กิจกรรม #saveบางกลอย การเรียกร้องของชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยที่มีความหวังว่าจะกลับไปใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมที่ ‘ใจแผ่นดิน’ บริเวณพื้นที่บางกลอยบน จังหวัดเพชรบุรี ต้องพังทลายลง เมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาแถลงผ่านสื่อโดยมีใจความว่า ‘ชาวบ้านบางกลอยจะไม่สามารถกลับไปที่ใจแผ่นดินได้’
วันนั้นชาวบ้านบางกลอยหัวใจสลาย เพราะ ‘บ้าน’ ของพวกเขาถูกรัฐปิดตาย
การต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานหลายสิบปี กำลังจบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างนั้นหรือ
‘บ้าน’ ที่ถูกไล่รื้อโดยอำนาจของกฎหมาย
นับเป็นปัญหาเรื้อรังมากกว่า 25 ปี นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินยุทธการตะนาวศรี ไล่รื้อ นำชาวบ้านจากบางกลอยบนซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษลงมายังบางกลอยล่าง พร้อมมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่ แต่ก็ยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ที่ดินไม่ครบ หรือถึงแม้จะได้ครบ แต่ก็ไม่สามารถทำกินได้ทั้งหมด เพราะสภาพดินไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก
ชาวบางกลอยจึงต้องปรับตัวและเปลี่ยนวิถีชีวิตหันมาทำงานแลกค่าแรง จนกระทั่งวิกฤตโรคระบาดส่งผลกระทบหนัก ชาวบ้านมีรายได้ไม่พอ ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก
เมื่อสถานการณ์เดินสู่ทางตัน ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปทำไร่หมุนเวียนยัง ‘บ้านเก่า’ หรือบางกลอยบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษตัวเอง และมีมาก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตอุทยาน
แต่อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกับป่าของชาวบ้านถูกสกัดกั้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 มีการควบคุมตัวชาวบ้านมายังบางกลอยล่าง และถูกตั้งข้อหาว่าด้วยการกระทำผิด พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ
ชาวบางกลอยร่วมชุมนุมขอกลับ ‘บ้าน’
ภายหลังชาวบ้านได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ชาวบ้านจำนวนหนึ่งก็ออกมาเคลื่อนไหวปักหลักชุมนุมทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์ เพื่อเรียกร้องรัฐให้แก้ไขปัญหานี้
เสียงของชาวบ้านคล้ายส่งไปถึงผู้มีอำนาจ ในที่สุด รัฐบาลก็มีมติออกให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยมีกรอบการดำเนินงาน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีเซ็นลงนาม เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564
วันนั้นตัวแทนรัฐบาลเข้ามาสื่อสารเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการ พร้อมทั้งให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยเหลือพี่น้องชาวบางกลอยให้ได้รับความเป็นธรรมและมีความเป็นอยู่ที่ดี
แววตาของชาวบ้านมีความหวัง คนที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างแสดงความยินดีกับความคืบหน้าครั้งนี้ แล้วร่วมกันส่งพี่น้องบางกลอยกลับบ้านในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
ข่าวดีที่ไม่มีจริง
แต่แล้ว…ความหวังนั้นกลับพังลงอีกครั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาแถลงผ่านสื่อโดยมีใจความว่า ‘ชาวบ้านบางกลอยจะไม่สามารถกลับไปที่ใจแผ่นดินได้’
เหล่าภาคี #saveบางกลอย มองคำแถลงดังกล่าวว่าเป็นการตระบัดสัตย์ ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน และไร้วิสัยทัศน์ในการมองปัญหาสู่หนทางแก้ไขอย่างยั่งยืน
