7 Min

ผมทนไม่ไหวแล้ว…ทำไมต้องเป็นแบบนี้ด้วย?” รำลึก 21 ปี การจากไปของ เลสลี จาง ดวงดาวแห่งความหวังของ ‘ผู้ป่วยซึมเศร้า’ และ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ในฮ่องกง

7 Min
477 Views
03 Apr 2024
[บทความนี้ มีเนื้อหาที่พูดถึงโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจได้]

ด้วยความระลึกถึง ‘เลสลี จาง’ …ดวงดาวผู้มอบความหวังในคืนไร้แสงของใครหลายคน

“ภาวะซึมเศร้า!

ขอบคุณมากสำหรับเพื่อนๆ ทุกคน

ขอบคุณมากสำหรับศาสตราจารย์เฟลิซ ลี-มัค*

ปีนี้เป็นปีที่โหดมาก

ผมทนไม่ไหวแล้ว

ขอบคุณมากนะ ถง ถง**

ขอบคุณมากนะครอบครัวของผม

ขอบคุณมากนะพี่เฟย

ในชีวิตนี้ ผมไม่ได้ทำอะไรไม่ดีเลย

ทำไมถึงต้องเป็นแบบนี้ด้วย???

(เนื้อความในจดหมายต้นฉบับ:
Depression!

多謝各位朋友

多謝麥列菲菲教授

這一年很辛苦

不能再忍受

多謝唐先生

多謝家人

多謝肥姐

我一生沒做壞事

為何這樣???)

*ศาสตราจารย์เฟลิซ ลี-มัค จิตแพทย์คนสุดท้ายของเลสลี จาง
**ถง ถง เป็นชื่อเล่นของแดฟฟี ถง คนรักของเลสลี จา

นี่คือข้อความในจดหมายที่เขียนด้วยลายมือของเลสลี จาง ที่ แดฟฟี ถง ได้เปิดเผยและยืนยันการเสียชีวิตอย่างกะทันหันโดยไม่มีใครคาดคิดของซูเปอร์สตาร์เกาะฮ่องกง หลังจากมีข่าวลือแพร่สะพัดทั่วเกาะฮ่องกงว่า เวลาประมาณ 18.43 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ของวันที่ 1 เมษายน 2003 เลสลี จาง ตกลงมาจากชั้น 24 ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ในเขตเซ็นทรัล แต่ ณ ขณะนั้น ผู้คนส่วนใหญ่ต่างคิดว่านี่เป็นเรื่องโกหก เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในวัน April Fool’s Day และเป็นปกติตามธรรมเนียมที่มักจะมีการกุเรื่องโกหกขึ้นมาหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน…แต่โชคร้ายที่เรื่องนี้กลับไม่ใช่เรื่องโกหกอย่างที่ทุกคนคิด

แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 21 ปีแล้ว แต่เรื่องราวของ เลสลี จาง ศิลปินชื่อดังของวงการบันเทิงฮ่องกงช่วงยุค 80s-90s ที่นับว่าเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมบันเทิงฮ่องกงรุ่งเรืองถึงขีดสุด ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนมากมายทั่วโลก ที่เป็นมากกว่าความรักของกลุ่มแฟนคลับที่มีต่อศิลปิน

แต่ชีวิตของเขาได้ฉายภาพสะท้อนของกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานด้วยโรคซึมเศร้า ในห้วงเวลาที่สังคมและผู้คนรอบข้างยังไม่มีความรู้ความเข้าใจกับสภาวะความเจ็บป่วยทางจิตอย่างในปัจจุบัน รวมไปถึงการต้องปกปิดตัวตนที่แท้จริงในฐานะ LGTBQ+ เพื่อจะใช้ชีวิตอยู่ได้ในสังคมที่ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมเรื่องเพศยังเข้มแข็ง และไม่อาจยอมรับความเป็นอื่นที่นอกเหนือจากความเป็นชายและความเป็นหญิงได้

เรื่องราวและก้าวแรกของ ‘เลสลี จาง’ (Leslie Cheung) หรือ ‘จาง กั๋วหรง’ (张国荣) เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1977 ที่แสงสปอตไลต์แรกส่องกระทบมายังตัวเขาบนเวทีการแข่งขันนักร้องสมัครเล่นยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (The Asian Amateur Singing Contest)

