4 Min

ทำงานวันละ 16 ชั่วโมง ‘เรื่องปกติ’? อาจจะจริงในบางวงการ แต่ถ้าเปลี่ยนได้ก็ดีนะ

4 Min
1020 Views
07 Jul 2022

ตามเกณฑ์กฎหมายแรงงานทั่วไปการทำงานในแต่ละวันไม่ควรเกิน 8 ชั่วโมงและจำนวนการทำงานตลอดทั้งสัปดาห์รวมกันแล้วก็ไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมง หรือถ้าต้องทำงานเกินเวลา ก็ควรจะมีค่าล่วงเวลาด้วย ซึ่งในประเทศไทยก็ใช้เกณฑ์นี้ แต่มีบางแวดวงเหมือนกันที่การทำงานวันละ 16 ชั่วโมงถูกมองเป็นเรื่องปกติจนมีคำถามว่าถึงเวลาหรือยังที่จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมและค่านิยมการทำงานแบบนี้

สำหรับคนที่สงสัยว่าประเด็นการทำงานวันละ 16 ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติจริงไหม มีคำให้สัมภาษณ์ของผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหญ่ 2 รายของไทย ซึ่งมีคนนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 บอกว่านี่คือเรื่องจริงแต่ก็ไม่ได้สนับสนุนหรือเห็นด้วยให้กลายเป็นบรรทัดฐานของวงการนี้

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงปัญหาสวัสดิภาพแรงงานซึ่งเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊คเพจของสมาคมฯ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 และมองว่านี่คือหนึ่งในปัญหาเรื้อรังที่ฉุดรั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทย 

ส่วนเหตุผลที่คนทำงานในแวดวงภาพยนตร์และสื่อบันเทิงต่างๆ (รวมถึงคนทำคอนเทนต์) ของไทยต้องทำงานเกินมาตรฐานสากลจนเป็นเรื่องปกติเนื่องมาจากคนทำงานขาดอำนาจต่อรองจึงเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้การแก้ไขปัญหานี้ไม่สำเร็จ

ขอชี้แจงว่า คุณบัณฑิต ทองดี และคุณปรัชญา ปิ่นแก้ว มิได้สนับสนุนแนวคิดการทำงานเกินมาตรฐานสากล และยังได้พยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด โดยได้เข้าร่วมปรึกษาหารือกับหน่วยงานราชการ คณะกรรมาธิการของรัฐสภา พรรคการเมือง บริษัทผู้ผลิต และองค์กรต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้สำเร็จ โดยหนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือ การขาดอำนาจต่อรองของแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิง

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจึงขอสนับสนุนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และสมาคมสาขาอาชีพอื่นๆ ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมบันเทิง เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองให้เพิ่มมากขึ้นและนำไปสู่การพูดคุยเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

หากแรงงานในทุกภาคส่วนได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีสวัสดิภาพที่ดี ย่อมจะส่งผลให้การทำงานในภาพรวมดีขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ของไทยได้ในระยะยาวแถลงการณ์ของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ระบุรายละเอียดชัดเจน

คนในแวดวงอุตสาหกรรมหนังเคยทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันเหมือนคนทั่วไป

เมื่อมองย้อนกลับไปที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ โทรทัศน์ และสื่อเพื่อความบันเทิงยุคที่ยังบันทึกเรื่องราวต่างๆ ด้วยแผ่นฟิล์ม การทำงานของคนในแวดวงหนังยุคหนึ่งเคยมีการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ และชั่วโมงการทำงานเริ่มจาก 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น เหมือนกับงานอื่นๆ

เว็บไซต์ Film Stories ของอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ของวงการหนังเอาไว้เมื่อปี 2019 ว่า สมัยที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังใช้ฟิล์มเป็นหลัก กระบวนการทำงานทุกส่วนจะถูกวางแผนอย่างรัดกุมไม่ให้สิ้นเปลืองฟิล์ม ประกอบกับตลาดหนังทั่วโลกยังไม่ได้แข่งขันกันอย่างเข้มข้นเหมือนอย่างทุกวันนี้ คนทำงานในวงการนี้จึงยังสามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ถึงขั้นที่สามารถกลับไปกินข้าวเย็นกับคนที่บ้านได้