พี่น้องชาวบางกลอยจึงกลับมาชุมนุมที่เดิมในวันเดียวกันนั้นทันที แล้วค่อยเดินทางกลับในเช้าวันพุธที่ 17 มีนาคม 2564
ภาพของชาวบางกลอยไหลเต็มนิวส์ฟีดบนโลกออนไลน์ แต่ลึกๆ ในหัวใจของพวกเขาเล่ารู้สึกเช่นไร
BrandThink จึงเดินทางไปยังจังหวัดเพชรบุรีพร้อมกับชาวบ้านบางกลอยในวันนั้น เพื่อสำรวจความรู้สึก ความคิดเห็น และฟังเสียงหัวใจพวกเขาต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น
“ช่วงแรกๆ ที่นายกแต่งตั้งคณะนี้ เป็นครั้งแรกในรอบของ 10 วันในการมาชุมนุม คือหนูไม่เคยเห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน แววตาของชาวบ้านเศร้าหมองอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะแม่หนู แต่วันนั้นคือแม่ก็รู้สึกดีใจที่เขาตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ แต่แม่ก็ยังไม่เชื่อมั่นนะคะ แม่บอกหนูว่ายังไม่เชื่อมั่น…”
น้องจันทร์ หนึ่งในชาวบ้านบางกลอยที่ได้เข้ามาเรียนในเมือง กล่าว…
“ณ ตอนนั้น รู้ว่าชาวบ้านต้องดีใจมากๆ ชาวบ้านกลับมามีความหวังอีกครั้ง ความหวังครั้งนี้น่าจะสูงพอสมควร แต่สุดท้ายความหวังของชาวบ้านก็หมดลงเมื่อได้ยินนายก”
“ชาวบ้านทุกคนนั่งรวมตัวกันทำหน้าเครียดอยากจะร้องไห้…หนูก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็รู้สึกท้อเหมือนกันว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนี้ทั้งๆ ที่เขาให้ความหวังชาวบ้าน แล้วทำไมถึงต้องมาตัดความหวังของชาวบ้าน ถึงหนูจะท้อ แต่หนูก็ยังดีใจที่ยังมีพี่น้องคอยช่วยเหลือ มีพี่น้องจากหลายๆ พื้นที่มาให้กำลังใจตลอดเวลา”
ถ้าน้องเป็นหนึ่งในคนที่จะพูดอะไรได้ สำหรับชาวบ้านแล้ว…อยากบอกอะไรให้สังคมได้รับรู้
“สิ่งแรกที่อยากได้คือ อยากให้ชาวบ้านกลับมามีความสุขอีกครั้ง การที่ชาวบ้านอยากกลับไปทำไร่หมุนเวียน มันไม่ผิดหรอก มันผิดตรงไหนคะ หนูอยากรู้ว่าการแค่การทำไร่หมุนเวียน มีผลกระทบยังไง”
คือเขาบอกว่าการทำไร่หมุนเวียนทำลายป่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทุกๆ ปีที่ทำมา ป่าก็จะฟื้นฟูตัว…
แล้วป่าก็จะกลับมาคงสภาพเดิม บางที่ยังดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะว่าการที่เราทำไร่หมุนเวียน เราจะทำแนวกันไฟ เราดูแลดิน แล้วเราให้ปุ๋ยเขา พอเราปลูกพืชอะไรพวกนี้มันก็จะดี แล้วพอหลังจากกลายเป็นไร่ซากก็จะมีผักผลไม้ยังเหลืออยู่ ตรงนี้มันก็จะเป็นปุ๋ยตัวหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ในพื้นที่นั้นนะคะ”
ส่วนคนที่บอกว่าชาวบางกลอยทำลายป่า เราจะอธิบายตรงนี้ยังไง
“ดูยังไงคะว่าเราทำลายป่า ถ้าเราทำลายป่า ป่านี้ป่าคงจะไม่หมดไปเหรอคะ เพราะว่าบรรพบุรุษของเราก็อยู่มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เราอยู่ เราผูกพันกับธรรมชาติ เราอยู่กับต้นน้ำลำธาร ถ้าไม่มีธรรมชาติ เราก็อยู่ไม่ได้”
“คือถ้าให้พูดจริงๆ ถ้าเราไม่ได้อยู่ในป่า หนูก็ไม่รู้ว่าป่าในแก่งกระจานจะกลายเป็นตึกไหม จะมีอะไรไหม ถ้าไม่มีพวกหนูอยู่ ถ้าไม่มีชาวกะเหรี่ยง อยู่ที่นั่น…”
ตอนนี้น้องจันทร์ยังคงอยู่ที่บางกลอยเคียงข้างชาวบ้านต่อไป ถึงแม้ตอนนี้จะไม่มีความหวัง แต่จันทร์บอกว่าจะสู้จนถึงที่สุดจนถึงวินาทีสุดท้าย และยังเชื่อมั่นว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้
แม่กิ๊ฟ หนึ่งในชาวบ้านบางกลอยที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐพาตัวลงมาในวันยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร
แม่กิ๊ฟพูดไทยไม่ได้จึงต้องสื่อสารผ่านล่ามชาวกะเหรี่ยงที่สามารถพูดไทยได้
