จำไว้ว่า ‘ผู้ชนะ’ ยืนอยู่บนซากศพของ ‘ผู้แพ้’ ผู้กำกับ ‘ฮวังดงฮยอก’ พูดถึง Squid Game
Select Paragraph To Read
- สังคมเปลี่ยน-แนวคิด ‘รวยทางลัด’ ทำให้คนดูอินกับเกมที่เล่นกันถึงตาย
- เรื่องราวของผู้แพ้ที่โลกต้องจดจำ
กว่า Squid Game จะกลายเป็นซีรีส์สุดปังของ Netflix ปีนี้ ผู้กำกับ ‘ฮวังดงฮยอก’ ต้องใช้เวลานานนับสิบปีในการผลักดันโปรเจกต์จนกระทั่งออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก แถมยังทำฟันหายไป 6 ซี่
เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้จึงไม่ได้มีแค่ความพยายามเป็นแรงขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว
สังคมเปลี่ยน-แนวคิด ‘รวยทางลัด’ ทำให้คนดูอินกับเกมที่เล่นกันถึงตาย
ก่อนที่ฮวังดงฮยอกจะเป็นที่รู้จักในระดับโลกจาก Squid Game เขาก็เป็นผู้กำกับมือรางวัลมาก่อนแล้ว จากผลงานภาพยนตร์ The Fortress (2017) ส่วนผลงานอีกเรื่อง Miss Granny (2014) ก็ทำรายได้ดีจนมีหลายประเทศหยิบไปรีเมก (รวมถึงไทย) แต่ตอนที่เขาเสนอพล็อต Squid Game ให้คนในแวดวง K-Drama เมื่อปี 2008-2009 กลับถูกปฏิเสธ โดยมีแต่คนบอกว่า “ไม่น่าจะขายได้” เพราะเข้าใจยากและรุนแรงเกินไป
เวลาผ่านไปสิบปี เขาตัดสินใจหยิบพล็อตเรื่องนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้งและลองเสนอกับทาง Netflix ที่กำลังเร่งขยายแพลตฟอร์มไปยังหลายประเทศทั่วโลก และตกลงเริ่มพัฒนาโปรเจกต์ร่วมกันเมื่อปี 2019 โดยตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า Round Six ที่พูดถึงการเล่นเกมเดิมพันด้วยชีวิตเพื่อแลกเงินรางวัลมหาศาล และพอออกฉายจริงๆ ในนาม Squid Game ก็กลายเป็นซีรีส์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็วแบบทุบสถิติ
“ผมเคยพูดเล่นๆ ไว้ว่าดัลโกนา (ขนมน้ำตาลใน Squid Game) อาจจะกลายเป็นเทรนด์เหมือนหมวกคัดใน Kingdom แต่พอมันฮิตจริงๆ ก็ช็อกอยู่เหมือนกัน”
ผู้กำกับ‘ฮวังดงฮยอก’ ให้สัมภาษณ์กับ Hankyoreh สื่อเก่าแก่ของเกาหลีใต้ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับตรงๆ ว่าความสำเร็จของ Squid Game เป็นทั้งเรื่องที่น่ายินดีและน่าเศร้า
ที่น่ายินดีเพราะผลงานซีรีส์ของตัวเองที่ร่วมงานกับ Netflix เรื่องแรกมีคนชื่นชอบทั่วโลก แถมยังทำให้เกมเด็กเล่นกับขนมพื้นบ้านเกาหลีกลายเป็นของยอดนิยมในชั่วพริบตา แม้ว่าตอนทำงานทั้งเหนื่อยทั้งเครียดสุดๆ และฟันหายไป 6 ซี่ ก็ถือว่าคุ้มค่า
แต่เรื่องที่น่าเศร้าก็เป็นเพราะสภาพสังคมเกาหลีใต้ที่เปลี่ยนไปช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้กระแสการลงทุนหวังรวยทางลัดเฟื่องฟู ไม่ว่าจะเป็นบิทคอยน์, อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงตลาดหุ้น ภาวะอยากรวยเร็วๆ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกอินไปกับ Squid Game และให้การตอบรับอย่างกระตือรือร้น
เรื่องราวของผู้แพ้ที่โลกต้องจดจำ
เมื่อเจอคำถามว่า Squid Game ถูกวิจารณ์จากคอซีรีส์หลายประเทศว่า ‘เดินตามรอย’ หรือแรงกว่านั้นก็บอกว่าก๊อปสูตรมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องอื่น เช่น Liar Game และ Gambling Apocalypse: Kaiji แต่ฮวังดงฮยอกบอกว่าเรื่องราวเกี่ยวกับเกมที่เดิมพันด้วยชีวิตส่วนใหญ่จะเล่นยาก ซับซ้อน และผู้เล่นมักต้องเป็นอัจฉริยะหรือเก่งกาจในระดับหนึ่ง แต่ Squid Game คือเกมของเด็กๆ ที่เล่นง่าย เข้าใจง่าย ทำให้คนดูไม่ต้องทำความเข้าใจกับเกม จึงใส่ใจและเห็นใจในแต่ละปมของตัวละครได้มากกว่า
“ที่เรื่องนี้ไม่เหมือนงานอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพวกขี้แพ้ แทนที่จะเป็นวีรบุรุษ”
ฮวังดงฮยอกเพิ่มเติมว่า ใจความสำคัญประเด็นหนึ่งของ Squid Game อยู่ในฉากที่ตัวละคร ‘กีฮุน’ (อีจองแจ) เถียงกับ ‘ซังอู’ (พัคแฮซู) ตอนเล่นเกมสะพานกระจกด้วยกัน จะเห็นได้ว่ามุมมองของทั้งสองคนที่มีต่อการเล่นเกม และการดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตรอด แตกต่างกันอย่างชัดเจน
“ซังอูบอกว่า ความสามารถและความพยายามทำให้เขามาได้ไกลในเกมนี้ แต่กีฮุนบอกว่า ที่พวกเขามาได้ไกลเพราะมีคนมากมายเสียสละและอุทิศตัวไปก่อนหน้าต่างหากล่ะ แนวคิดว่า ‘ผู้ชนะในสังคมนี้ยืนอยู่บนซากศพของผู้แพ้’ เราจึงต้องจดจำคนที่พ่ายแพ้เหล่านั้นด้วย คือธีมที่ถูกนำเสนออย่างชัดเจนผ่านซีรีส์”
