจอปัญหาก็จะเข้าใจว่านี่เป็นปกติที่เกิดได้กับทุกคู่ จึงยอมรับและให้อภัยอีกคนได้ คู่รักประเภทนี้จะห่วงใยและซัพพอร์ตอีกฝ่ายมากกว่า ในทางตรงกันข้าม หาก Self-compassion ต่ำ ก็จะยิ่งอยากควบคุมอีกฝ่ายด้วยคำพูดคำจาที่รุนแรง

บางครั้งแฟนอาจทำอะไรที่ไม่ถูกใจหรือมีนิสัยบางอย่างขัดใจเรา แต่หากเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนบกพร่องได้ ไม่มีใครสมบูรณ์ไปเสียหมด เราก็จะอยู่ด้วยกันได้ราบรื่นมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความยืดหยุ่นทางอารมณ์ นั่นคือหากจัดการอารมณ์ลบที่เกิดขึ้นได้ ความสัมพันธ์จะดีขึ้นตามไปด้วย ลองนึกภาพว่าหลายครั้งเราอาจจะเผลอใช้อารมณ์หรือคำพูดรุนแรงเมื่อทะเลาะกับแฟน ถ้าจัดการอารมณ์ได้ สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นน้อยลงหรือไม่เกิดเลย

โดยรวมแล้ว Self-compassion นอกจากจะทำให้เราเข้าใจตัวเอง ยังทำให้เรายอมรับตัวตนของอีกฝ่าย ถ้าเติมตัวเองให้เต็มได้ เราก็จะสามารถแจกจ่ายความรักนั้นให้กับคนอื่นได้

ความเมตตาต่อตัวเองและคนรักจะช่วยลดการกล่าวโทษกัน ไม่ทำเรื่องเล็กให้ใหญ่ รวมทั้งช่วยกันสานรอยร้าวให้ความสัมพันธ์ไปต่อได้ และแม้สุดท้ายไม่เหลือใคร หากรักตัวเองมากพอเราก็ยังเหลือตัวเอง

🎙️ ข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ MOODY Podcast สามารถติดตาม MOODY Podcast ในประเด็น ‘ทำไมการเป็นแฟนที่ดีต้องเริ่มที่การรักตัวเอง’ ได้ที่

🎧 Youtube: https://bit.ly/3wFBRn1
🎧 IG: https://bit.ly/3u5Rz9b
🎧 Spotify: https://spoti.fi/3yiN9yn
🎧 PodBean: https://bit.ly/33V6GXM