รู้สึกอย่างไรเมื่อได้ทราบแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีว่าชาวบางกลอยไม่สามารถกลับสู่พื้นที่ใจแผ่นดินได้
“อยากทราบเหตุผลว่าทำไมเราถึงกลับไม่ได้…ถ้าท่านนายกไม่ให้เรากลับ คือถูกบังคับไม่ให้กลับบ้านอย่างนี้บ้าง ท่านนายกจะรู้สึกยังไง”
“รู้สึกว่าหมดความหวัง เพราะว่าท่านลงนามต่างๆ แล้วสุดท้ายก็ออกมาแถลงการณ์ต่างๆ ว่าชาวบ้านไม่สามารถกลับไปได้ รู้สึกผิดหวังมาก แล้วถึงแม้จะหมดหวัง เราก็ยังจะยืนยันว่าเราจะอยู่ข้างบน มันเป็นที่ของบรรพบุรุษ”
อยากจะบอกอะไรกับคนที่ยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับบางกลอยบ้าง
“เราไม่สามารถไปบังคับใครได้ว่าต้องมาเรียนรู้เรื่องประวัติบางกลอย แต่ถ้าอยากรู้ก็คือต้องเข้ามาเรียนรู้ในเชิงที่ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ที่นี่มันเป็นอะไรถึงเป็นแบบนี้ ท้ายที่สุดคือต้องไปศึกษาพื้นที่จริงๆ ว่ามันมีอะไรข้างใน”
แล้วถ้าได้กลับไปในใจแผ่นดิน ชาวบางกลอยจะมีการดูแลป่าอย่างไรบ้าง
ถ้าสมมติเราอยู่ได้…ก็คือการทำเกษตรไร่หมุนเวียน เราไม่ได้กินแค่เฉพาะของเราส่วนเดียว บางครั้งสัตว์ก็มากินของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นกระรอก เม่น ลิง อะไรพวกนี้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเรายังจะแบ่งปันให้สัตว์ป่ากินด้วย แล้วการได้อยู่กับป่า อย่างบางครั้งเราจะมีวิธีหากินกับป่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงปลาวางไข่ เราก็จะไม่จับมัน ลูกไม้สุกอย่างเช่นลูกมะปราง มะม่วงป่า กระท้อนป่า เราก็จะไม่โค่นต้นของมัน เราจะรอให้ลูกสุกแล้วค่อยเก็บมากิน ไม้ที่อยู่ริมน้ำก็จะไม่โค่น ซึ่งชาวบ้านมีวิธีการคือว่าเก็บไว้ให้คลุมแม่น้ำให้มันมีความร่มเย็นของแม่น้ำ
การทำไร่หมุนเวียนชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่ทำใกล้กับริมน้ำ จะทำในพื้นที่สูงเพื่อไม่ให้สภาพป่าหรือแม่น้ำสูญเสีย อยากให้สร้างความเข้าใจว่าคน 30 กว่าครอบครัวไม่สามารถทำกินทั้งหมด 5,400 ไร่ได้
มันเป็นไปไม่ได้…ถ้ามันเป็นอย่างนั้นก็คงเป็นคนอื่นแล้ว ประเด็นคือชาวบ้านจะทำแค่พื้นที่ของตัวเองที่เคยทำกินมาก่อนอยู่แล้ว ไม่ได้หมายความว่า 5,400 ไร่ จะต้องโค่นให้มันเตียนหมด มันไม่ใช่อย่างนั้น…มันเป็นวิธีการต่างๆ ที่ว่าต้องพักฟื้นแล้วปล่อยป่า ในช่วงหมุนเวียน
ท้ายที่สุดคือเรื่องการทำมาหากินของพี่น้องชาวบ้าน
ในส่วนต่างๆ ของไร่หมุนเวียน ถ้าเทียบดูกันดีๆ เราไม่ได้สร้างความเสียหายกับธรรมชาติ เราพยายามให้สภาพป่ายังคงอยู่
คนที่โตมากับป่า กับธรรมชาติ จะชอบฟังเสียงนก เสียงลิง เสียงค่าง เสียงชะนี เสียงแม่น้ำมากกว่า…นี่คือความสุขของเขา
“พูดง่ายๆ คือชอบเสียงธรรมชาติมากกว่า เขาใช้ชีวิตมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว อยู่กับธรรมชาติมานาน จึงรู้สึกว่าไม่สามารถขาดสิ่งนี้ได้”
‘ฮิ’ ภาษากะเหรี่ยงแปลว่า ‘บ้าน’
‘ฮิใจแผ่นดิน’ คือ ‘บ้านใจแผ่นดิน’
บ้าน…พื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ไม่อาจอยู่แยกจากกัน เปรียบดั่งต้นไม้ที่ขาดดิน น้ำ อากาศ ไม่ได้
ชีวิตคนที่อาศัยกับธรรมชาติจนกลายเป็นสายสัมพันธ์เดียวกัน จึงไม่อาจจะบังคับวิถีเดิมไปเป็นอย่างอื่น
เพราะชีวิตที่กำเนิดมาอยู่ร่วมกับป่า… ป่าคือแม่ผู้มีพระคุณ ไม่มีใครอยากทำร้ายและหนีไปจากแม่ผู้มีพระคุณที่มอบทุกอย่างให้มีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าชาวบ้านบางกลอยจะได้กลับไปยังใจแผ่นดินหรือไม่ บ้านที่จากมานั้นก็ยังคงเป็นบ้านอันแท้จริงที่อยู่ในใจพวกเขาตลอดไป ไม่ว่าใครจะบอกว่าอย่างไร หรือจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม…