‘โครามารา’ (Ghoramara Island) เป็นเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย สถานที่ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เอาไว้ว่าจะหายไปจากแผนที่โลกในปี 2050
แน่นอนว่าสาเหตุที่ทำให้เกาะหายไป จะเป็นอื่นใดไปไม่ได้ หากไม่ใช่เพราะวิกฤตโลกร้อน
เดิมทีโครามาราเคยเป็นเกาะที่มีขนาด 26 ตารางกิโลเมตร หรือเท่าๆ กับเขตจอมทองในกรุงเทพมหานคร
แต่วิกฤตโลกร้อนที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ประกอบกับการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยได้พาเอาน้ำมหาศาลมาเติมจนเอ่อล้นตลิ่ง ทั้งยังมีการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงจากพายุที่โถมกระหน่ำถี่มากขึ้น ทำให้พื้นที่ของเกาะโครามาราหดหายไป คงเหลือแผ่นดินเพียง 6.7 ตารางกิโลเมตร หรือพอๆ กับแขวงจันทรเกษมของเขตจตุจักรในปัจจุบัน
จากที่เคยมีสำมะโนประชากรมากถึง 40,000 คน ก็เหลือเพียง 5,193 คน
การเสียพื้นที่ทำให้ไม่เหลือที่ดินสำหรับอยู่อาศัย ขณะเดียวกันยังหมายถึงหน้าที่การงานที่ถูกริบหายไป ในอดีตคนบนเกาะมีอาชีพเกษตรกรรมเพาะปลูกพืชผักและข้าวขาย แต่ตอนนี้อาชีพเพียงอย่างเดียวที่พอจะจุนเจือยาไส้ได้คือ การทำประมง
เมื่อเกาะแห่งหนึ่งหายไป มันไม่ใช่แค่เรื่องการเขียนแผนที่โลกใหม่ หรือการลบชื่อเมืองๆ หนึ่งออกจากสารบบ แต่ยังหมายถึงการอพยพโยกย้ายผู้คนไปยังที่เหมาะสม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ ผลลัพธ์มักลงเอยในทางลบเสียส่วนใหญ่
ผู้คนต้องใช้เวลาปรับตัว สร้างฐานะจากอาชีพใหม่และที่อยู่ใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะหาได้ง่ายนักในยุคปัจจุบัน
สำหรับประชากรที่เหลืออยู่ประมาณ 5,000 คนนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ฐานะยากจน หรือไม่ก็คนสูงอายุ ที่ไม่รู้จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไร
แต่มากกว่านั้น คือความทุกข์ระทมที่ต้องทนอยู่ระหว่างเวลาก่อนกาลเปลี่ยนผ่านเดินทางมาถึง
ณ จุดที่คนบนเกาะโครามาราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ต้องพบกับปัญหามากมายรุมเร้า ไล่มาตั้งแต่เรื่องการสูญเสียที่ดินทำกิน
ในบทสัมภาษณ์เกษตรรายหนึ่งที่อาศัยบนเกาะมาตั้งแต่เกิดจนฤดูกาลพัดพาวัยชรามาเยือน เขาเล่าว่า เมื่อก่อนเคยปลูกข้าวกินเองแต่วันนี้ต้องซื้อกินเพราะที่ดินจมอยู่ใต้น้ำหมดแล้ว เงินจับจ่ายใช้สอยอาศัยได้จากลูกๆ ที่ย้ายออกไปทำงานนอกเกาะแล้วปันส่วนส่งกลับมาให้ที่บ้าน
การเพาะปลูกอย่างอื่นๆ ก็ทำได้ยาก เพราะน้ำทะเลได้ไหลซึมอยู่ตามชั้นดินหลายแห่ง ความเค็มทำให้ดินขาดคุณภาพไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกสิ่งใดๆ อีกต่อไป
ชายหนุ่มหลายคนบนเกาะกลายเป็นคนอาภัพรักไร้คู่ครอง เว้นแต่หญิงสาวบนเกาะเดียวกันจะตกลงปลงใจร่วมเรียงเคียงหมอนด้วยเท่านั้น เพราะหญิงสาวต่างถิ่นต่างก็หวาดหวั่นต่อความมั่นคงในชีวิตถ้าต้องมาอยู่บนเกาะที่กำลังค่อยๆ จมลงใต้ทะเล
เมื่อเร็วๆ นี้ทางการของรัฐต้องประกาศปิดโรงเรียนแห่งหนึ่งไป เพราะการกัดเซาะรุกคืบเข้ามาใกล้ฐานโครงสร้างอาคาร หากดันทุรังเปิดไม่วายคงเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นสักวัน เด็กๆ จึงต้องหยุดเรียนเป็นการชั่วคราว เพื่อรอให้โรงเรียนจัดสรรสถานที่เรียนใหม่ให้เสร็จก่อน
ขณะที่บางคนเล่าว่า ตลอดช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่บนเกาะ เขาย้ายบ้านหนีน้ำมาแล้ว 5 ครั้งด้วยกัน
ส่วนที่ทำการไปรษณีย์เพียงแห่งเดียวของเกาะเปิดให้บริการแค่ครึ่งวัน เพราะมีจดหมายส่งถึงโครามาราเพียงวันละไม่ถึง 10 ฉบับ
เหล่านี้คือสถานการณ์ที่คนบนเกาะเผชิญและยากจะหลีกเลี่ยง
ในรายงานอย่างไม่เป็นทางการ ได้กล่าวหาว่าภาครัฐไม่ค่อยเหลียวแลความเป็นไปของผู้คนบนเกาะสักเท่าไหร่ กว่า 5,000 ชีวิตที่เหลือจึงต้องใช้ชีวิตกันไปตามยถากรรม
ยิ่งในฤดูมรสุม มักจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างเฉียบพลันเนื่องจากเรือเล็กไม่สามารถออกจากฝั่งไปหาเสบียงจากเกาะข้างเคียงได้
ตามที่นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศได้คำนวณระดับน้ำทะเลที่ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น เดิมทีคาดการณ์เอาไว้ว่าเกาะแห่งนี้จะจมหายกลายเป็นนครแอตแลนติสในปี 2050
โดยระดับน้ำทะเลของภูมิภาคนี้ เพิ่มขึ้นปีละ 8 มิลลิเมตรต่อปี หรือคิดเป็น 250 เปอร์เซ็นต์ จากอัตราปกติของพื้นที่ทั่วโลก
แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตลอดจนแนวโน้มการแก้ไขวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ดูไม่ค่อยคืบหน้าสักเท่าไหร่หลังการประชุม COP26 ผ่านไป ทำให้คาดการณ์ได้ใหม่ว่า ผู้คนบนโครามาราคงได้ใช้ชีวิตบนแผ่นดินเกิดอีกเพียง 15 ปีเท่านั้น
อ้างอิง:
- The Guardian. ‘The island has been shrinking’: living on the frontline of global heating. https://bit.ly/2ZUb1vr
- First Post. Ghoramara Island: Living on the edge of a rising sea. https://bit.ly/301YTcm
- The Telegraph India. Erosion brings South 24-Parganas school on brink of collapse. https://bit.ly/3kg9E1l
- Aljazeera. The hungry tide: Bay of Bengal’s sinking islands. https://bit.ly/3nZJmkY