ค่ำคืนนั้น เลสลี จางเลือกเพลง ‘American Pie’ มาใช้แข่งขันและคว้ารางวัลอันดับ 2 ในการประกวด แต่เสน่ห์อันเหลือล้นที่เปล่งประกายอยู่บนเวที ได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ RTV มองเห็นศักยภาพและความสามารถของเขา ทำให้เลสลี จาง ได้เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงทันที รวมถึงเขายังได้เป็นนักร้องภายใต้สังกัด Polydor อีกด้วย

แต่ก็ใช่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จตั้งแต่แรกเริ่มอาชีพในวงการบันเทิงฮ่องกง

เลสลี จาง เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น หลังจากเซ็นสัญญากับค่ายใหม่และปรับภาพลักษณ์ของตนเอง เขาเริ่มทำเพลงสไตล์แคนโตป๊อป (Cantopop) และเพลง ‘Monica’ ก็เป็นผลงานแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในปี 1984

นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่อง ‘โหด เลว ดี’ ในปี 1986 และ ‘โปเยโปโลเย เย้ยฟ้าแล้วก็ท้า’ ในปี 1987 ก็ส่งให้ชื่อเสียงของเลสลี จาง โด่งดังในวงกว้างทั้งในฮ่องกงและทั่วเอเชีย หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไม่ว่าเลสลี จาง จะมีผลงานอะไรออกมาก็ล้วนประสบความสำเร็จ และขึ้นแท่น ‘ซูเปอร์สตาร์’ ระดับ A List ของฮ่องกงทันที

เลสลี จาง กำลังคบหาดูใจกับใคร?
เลสลี จาง มีรสนิยมแบบใด?

คำถามมากมายจากนักข่าว ทุกสายตาที่คอยจับจ้อง ทุกการเคลื่อนไหวที่ถูกเฝ้าติดตาม กลายเป็นอีกหนึ่งในหลายเหตุผลส่วนตัวที่เลสลี จางจำเป็นต้อง ‘ปิดบังตัวตน’ เอาไว้ ด้วยหน้าที่การงานในวงการบันเทิง ประกอบกับสภาพสังคมของฮ่องกงในเวลานั้น (รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก) ที่ยังไม่ยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าตัวของเลสลี จาง จะคบหาอยู่กับ ‘แดฟฟี ถง’ (Daffy Tong) ชายผู้เป็นทั้งเพื่อนสมัยเด็กและลูกทูนหัวของแม่ตนเอง มาตั้งแต่เข้าวงการบันเทิงใหม่ๆ แล้วก็ตาม และย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เลสลี จางก็รู้ว่าตนเองเป็นเกย์ตั้งแต่สมัยเรียนไฮสคูลที่อังกฤษ

ช่วงไพรม์ไทม์แห่งอาชีพศิลปินของเลสลี จาง กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นในปี 1989 เขาตัดสินใจจัดคอนเสิร์ตอำลาวงการเพลง ท่ามกลางความใจหายและความเสียดายของเหล่าแฟนๆ หลังจากนั้นเขาและแดฟฟี ถง ก็ย้ายไปอยู่ที่แคนาดา เพื่อใช้ชีวิตกันอย่างเปิดเผย

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ก็ต้องกลับมาอยู่ที่ฮ่องกงอีกครั้ง โดยซื้อบ้านหลังใหม่และอาศัยอยู่ร่วมกัน เพราะเลสลี จาง ยังคงรับงานแสดงในฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงเวลานั้นเขาต้องเดินทางไปมาระหว่างแคนาดาและฮ่องกงอยู่เสมอ

เมื่อเอ่ยถึงเลสลี จาง ในฐานะ ‘นักแสดง’ ผลงานโดดเด่นที่หลายคนต้องนึกถึง คงหนีไม่พ้น ‘Days of Being Wild’ ในปี 1991 ของหว่อง กาไว แม้จะทำรายได้ไม่ดีนัก แต่ฝีมือการแสดงของเลสลี จาง จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ส่งให้เขาคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก จากเทศกาลภาพยนตร์ฮ่องกง รวมถึงยังได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกอย่างล้นหลามจากนักวิจารณ์