จนกระทั่งเทคโนโลยีดิจิทัลถูกพัฒนาให้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้นเรื่อยๆ การถ่ายทำฉากแต่ละฉากจึงไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดของฟิล์ม เพราะอุปกรณ์ดิจิทัลทั้งหลายก้าวข้ามเรื่องนี้ไปแล้ว แต่จำนวนช็อตต่อช็อตที่ถ่ายทำก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ถึงขั้นที่ต้องถามกันใหม่ว่าช็อตที่ถ่ายมาจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และถ้าจะมองว่านี่เป็นงานที่ต้องจัดการ (หรือจัดเก็บ) เพิ่มขึ้นก็คงมองได้เช่นกัน

ยิ่งตลาดหนังทั่วโลกขยายตัวมากเท่าไหร่ คนทำงานด้านนี้ก็ต้องทำงานกันหนักขึ้นไปมากเท่านั้น รวมถึงการแข่งขันระหว่างอุตสาหกรรมหนังดั้งเดิมกับธุรกิจสตรีมมิ่งก็ยังดุเดือดเลือดพล่านแม้แต่ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ก็เลยเป็นที่มาของคำว่าการทำงานวันละ 16 ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ 

ขณะเดียวกัน สหภาพแรงงานสากลของอุตสาหกรรมภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (UNI Global Union) ซึ่งมีเครือข่ายในอีก 20 ประเทศทั่วโลกก็เพิ่งสำรวจสถานการณ์คนทำงานในแวดวงหนังและทีวีรวมกว่า 150,000 คนเมื่อปี 2021 ก็พบข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกัน คือ การทำงานในกองถ่ายส่วนใหญ่จะตกวันละ 12-16 ชั่วโมง บางกองยังทำงานต่อในวันหยุดด้วย ถ้ารวมชั่วโมงการทำงานตลอดสัปดาห์ก็จะสูงถึง 60 ชั่วโมงแน่นอน ซึ่งสูงกว่าชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายแรงงานส่วนใหญ่กำหนดไว้

การทำงานยาวนานในแต่ละวัน แถมยังทำติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ ทำให้คนในอุตสาหกรรมหนัง ทีวี และบันเทิงทั่วโลก ประสบปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพใจกันถ้วนหน้า ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นปัญหาร่วมของคนแวดวงนี้ทั่วโลก

อย่างไรก็ดี บริษัทหรือนายทุนในอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยเสมอไป แถมยังอาศัยเงื่อนไขการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์เพื่อจะเลี่ยงความรับผิดชอบในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพคนทำงานอยู่บ่อยๆ สหภาพแรงงานและองค์กรเครือข่ายคนทำงานด้านนี้จึงพยายามต่อสู้และต่อรองให้เกิดการคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานกันอยู่ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก ไม่ว่าจะเป็นที่ฮอลลีวูดหรือในประเทศไทย (และในวงการหนังประเทศอื่นๆ ด้วย)

นอกจากนี้ ก่อนจะพูดถึงการทำงาน 16 ชั่วโมง ในไทยก็มีกรณี JSL บริษัทสื่อมัลติมีเดียที่แถลงว่าปรับตัวรับมือยุคดิจิทัลไม่ทันจนต้องยุติกิจการบางส่วน แถมยังเป็นเหตุการณ์ที่คนถูกปลดออกจากงานต้องต่อสู้ร้องเรียนกับอดีตต้นสังกัดต่ออีกยก เพราะได้ค่าชดเชยต่ำกว่าที่ควรได้ตามเกณฑ์กฎหมายแรงงาน หรือแค่ราวๆ 16 เปอร์เซ็นต์ ฝ่าย JSL จึงได้ออกมาบอกว่าขอผ่อนจ่ายแต่ยังต้องตามกันต่อว่าจะจ่ายครบจนจบเรื่องเมื่อไรแน่

อ้างอิง

  • Film Industry. The realities of working on a film set? A social life isn’t likely to be an optional extra. https://bit.ly/3P2aMCJ 
  • Hollywood Reporter. Global Union Survey Shows 60-Hour Workweeks Are the Norm Across Film, TV Industry. https://bit.ly/3R2T3wO 
  • Matichon. เจเอสแอล แจงเงินชดเชยเลิกจ้าง พนง. ยันจ่ายครบตาม กม. ทยอยทุกสิ้นเดือน. https://bit.ly/3OOv2s2 
  • THaiFilmDirectorPage. แถลงการณ์ของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เรื่อง ปัญหาสวัสดิภาพแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย. https://bit.ly/3ArDadF