ฮวังดงฮยอกบอกว่า กีฮุนคือภาพแทนของพวกขี้แพ้ (loser) ที่ต้องก้าวไปอย่างช้าๆ ด้วยความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ แต่ในซีรีส์ก็อธิบายว่าความพ่ายแพ้ในชีวิตของกีฮุน เริ่มจากการที่เขาถูกปลดจากโรงงานผลิตรถยนต์โดยไม่ทันได้ตั้งตัว ทั้งยังไม่มีเงินชดเชยแก่พนักงานที่ทำงานมานานนับสิบปี และการประท้วงกับนายทุนจบลงด้วยการที่เพื่อนของเขาเสียชีวิต หลังจากนั้นกีฮุนพยายามเปิดร้านขายไก่ทอดและทำงานอื่นๆ แต่ก็ล้มเหลว ทำให้เขาหันไปแทงม้า เพราะถ้าโชคเข้าข้าง นี่ก็เป็นหนทางเดียวที่จะได้เงินจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว
“ในสังคมทุนนิยม ไม่ว่าใครก็ตาม มีโอกาสตกอยู่ในสถานะเดียวกับกีฮุนได้ทุกเมื่อ แม้แต่ในตอนนี้ก็มีคนเยอะแยะที่ถูกไล่ออกจากงาน หรือสูญเสียงานไปเมื่อบริษัททั้งหลายปิดตัว”
ฮวังดงฮยอกกล่าวพร้อมกับอ้างอิงสถานการณ์ในหลายประเทศทั่วโลกที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจเพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ความฮิตของ Squid Game ทำให้เกิดปรากฏการณ์ขายสินค้าเกี่ยวกับซีรีส์แพร่หลายไปทั่วโลก และสื่อใหญ่ๆ ที่เป็นสายวิเคราะห์วิจารณ์ก็ร่วมวงชำแหละเหตุผลที่ทำให้ Squid Game โดนใจคนหมู่มาก ก่อนจะสรุปคล้ายกับที่ผู้กำกับฮวังดงฮยอกให้สัมภาษณ์ไว้ นั่นก็คือภาวะที่ต้องดิ้นรนแข่งขันเอาตัวรอดในสังคมทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำเป็น ‘ประเด็นร่วม’ ของคนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนในประเทศแถบเอเชียที่มีวัฒนธรรมและสภาพสังคมใกล้เคียงกับเกาหลี
ขณะที่ผู้สื่อข่าว The Straits Times ติดตามความเห็นของชาวเน็ตในเกาหลีหลายคนที่บอกว่าตัวเองกำลังอยู่ใน Squid Game เพราะต้องดิ้นรนอย่างหนักในภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจและโรคระบาด ซึ่งพวกพนักงานหรือเจ้าของกิจการขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ต่อให้ผ่านด่านยากๆ มาได้ ผู้ชนะในเกมชีวิตเหล่านี้ก็ไม่มีเงินรางวัลใดๆ รออยู่ปลายทาง
อย่างไรก็ดี กลุ่มทุนของตระกูลใหญ่ๆ ซึ่งเป็นหน้าตาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Samsung, SK, Hyandai รวมไปถึงอุตสาหกรรมบันเทิงต่างๆ ไม่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมากนัก เพราะมีต้นทุนทางธุรกิจมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม และเกาหลีใต้ก็ยังเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 10 ของโลก แต่ Financial Times ซึ่งเป็นสื่อสายวิเคราะห์ย้ำว่า การเติบโตของกลุ่มทุนที่ยังไปได้สวย สวนทางกับประชาชนคนธรรมดาที่ทำงานหาเลี้ยงชีพแบบรายวันและรายเดือนในประเทศ
FT ระบุว่าทุกวันนี้สังคมเกาหลีใต้กำลังเผชิญกับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของแรงงานที่มีทักษะกับแรงงานทั่วไป ขณะที่เด็กจบใหม่หางานทำได้ยาก และคนทำงานมานานๆ หลายสิบปีก็เสี่ยงกับการถูกปลดก่อนอายุเกษียณเพื่อพยุงกิจการที่เจอภาวะสะดุดคลื่นลมเศรษฐกิจ ส่วนคนแก่ซึ่งทำงานหนักมาทั้งชีวิตก็ไม่ได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพอย่างเพียงพอ การมองแต่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเฉพาะภาพรวมทั้งประเทศจึงไม่ใช่การประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน
ภาพสะท้อนจาก Squid Game สู่โลกความเป็นจริงจึงอาจทำให้เกิดคำถามว่า มีผู้แพ้สักกี่คนที่ต้องเสียสละไปแล้วก่อนหน้า เพื่อให้ผู้ชนะยืนอยู่ได้ในวันนี้
อ้างอิง
- Many South Koreans feel they are ‘living’ the Squid Game https://bit.ly/3iBAxMi
- “Squid Game” creator wins big with story of society’s “losers” https://bit.ly/2YmuN2r
- South Korea shatters national debt taboo to tackle inequality https://on.ft.com/3ldglSU
- Director Hwang Dong-Hyuk to produce new Korean original series, Round Six https://bit.ly/2YxXAkm