3 Min

สิทธิ LGBT+ ในเมียนมา ความเท่าเทียมที่ต้องหยุดชะงักเพราะรัฐประหาร

3 Min
883 Views
08 Mar 2021

เมียนมาถือกฎหมายอาญามาตรา 377 มรดกกฎหมายจากอังกฤษ ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แม้ก่อนหน้านี้ความหลากหลายทางเพศในเมียนมาจะเปิดกว้างมากขึ้น มีการเดินขบวน Pride Parade ภาพยนตร์ LGBT+ และผู้สมัครสส.เกย์คนแรกในประวัติศาสตร์ที่หวังแก้กฎหมายให้เท่าเทียม แต่ความหวังทั้งหมดก็ต้องถูกพับเก็บลงทันทีที่เกิดรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์

ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ของเมียนมา หลังจากมีการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยกองทัพเมียนมาภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาและหัวหน้าพรรค NLD ในการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเราได้เห็นธงสีรุ้งของชาว LGBT+ โบกสะบัดเพื่อต่อต้านรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเพื่อประชาธิปไตย

ภาพกลุ่ม LGBT+ ในเมียนมา

ภาพกลุ่ม LGBT+ ในเมียนมา | Al Jazeera

ประชาธิปไตยสำคัญต่อ LGBT+ ในเมียนมาอย่างไร?

เป็นข้อเท็จจริงที่สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่มาพ่วงกับประชาธิปไตย เช่นเดียวกับความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในเมียนมาการกดทับทางเพศนั้นยังคงรุนแรงไม่ใช่เพียงแค่เชิงสังคม แต่ในเชิงกฎหมายด้วย

ในอดีตเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ปีค.ศ.1824 และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริติชอินเดีย แม้จะหลุดจากการเป็นอาณานิคมในปี 1943 แต่มรดกที่โลกตะวันตกทิ้งไว้ให้เมียนมาคือข้อกฎหมาย ซึ่งหลายมาตรายังไม่เคยได้รับการแก้ไขจนถึงปัจจุบัน

หนึ่งในนั้นคือกฎหมายอาญามาตรา 377 ซึ่งพูดถึงความผิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ “ผิดธรรมชาติ” มีความผิดทางอาญาและอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ซึ่งในข้อกฎหมายครอบคลุมการมีเพศสัมพันธ์ของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ ไปจนถึงชายหญิงที่มีสัมพันธ์ทางปากหรือทวารหนัก

อันที่จริงกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเมียนมาเท่านั้น ในกลุ่มประเทศเครือจักรภพของอังกฤษหลายประเทศได้รับกฎหมายลักษณะเดียวกัน แต่หลังจากโลกสมัยใหม่เปิดรับความหลากหลายของรสนิยมมากขึ้นกว่าเก่า อดีตอาณานิคมหลายแห่งเช่นอินเดีย บอตวานา หรือตรินิแดด ประกาศเลิกบังคับใช้ข้อกฎหมายนี้แล้ว

แต่ยังไม่ใช่ในเมียนมา…

แม้จะไม่ใช่ไม่มีความหวังเพราะความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในเมียนมาเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังการปฏิรูปการเมืองช่วงปี 2011 หลังจากนั้นไม่นานการสื่อสารเรื่อง LGBT ผ่านสื่อเริ่มมีให้เห็นมากขึ้น และปี 2016 มีภาพยนตร์ LGBT อย่าง ‘The Gemini’ เข้าฉายเป็นครั้งแรก และในปี 2019 ยังมีการจัด Pride Parade ทางการอย่างยิ่งใหญ่ในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นก้าวครั้งสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศ

ในขณะที่ด้านกฎหมาย นางอองซาน ซูจี เคยประกาศจุดยืนว่าจะยกเลิกมาตรา 377 เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรค NLD และในการเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2020 ‘เมียว มิน ตุน’ ผู้สมัครเลือกตั้งสส.ภูมิภาคมัณฑะเลย์ จากพรรค People’ s Pioneer Party วัย 39 เป็นผู้สมัครเกย์เปิดเผยคนแรกของเมียนมา ที่ยืนหยัดในการปกป้องสิทธิของคนหลากหลายทางเพศ และต้องการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

Pride Parade 2019 ในนครย่างกุ้ง

Pride Parade 2019 ในนครย่างกุ้ง | Al Jazeera

นอกจากนี้ ระหว่างหาเสียง พรรค Myanmar National Congress Party ได้ชูนโยบายความเท่าเทียมทางเพศไปจนถึงการสมรสเพศเดียวกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย

เรียกได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้สิทธิความเท่าเทียมทางเพศของเมียนมากำลังก้าวไปข้างหน้า แม้จะยังมีการปะทะโต้เถียงกับกลุ่มอนุรักษนิยมและมีการใช้ความรุนแรงกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้เห็น แต่สำหรับกลุ่ม LGBT+ การแก้ไขมาตรา 377 ก็ยังเป็นแสงของความหวังที่เห็นรำไร

ทว่าหลังการยึดอำนาจรัฐประหารโดยกองกำลังทหารที่ผ่านมา ความหวังที่จะแก้ไขกฎหมายและสร้างความเท่าเทียมทางเพศในเมียนมาก็กลายเป็นแสงริบหรี่ เช่นเดียวกับสิทธิอื่นๆ ภายใต้การนำของระบอบเผด็จการทหาร

อ้างอิง:

  • Refugee legalaid information. MYANMAR LGBTI RESOURCES. https://bit.ly/2PmwjMT
  • Pink News. Damning report reveals extent of brutality, violence and persecution LGBT+ people face in Myanmar, where gay sex is illegal. https://bit.ly/3uM3zgO
  • Aljazeera. Myanmar government urged to scrap colonial-era law on gay sex. https://bit.ly/3sFqIzM
  • MGR online. ผู้สมัครเลือกตั้งเกย์คนแรกของพม่า หวังคว้าที่นั่งในสภาแก้ปัญหาเลือกปฏิบัติ LGBT. http://bit.ly/3uTc0XP
  • ประชาชาติ. เมียนมา จัดเทศกาล LGBT อย่างเปิดเผยครั้งเเรก เเม้ความสัมพันธ์รักเพศเดียวกันยังผิดกฎหมาย. https://bit.ly/383G8pF