ทำไมยุค ‘พลังงานสะอาด’ ถึงทำให้ ‘ลิเธียม’ กลายมาเป็นแร่ที่เป็นเหมือน ‘น้ำมัน’ แห่งอนาคต
‘ลิเธียม’ ไม่ใช่โลหะที่ในอดีตคนทั่วๆ ไปจะคุ้นเคยแน่ๆ เพราะมันแทบไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราเลย แต่พอมายุคปัจจุบัน มันยากมากที่เราจะไม่มีอะไรที่ใช้ลิเธียมเลย เพราะมันคือส่วนประกอบของ ‘แบตเตอรี่’ ของสมาร์ตโฟนทุกเครื่อง ที่สร้างจากเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘ลิเธียมไอออน’
ลิเธียมกลายมาเป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ทุกอย่างในยุคแห่ง ‘อุปกรณ์ไร้สาย’ และมันก็ทำให้แร่ธาตุที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อมนุษยชาตินี้ค่อยๆ เริ่มมามีบทบาททางเศรษฐกิจ
แต่ภาวะโลกร้อนอาจกำลังยกระดับลิเธียมไปอีกระดับ ให้มันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อมนุษย์ไม่แพ้ ‘น้ำมัน’ และชาติใดที่มีมันในครอบครองก็อาจมีอำนาจเหมือนชาติที่ถือครองแหล่งน้ำมันในศตวรรษที่ 20
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
อธิบายง่ายๆ คือ ท่ามกลางภาวะโลกร้อน สิ่งที่โลกทุกวันนี้ต้องการอย่างจริงจังในทางปฏิบัติคือการลดและเลิกการใช้ยานยนต์พลังงานน้ำมัน เพราะนั่นคือที่มาหลักของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งพอเลิกใช้ยานยนต์น้ำมันก็หมายถึงการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดจะขับเคลื่อนได้ต้องมีหน่วยบรรจุพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่เอาไว้คอยจ่ายพลังงานตอนรถแล่น หรือพูดง่ายๆ มันต้องการแบตเตอรี่ และเป็นแบตเตอรี่ที่ใหญ่มากแบบคนละไซซ์กับพวก ‘แบตมือถือ’ เลย
อ่านมาถึงตรงนี้ ใครมีพื้นฐานเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าก็คงพอรู้ว่าที่ราคาแพงนั้นแพงที่แบตเตอรี่ทั้งนั้น ต้นทุนของรถยนต์ไฟฟ้าราวครึ่งหนึ่งเลยคือต้นทุนในส่วนของแบตเตอรี่ และแร่ที่เป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่หรือของรถยนต์ไฟฟ้าก็คือ ‘ลิเธียม’ นี่เอง
กล่าวคือเมื่อมนุษยชาติ ‘ใช้น้ำมัน’ น้อยลง สิ่งที่มนุษยชาติจะใช้เยอะขึ้นโดยอัตโนมัติก็คือ ‘ลิเธียม’ (ถ้าเทคโนโลยีแบตเตอรี่ยังไม่เปลี่ยน ซึ่งมันก็คงไม่เปลี่ยนง่ายๆ)
แล้วชาติไหนมีลิเธียม? ณ ปัจจุบันปี 2022 ชาติที่ผลิตลิเธียมให้โลกมากที่สุดคือออสเตรเลีย รองลงมาคือ ชิลี และสองชาตินี้เป็นแหล่งผลิตลิเธียมราว 2 ใน 3 ของทั้งโลก
แต่นี่ก็เป็นแค่ภาพของชาติที่ ‘ขุดลิเธียม’ ออกมาแล้วเท่านั้น เพราะในระยะยาว สิ่งที่เราจะต้องดูคือแหล่งแร่ที่ยังอยู่ในธรรมชาติที่รอการขุด
ซึ่งในแง่นี้ เราก็จะเห็นภาพชัดเลยว่าลาตินอเมริกา น่าจะกลายเป็น ‘มหาอำนาจลิเธียม’ ได้ไม่ต่างจากที่ในศตวรรษที่ 20 กลุ่มชาติในคาบสมุทรอาหรับได้กลายมาเป็น ‘มหาอำนาจน้ำมัน’
ถ้าไปดูเราจะเห็นเลยว่าลิเธียมส่วนใหญ่ในโลกนี้อยู่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งตรงนั้นเขาเรียกกันว่า ‘สามเหลี่ยมลิเธียม’ เพราะแหล่งแร่ลิเธียมใหญ่ที่สุดมันอยู่บริเวณรอยต่อของชิลี โบลิเวีย และอาร์เจนตินา โดยมีการประเมินกันว่า ลิเธียม 2 ใน 3 ของที่มีบนโลกใบนี้อยู่ตรงนั้น