ถัดมาอีก 2 ปี ในปี 1993 ชื่อของเลสลี จาง กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจาก ‘Farewell My Concubine’ ภาพยนตร์ที่เขารับบทเป็นนักแสดงงิ้วที่แอบรักนักแสดงชายด้วยกัน นี่คือการรับบทบาทเป็นชายรักชายครั้งแรกในอาชีพนักแสดง และกลายเป็นผลงานระดับ Masterpiece นอกจากนี้ เลสลี จาง ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์อีกด้วย

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปี 1997 เป็น ‘ปีทอง’ ของเลสลี จาง หลังจากที่เขากลับมาแสดงภาพยนตร์ ‘Happy Together’ ของหว่อง กาไว อีกครั้ง โดยภาพยนตร์เล่าเรื่องความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งเกลียดของชีวิตคู่เกย์ ที่เขาแสดงร่วมกับ เหลียง เฉาเหว่ย แน่นอนว่ากระแสตอบรับของภาพยนตร์เรื่องนี้ดีมาก จนกลายเป็นผลงานที่ทำให้คนรู้จัก เลสลี จาง มากที่สุด

ด้านอาชีพในวงการเพลง ปี 1995 เลสลี จาง หวนคืนวงการอีกครั้งและยังคงได้รับความนิยมเช่นเดิม

ส่วนความสัมพันธ์ของเลสลี จาง และ แดฟฟี ถง ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี และหลายครั้งที่ปาปารัสซีสามารถถ่ายภาพของทั้งคู่ที่กำลังจูงมือกันได้ ขณะออกไปเดตกันในพื้นที่สาธารณะ แต่เขาก็ไม่เคยออกมายอมรับอย่างเป็นทางการแม้แต่ครั้งเดียวว่าเป็นเกย์

แม้เลสลี จาง ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่หากลองไล่ย้อนไปอ่านคำตอบของเขาจากบทสัมภาษณ์ต่างๆ เช่น ในปี 2001 เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “จิตใจของผมคือไบเซ็กชวล มันง่ายที่ผมจะรักผู้หญิง และเช่นเดียวกันมันง่ายที่จะรักผู้ชาย”

ถึงเลสลี จาง จะมีความสุขกับสิ่งที่ตนเองเป็น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาก็เจ็บปวดมากเช่นกันที่ถูกโจมตีในประเด็นนี้อยู่เสมอ กระทั่งช่วงปลายทศวรรษที่ 90 เลสลี จางได้เขียนเพลงหนึ่งขึ้นมา โดยเนื้อเพลงดูเหมือนเป็นการระบายความรู้สึกของตนเอง ท่อนหนึ่งเขียนว่า

“I am what I am.

A firework of a different color.

Among the wide sky and broad ocean.

I must be the strongest foam.”

จนกระทั่งในปี 1997 เลสลี จางจัดคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้ง เขาเลือกที่จะใส่ชุดสูทสีดำ และสวมรองเท้าส้นสูงสีแดง ปรากฏตัวในคอนเสิร์ตครั้งนี้ สร้างความฮือฮาให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก และนับได้ว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็น ‘การเปิดตัวต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ’ และเปิดเผยว่าตนเองกำลังคบหาอยู่กับแดฟฟี ถง โดยก่อนที่เลสลี จาง จะร้องเพลง ‘The Moon Represents My Heart’ (月亮代表我的心) เขาได้กล่าวกับทุกๆ คนในคอนเสิร์ตว่า

“คืนนี้ผมมีเพลงจะร้องให้กับแม่
และมอบให้ใครอีกคนที่อยู่ในหัวใจของผม 

คนนั้นคือลูกทูนหัวของแม่
ในช่วงที่ผมลำบากที่สุด เขาให้เงินผมใช้หลายเดือน
เขาอยู่กับผมในช่วงที่ลำบากที่สุด 

เขาคือเพื่อนที่ดีที่สุดของผม ‘คุณถง’ ”

ต่อมาในปี 2000 เลสลี จางประกาศทัวร์คอนเสิร์ตครั้งใหม่โดยใช้ชื่อว่า ‘Passion Tour’ ที่ตั้งใจจะจัดแสดงในหลายๆ ประเทศ และนั่นคือคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา

ใน Passion Tour เลสลี จางเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ผสมผสานระหว่างแฟชั่นไม่จำแนกเพศว่าเป็นชายหรือหญิง กับวัฒนธรรมแดร็ก (Drag) ที่สะท้อนตัวตนของเขาอย่างชัดเจน

