3 Min

ส่องคนถูกฟ้องคดี 112 เกือบหนึ่งปีโดนไปกี่คน?

3 Min
773 Views
09 Nov 2021

เป็นที่จับตาอีกครั้งหลังพรรคเพื่อไทยได้ประกาศว่าพร้อมเสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 และ 116 เข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาในงาน ‘พรุ่งนี้เพื่อไทย’ ที่ได้เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองและฟื้นฟูระบบนิติรัฐและนิติธรรมของประเทศไทย

โดยแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยระบุว่าการฟ้องร้องด้วยมาตรานี้ เป็นการใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีและจำกัดความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างอย่าง ‘ล้นเกิน’ สร้างผลกระทบให้ประชาชนเสียหายจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งประชาชนสงสัยว่า ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวโดยมิชอบด้วยหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน

การประกาศครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทยทำให้หลายคนจับตา เนื่องจากก่อนหน้านี้พรรคไม่มีแนวทางในการแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวมาก่อน โดยเฉพาะมาตรา 112 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

นอกเหนือจากนี้ ในวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมายังมีการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน ให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 บริเวณแยกราชประสงค์ โดย ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำซึ่งเป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากมาตราดังกล่าว ได้กรีดแขนตัวเองเป็นเลข 112 เพื่อเป็นแถลงการณ์ในการเรียกร้อง

ข้อเรียกร้องและการตั้งคำถามถึงมาตรา 112 หรือข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญาที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในกฎหมายฉบับ พ.ศ. 2499 แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้กลับมีผู้ถูกดำเนินคดีจากมาตราดังกล่าวเพื่อขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 1 ปีมานี้ ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 – 28 ต.ค. 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 154 คน ใน 159 คดี โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชน 12 ราย
โดยในจำนวนคดีทั้งหมดในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็น

  • คดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 78 คดี
  • คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา 65 คดี
  • คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 10 คดี
  • คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 5 คดี
  • คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี

จากสถิติพบว่าในคดีความหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษส่วนมากขั้นเป็นประชาชนทั่วไปถึง 78 คดี รองลงมาจึงเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา ซึ่งผู้ฟ้องร้องในคดีเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่กลุ่มผู้ชุมรุมเรียกร้องต้องการให้มีการแก้ไข เนื่องจากต้องสงสัยว่ากฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าการบังคับใช้ตามความกฎหมายอย่างมีนิติธรรม

อย่างไรก็ดี การเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เป็นที่ถกเถียงดุเดือดทางการเมืองมายาวนานหลายปี มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวางและมีที่ทั้งผู้ที่ต้องการให้ยกเลิก ผู้ที่ต้องการให้แก้ไขหรือเงื่อนไขบางประการ หรือผู้ที่ต้องการให้กฎหมายคงอยู่ หลังจากการประกาศเพื่อเปิดประเด็นอีกครั้งของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคขั้วใหญ่ทางการเมืองทำให้หลายคนหันกลับมาจับตาอีกครั้งมาจะมีการเสนอแก้ไขในรัฐสภาหรือไม่ และข้อเสนอจะเป็นอย่างไร

infographic 112 law

ประเด็นหลักที่มีผู้เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายนี้ เป็นเพราะเนื้อหาระบุว่าผู้กระทำผิดมาตรา 112 ถือเป็นการกระทำความผิด ‘ต่อแผ่นดิน’ จึงเปิดโอกาสให้ ‘ใครก็ได้’ เป็นผู้ฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาทโดยทั่วไปที่ระบุให้ผู้เสียหายเป็นผู้ร้องทุกข์ ทำให้มีผู้อ้างกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการฟ้องร้องผู้เห็นต่างทางการเมืองเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ก็เป็นหนึ่งในกลไกระหว่างประเทศที่เรียกร้องให้ไทยปรับแก้กฎหมายนี้ โดยแถลงการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของ UNHRC ระบุว่าการใช้กฎหมายนี้กับผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชน “เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง”

อ้างอิง:

  • ข่าวสด. “เพื่อไทย” มาแล้ว! รับลูกม็อบราษฎร ดันแก้ “ม.112-116” เข้าสู่สภาฯ. https://bit.ly/3GORJZw
  • ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน. สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-6> https://bit.ly/3CxS1Bb
  • ประชาไทย. ผู้ถูกดำเนินคดี 112 ระลอกใหม่แตะร้อย หลังประยุทธ์ประกาศใช้ กม. ทุกมาตรา. https://bit.ly/3mz9GmQ
  • BBC. ม. 112: เปิดสำนวนตำรวจ ทำอะไรถึงเข้าข่าย “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ”> https://bbc.in/3pRbycB
  • UN rights experts alarmed by rise in use of lèse-majesté laws in Thailand
    https://bit.ly/31dzxYZ