ซึ่งก็ไม่ใช่แค่สามชาตินี้ที่มีลิเธียม เพราะชาติอย่างเปรูและเม็กซิโกก็มีอยู่พอสมควร ดังนั้นเขาเลยประเมินกันว่าถ้าชาติเหล่านี้จับมือกัน มันจะกลายเป็นคล้ายๆ กลุ่ม OPEC ที่ควบคุมราคาน้ำมันโลกได้ เพียงแต่ชาติพวกนี้มันคุมลิเธียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มนุษย์จะใช้เยอะขึ้นเรื่อยๆ ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อทดแทนการใช้น้ำมัน
แต่ก็อย่างที่เล่า กระแส ‘ตื่นลิเธียม’ นั้นเพิ่งเกิด ช่วงปี 2016-2020 การผลิตลิเธียมในโลกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเพราะความต้องการของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และต่อจากนี้ก็มีแต่ความต้องการเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ
ชาติที่มีศักยภาพในการขุดลิเธียมออกมาขายด้วยตัวเอง เอาจริงๆ มีแต่ออสเตรเลีย เพราะอย่างชิลีที่เห็นศักยภาพของลิเธียมในตลาดโลกก่อนชาวบ้านก็จริง แต่ทุนในชาติตัวเองไม่พอจะลงทุนทำเหมือง ก็ต้องให้บริษัทจีนมาช่วยลงทุนทำเหมืองแร่ ขณะเดียวกัน ชาติอย่างอาร์เจนตินาที่ตอนนี้ค่อยๆ ขุดมาขายก็ดูท่าจะดำเนินรอยตามชิลี คือจะมีการดีลกับจีน โดยอาร์เจนตินามีแผนจะทำแบบครบวงจรในระดับที่ขุดลิเธียมตรงนั้น แล้วเอาไปเข้าโรงงานทำแบตเตอรี่ต่อเลย ซึ่งทั้งหมดคือทุนจีน
ทั้งนี้ชาติที่เขาประเมินว่า ‘มีลิเธียมอยู่มากที่สุดในโลก’ อย่างโบลิเวีย ถึงตอนนี้ยังไม่ขยับ แต่ชาตินี้ก็มีความระมัดระวังมากๆ ในการดีลกับต่างชาติ เพราะโอกาสในการเอาลิเธียมมาขายนี้ ก็อาจพลิกเศรษฐกิจของประเทศได้เลย เพราะโบลิเวียถ้าเทียบรายได้ต่อหัวแบบปรับค่าครองชีพตอนนี้ เขามีรายได้แค่ราวๆ ครึ่งหนึ่งของไทยเท่านั้นเอง คือค่อนข้างจน (เอาตรงๆ คือรายได้ต่อหัวเขาพอๆ กับเวียดนามในปัจจุบัน) แต่ถ้าเขาขุดลิเธียมมาขาย สถานะทางเศรษฐกิจของชาติก็อาจเปลี่ยนไปเป็นร่ำรวยแบบที่พวกชาติอาหรับร่ำรวยจากน้ำมันในช่วงศตวรรษที่ 20
แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเงียบๆ ที่ต่างชาติไม่พยายามจะเข้าไปยุ่ง เพราะการมี ‘ทรัพยากรที่มนุษยชาติต้องการ’ อยู่ในมือก็ทำให้หลายๆ ชาติจ้องจะมาหาผลประโยชน์จากภูมิภาคนี้ ในระดับที่เขา ‘ลือ’ กันว่าสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลัง ‘การรัฐประหาร’ ในโบลิเวียปี 2019 เพราะสหรัฐฯ ต้องการจะเข้าไปงาบทำสัมปทานลิเธียมในโบลิเวียด้วยซ้ำ
นี่อาจเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่าลิเธียมได้กลายเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดและหายาก ที่หลายๆ ชาติต้องการไม่ต่างจาก ‘น้ำมัน’ ไปเรียบร้อยแล้ว
อ้างอิง
- The Sydney Morning Herald. The rush for ‘white gold’: How electric cars are driving new Australian lithium mines. https://bit.ly/35e9LGw
- El Pais. How nations sitting on lithium reserves are handling the new ‘white gold’ rush. https://bit.ly/35zdwpM
- Visual Capitalist. Charted: Lithium Production by Country (1995-2020) . https://bit.ly/3HsOtSv