LIVING APART TOGETHER คบกันแต่ไม่ต้องอยู่ด้วยกัน จุดสมดุลของความสัมพันธ์และชีวิตส่วนตัว

2 Min
2183 Views
06 Jan 2021

สำหรับคนทั่วไป อาจมองว่า คนรักกัน คนที่แต่งงานกัน จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน หรือต้องย้ายอยู่บ้านหลังเดียวกัน

สิ่งเหล่านี้นับว่าวิธีปฏิบัติที่สุดแสนจะปกติครับ

เพราะจากขนบธรรมเนียมและประเพณี เราถูกปลูกฝังเรื่องนี้ไปโดยปริยาย ซึ่งอาจจะไม่มีใครเคยตั้งคำถามว่า ทำไมแต่งงานต้องอยู่ด้วย แต่งงานกันหรือเป็นแฟน แล้วแยกกันอยู่แบบปกติไม่ได้เหรอ

วันนี้เราจะพามารู้จักว่า คำว่า Living Apart Together (LAT) หรือการอยู่ไกลไปด้วยกัน เป็นคำที่มีมานานแล้วครับ (ไม่ได้เพิ่งมีในช่วง COVID-19) แต่เชื่อว่าในช่วงกักตัวอยู่บ้าน หลายท่านอาจจำเป็นต้องห่างไกลคู่ครอง อดเดินทางไปหาคู่รัก หรือแยกกันอยู่มากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความรู้สึกที่หลากหลาย

บางท่านอาจจะรู้สึกว่าคิดถึงเหลือเกิน อยากจะเจอหน้า อยากจะสัมผัส แต่สำหรับบางท่านอาจเริ่มรู้สึกว่า การอยู่ไกลกัน แต่ยังติดต่อกัน ยังเป็นห่วงเป็นใยกัน ยังดูแลกัน มันก็ไม่ได้แย่อะไร แถมทั้งคู่ยังมีเวลาและพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้นอีกด้วย

ถ้าไม่นับช่วงกักตัวที่บางท่านอาจจะต้องแยกกันอยู่ เทรนด์ LAT มีมานานแล้วครับ แล้วก็เป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีการรายงานว่า ชาวสหรัฐฯ อังกฤษ สวีเดน และแคนาดา เริ่มละทิ้งแนวคิดอย่าง ‘co-habitation’ หรือแนวคิดที่ไม่ต้องแต่งงานก็มาอยู่ด้วยกันได้ ก้าวเข้าสู่ LAT ก็คือจะแต่งงานหรือเป็นแฟน ก็ยังอยากแยกกันอยู่ไปเรื่อยๆ

ซึ่งมันก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และค่านิยมของคนรุ่น Generation Y นั่นเอง เพราะเราจะเห็นว่าในโลกยุคใหม่ ผู้ใหญ่ไม่ได้จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชาย ผู้หญิงไม่ได้มีหน้าที่เลี้ยงลูกเสมอไป ผู้หญิงมีโอกาสในการศึกษา และมีโอกาสในการทำงานมากยิ่งขึ้น เมื่อผู้หญิงไม่ได้ยึดโยงอยู่กับผู้ชายอย่างในอดีต การไม่อยู่ด้วยกันก็ไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรเลย

ทั้งชายหญิง อยากทำงาน อยากมีชีวิต อยากท่องเที่ยว และอยากสร้างโลกที่ตัวเองฝันไว้ ถ้ายังไม่พร้อมที่จะแบ่งปันโลกนั้นกับใคร ก็เป็นปกติที่คนรุ่นใหม่จะใช้ชีวิตด้วยกันน้อยลง

หลายคนมองว่า LAT เป็นเหมือนการบาลานซ์ ชีวิตที่ดี ไม่ได้โดดเดี่ยวจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้รุงรังน่ารำคาญจากชีวิตคู่ มีคนคอยดูแลเป็นห่วงเป็นใย แต่ก็ไม่ก้าวก่ายอีกฝ่ายมากเกินไปเหมือนกัน

เอาเข้าจริงไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ครับ แต่ผู้สูงอายุก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้อยู่มากเหมือนกัน เพราะพวกเขาผ่านโลกมาเยอะ ผ่านชีวิตคู่มาอย่างยาวนาน พวกเขาน่าจะเห็นความสำคัญและความงดงามของการอยู่คนเดียวมากกว่าคนวัยอื่น

หรือหากมองในทางตรงกันข้าม เราจะพบเลยว่า ประเด็นเรื่องของ ‘ความรุนแรงในครอบครัว’ และ ‘การหย่าร้าง’ มีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ต้องกักตัวอย่างมีนัยะ เพราะการกักตัวอยู่บ้าน ไม่ได้เพียงแค่เพิ่มโอกาสการกระทบกระทั่ง แต่รวมถึงความกดดันจากภายนอก ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคม และปัจจัยส่วนบุคคลอีกต่างหาก

เห็นไหมล่ะครับ การอยู่ด้วยกัน มันก็ไม่ได้แปลว่าจะดีเสมอไปหรอก

แล้วคุณล่ะครับ คิดอย่างไรกับการแยกกันอยู่บ้าง มาร่วมแชร์กันดีกว่า!

อ้างอิง: