1 Min

คนตอแหลคนอื่นมักจะตอแหลตัวเองก่อน

1 Min
4924 Views
16 Apr 2021

เคยรู้สึกบ้างไหม? ทำไมใครบางคนถึงชอบพูดโกหก ทำไมชอบพูดไม่จริงเพียงเพื่อเอาใจ หรือชอบบิดเบือนความจริงเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ วันนี้เราจะมาดูงานวิจัยที่ทำมาวิเคราะห์ประเด็นนี้กัน

*โดยบทความต้นทางเลือกใช้คำว่า bullshit ถึงแม้อาจจะดูไม่น่ารัก แต่การใช้คำว่า ‘ตอแหล’ น่าจะได้ความหมาย และได้อารมณ์มากที่สุด

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาคน 800 คนจากทั้งสหรัฐฯ และแคนาดา เป็นเหมือนการให้คะแนนตัวเองว่าตัวเองมีพฤติกรรมพล่ามหรือตอแหลกับผู้อื่นมากหรือบ่อยแค่ไหน รวมถึงการให้คะแนนตัวเอง ว่ามีวิจารณญาณในการแยกแยะข่าวปลอม หรือบทความปลอมมาก

นักวิจัยแบ่งรูปแบบของการตอแหลไว้ 2 แบบ แบบแรกคือเพื่อโน้มน้าวใจ แบบที่สองคือปกปิดความจริง

  1. สำหรับแบบโน้มน้าวใจ เป็นการปรุงแต่งเนื้อหาเพื่อพูดเอาอกเอาใจ หรือสร้างความประทับใจ
  2. ส่วนแบบที่ปกปิดความจริง ก็มีเอาไว้หลีกเลี่ยงสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะส่งผลเสียต่อตัวเอง หรือทำร้ายจิตใจใครบางคน

ผลปรากฏว่าคนที่พฤติกรรมตอแหลแบบโน้มน้าวใจ มักจะมีแนวโน้มในการเชื่อข่าวปลอม หรือบทความปลอมมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจจะสะท้อนสู่เรื่องของกระบวนการทางความคิด

สรุปก็คือ คนที่พยายามพูดเกินจริง หรือบิดเบือนความจริงเพื่อให้คนอื่นประทับใจ ส่วนมากก็เป็นพวกเขาจะเข้าใจข้อมูลหรือเนื้อหามาแบบผิดๆ เอง จนทำให้ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังมีพฤติกรรมตอแหลอยู่

การศึกษาครั้งนี้พวกเขาพยายามจะทำความเข้าใจการสื่อสารในโลกสมัยที่ดูเหมือนจะมีการบิดเบือนกันอยู่ตลอดเวลา เพราะในบางครั้งคนที่เข้าใจอะไรผิดๆ ก็อาจจะไม่คิดอะไรในการส่งต่ออะไรที่ผิดๆ นั่นเอง


🍿 แล้วคุณล่ะ เคยเจอพฤติกรรมแบบนี้บ้างไหม มาแชร์กันดีกว่า

อ้างอิง 

  • IFLS. A Load Of BS: People Who Frequently Mislead Others Are More Likely To Be Fooled Themselves. https://bit.ly/3tg9eKU