อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่นี้พอ
เสื้อชูชีพ (Life jacket) เกิดมาเพื่อช่วยผู้ประสบภัยทางน้ำให้รอด แต่ปัญหาสำคัญคือสิ่งที่มีอยู่ตามเรือท่องเที่ยวในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเสื้อพยุงตัว (Buoyancy Aid) ที่ไม่ได้เน้นช่วยให้ใบหน้าพ้นน้ำ และคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นหรือไม่ได้สติอาจ ‘จมน้ำ’ ได้แม้สวมเสื้อ
จากเหตุการณ์การเสียชีวิตของนักแสดง แตงโม–นิดา พัชรวีระพงษ์ เสียชีวิตจากการพลัดตกเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นกระแสที่ทำให้สังคมให้ความสนใจต่ออุบัติเหตุทางน้ำที่นำไปสู่การเสียชีวิต
ปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำของไทยไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น นี่เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นยาวนาน โดยเฉพาะการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยจากสถิติของกรมควบคุมโรค ตลอดระยะเวลา 10 ปี (2554-2563) มีเด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำ 7,794 คน เฉลี่ยปีละเกือบ 800 ราย หรือวันละ 2 ราย ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของเด็กไทยเมื่อเทียบกับทุกสาเหตุ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายความเห็นมองว่า ‘หากสวมชูชีพก็ไม่เป็นปัญหา’ และได้รณรงค์ให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ต้องเดินทางหรือมีกิจกรรมทางน้ำ
แน่นอนว่าการสวมเสื้อชูชีพเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้หากเกิดอุบัติเหตุ แต่การสวม ‘ชูชีพ’ จะช่วยให้ ‘รอดชีวิต’ เสมอไปรึเปล่า?
คำตอบคือ ‘ไม่’
แม้ว่าเสื้อชูชีพ (Life jacket) เป็นสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อช่วยชีวิต ซึ่งจะมีส่วนคอช่วยให้ลอยน้ำในลักษณะนอนหงายหน้า แต่หากสวมอย่างไม่ถูกต้อง เช่น ขนาดเสื้อไม่พอดีกับร่างกาย ไม่ได้รัดตัวล็อกครบทุกจุด โดยเฉพาะส่วนคล้องขาที่มักถูกละเลยและทำให้เสื้อชูชีพหลุดออกจากตัวได้ ทำให้มีโอกาสไม่รอด
แต่นอกจากนั้น ปัญหาใหญ่คือเสื้อชูชีพส่วนใหญ่ที่อยู่ตามเรือท่องเที่ยว หรือกิจกรรมทางน้ำส่วนใหญ่ในประเทศไทย ไม่ใช่เสื้อชูชีพ ‘แท้’ แต่เป็นเสื้อพยุงตัว (Buoyancy Aid) ที่ออกแบบมาเพื่อกิจกรรมกีฬาทางน้ำ มีความคล่องตัว และช่วย ‘พยุง’ เท่านั้นไม่ได้เน้นไปที่การ ‘ช่วยชีวิต’ เพราะไม่มีส่วนรองคอที่ช่วยให้ใบหน้าพ้นน้ำ
หมายความว่าเสื้อพยุงที่ให้นักท่องเที่ยวใช้เป็นส่วนใหญ่นั้นไม่ได้ถูกออกแบบให้ผู้ประสบภัยลอยตัวหรือพยุงส่วนหัว ต้องมีการตีขาช่วยเพื่อไม่ให้หน้าจมน้ำ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็นและไม่ได้เรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดในเสื้อพยุงดังกล่าว ไปจนถึงคนที่ประสบอุบัติเหตุจนไม่ได้สติ ก็อาจเสียชีวิตได้เช่นกัน
ลักษณะของเสื้อชูชีพและเสื้อพยุงทำให้หลายคนได้ตั้งคำถามถึงการใช้ ‘เสื้อพยุงตัว’ ในกิจกรรมทางน้ำและการท่องเที่ยวว่าควรมีการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่
และแม้การสวมเสื้อชูชีพหรือเสื้อพยุงจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่หากไม่มีการเรียนรู้การสวมชูชีพอย่างถูกวิธีและเอาชีวิตรอดในเสื้อพยุงที่อาจต้องอาศัยทักษะทางน้ำก็อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้เช่นกัน
ปัจจัยสำคัญคือในประเทศไทยที่มีอัตราอุบัติเหตุทางน้ำ แต่กลับไม่มีหลักสูตรการเอาชีวิตรอดทางน้ำขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีการร้องขอความช่วยเหลือ การตะโกน และรู้จักวิธีการลอยตัวอยู่ในน้ำ โดยหลักสูตรการเรียนว่ายน้ำในโรงเรียนก็ไม่ได้เน้นการเอาตัวรอดเท่าที่ควร แต่เน้นการว่ายน้ำท่าสำหรับกีฬาด้วยท่าทางที่ถูกต้องมากกว่า ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ควรทำอย่างไร ในกรณีสวมเสื้อพยุงต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้รอด
อ้างอิง
- กรมควบคุมโรค. กรมควบคุมโรค จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ปี 2564 และเชิดชูเกียรติทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นครั้งแรก เพื่อรองรับวิถีใหม่ (New Normal) . https://bit.ly/3M5mqfD
- Siamrath. ทำความเข้าใจ ‘เสื้อชูชีพ–เสื้อพยุงตัว‘ ต่างกันอย่างไร. https://bit.ly/3M9mDyd
- Thairath. รวมเทคนิคเอาตัวรอดจากการจมน้ำ รู้จักเสื้อชูชีพ และวิธีช่วยเหตุเรือล่ม. https://bit.ly/3KmriLN
- Spring News. วิชาชีวิต : เรียนรู้การว่ายน้ำ การอยู่รอด การส่งต่อโอกาสและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์. https://bit.ly/3JZdwye