แม้การแสดงออกด้านอัตลักษณ์ทางเพศของเลสลี จาง จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครต่อใครอีกหลายคน แต่ตัวเขาเองกลับยิ่งโดนสังคมโจมตีหนักขึ้นเรื่อยๆ

ความพยายามของเลสลี จาง ที่ต้องการก้าวข้ามการไม่ยอมรับในตัวตนของเขาจากสาธารณชน กลายเป็นเรื่อง ‘ล้ำสมัยเกินไป’ และ ‘ท้าทาย’ สังคมฮ่องกงในห้วงเวลาอย่างมาก ทำให้ Passion Tour ได้รับคำวิจารณ์เชิงลบอย่างหนักจากสื่อต่างๆ ในเกาะฮ่องกง ที่สวนทางกับกระแสชื่นชมของกลุ่มผู้ชม

.เลสลี จาง ต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้งหลังจากจบ Passion Tour ด้วยความตั้งใจที่อยากจะท้าทายขีดจำกัดบนเส้นทางอาชีพของตนเอง ด้วยการก้าวออกไปเขียนบทและเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากนายทุนที่ให้การสนับสนุนโปรเจกต์นี้ถูกจับกุม ทำให้เขาต้องถอนทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้

นั่นเท่ากับว่า เลสลี จางต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวังถึงสองครั้งติดๆ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน

หลังจากนั้น เลสลี จางเริ่มมีอาการป่วยต่างๆ ตามมา เช่น ตาพร่ามัว มือสั่น เจ็บปวดตามร่างกาย ไม่มีสมาธิ จนถึงขั้นไม่สามารถทำงานได้ ไม่ว่าจะไปพบแพทย์อยู่หลายครั้งแต่ก็ยังหาสาเหตุไม่พบ ทำให้เขาไม่ยอมออกไปไหน เอาแต่อยู่ในบ้าน จนแดฟฟี ถง ตัดสินใจนัดหมายให้เลสลี จาง พบกับจิตแพทย์ที่บ้านพี่สาว ด้วยเหตุผลที่เลสลี จาง มักถูกปาปารัสซีตามติดจนไม่สามารถออกไปโรงพยาบาลได้ และจิตแพทย์วินิจฉัยว่า เลสลี จาง เป็น ‘โรคซึมเศร้า’

“เราคงจะโทรหากันไม่ได้อีก”

ประโยคสุดท้ายที่เลสลี จาง พูดกับอัลเฟรด ม็อก เพื่อนผู้ร่วมรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายในชีวิตของเขา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2003 ที่ร้านอาหารตะวันตกร้านประจำอย่าง Fusion แม้เลสลี จาง จะดูปกติในสายตาผู้คนภายนอก แต่ตลอด 3 ชั่วโมงที่ใช้เวลาร่วมกัน อัลเฟรด ม็อกกลับสังเกตเห็นความวิตกกังวล ท่าทีกระสับกระส่าย บทสนทนาสุดท้ายระหว่างเขากับเลสลี จาง เต็มไปด้วยคำถามแปลกๆ เช่น “ถ้าคุณป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่ได้ คุณจะทำอย่างไร”

หนึ่งชีวิตที่จากไปในช่วงเย็นของวันที่ 1 เมษายน เมื่อ 21 ปีที่แล้ว อาจช่วยกรุยทางให้สังคมฮ่องกงเกิดการหยิบยกและถกเถียงกันในประเด็นเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น รวมถึงยังนำไปสู่ความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีใครให้ความสำคัญ ณ ขณะนั้น แต่ก็นับเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ฉายภาพความหวังให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เผชิญหน้ากับชะตากรรมไม่ต่างกับ เลสลี จาง

คงจะดีไม่น้อย หากวันนี้ เลสลี จาง ไม่ได้เป็นเพียง ‘ตำนานที่ไร้ลมหายใจ’ หากเขายังได้สร้างความสุข รอยยิ้ม ให้กับผู้คนอีกมากมาย รวมถึงได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับแดฟฟี ถง คนอื่นๆ ที่เขารัก และคนรอบตัวที่รักเขา

‘เลสลี จาง’ คงไม่ใช่คนสุดท้ายที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับสภาวะโรคนี้ และเชื่อเหลือเกินว่าคงไม่มีใครที่ต้องการให้ชีวิตของใครกลายเป็น ‘บทเรียน’ ที่สร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม

.

.

อ้างอิง