2 Min

‘วัวลัตเวียสีน้ำเงิน’ เฉียดสูญพันธุ์ เพราะถูกด้อยค่าว่าให้นมน้อย

2 Min
1460 Views
20 Jan 2022

blue cow l Gints Ivuskans/AFP

บางครั้งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ก็เกิดจากเรื่องที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่

วันนี้เราจะมาพูดถึงสายพันธุ์วัวชนิดหนึ่งที่เผ่าพันธุ์ของมันเคยไร้คนแยแส ด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่าให้นมน้อย อย่าง ‘วัวสีน้ำเงิน’ ในประเทศลัตเวีย 

วัวลัตเวียสีน้ำเงิน เป็นวัวท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในแถบโซเวียต ลักษณะโดยทั่วไปก็ไม่ต่างจากวัวในแถบนั้น จะมีก็แต่สีขนเป็นน้ำเงินเด่นที่ทำให้ดูแตกต่างไปจากวัวอื่นๆ และกลายเป็นชื่อเรียกของมันไปในที่สุด 

เหตุผลที่วัวชนิดนี้มีน้ำเงินแปลกตา กล่าวกันตามข้อเท็จจริงบ้างไม่จริงบ้าง มีคำอธิบายอยู่ 2 มุมด้วยกัน เรื่องแรก มาจาก ‘ตำนาน’ ต้นกำเนิดที่เล่าขานกันมาว่า พวกมันได้สีมาจากทะเลบอลติก ในคืนที่พระจันทร์เต็มดวงลอยเด่นอยู่บนฟ้า พะยูนแมนทานี หรืออีกชื่อหนึ่งที่คนในอดีตเรียกกันว่า ‘เงือกแห่งท้องทะเล’ ได้ขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่บนบกและให้กำเนิดลูกวัวสีน้ำเงินออกมา

กับในอีกมุมหนึ่งซึ่งอ้างอิงว่า เกิดจากเม็ดสีที่ผิดปกติเป็นส่วนหนึ่งของการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งทุกวันนี้ทั้งสองมุมมองก็ยังเป็นข้อมูลที่ใช้อ้างอิงควบคู่กัน ส่วนใครจะเชื่อแบบไหนก็ว่ากันไปตามเหตุและผลของแต่ละคน

blue cow l AFP

แต่เรื่องที่เชื่อได้อย่างไม่มีข้อกังขาคือ ในปี ค.ศ. 2000 วัวลัตเวียสีน้ำเงิน เหลืออยู่เพียง 18 ตัวเท่านั้น แน่นอนว่าด้วยจำนวนเพียงเท่านี้ ใครๆ ก็เดาว่าคงไม่รอดแน่ๆ อีกไม่นานคงสูญพันธุ์ไปในที่สุด

เหตุที่ทำให้พวกลดจำนวนลง มาจากเรื่องราวในยุคสมัยที่สหภาพโซเวียตเป็นใหญ่ ในยุคนั้น ผู้ครองแผ่นดินให้ความสำคัญกับการผลิตเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์จากนม เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเศรษฐกิจให้กับประเทศ 

วัวสีน้ำเงินสามารถให้น้ำนมประมาณ 5,000 ลิตร ต่อตัวต่อปี แต่สายพันธุ์อื่นให้ 8,000 ลิตร ต่อตัวต่อปี แน่นอนว่าเรื่องทำนองนี้ ก็เป็นเหมือนข้อมูลพื้นฐานของการตัดสินใจ หากมีตัวเลือกระหว่างปริมาณ 5,000 กับ 8,000 ลิตร เป็นใครก็ต้องเลือกในส่วนที่มากกว่าอยู่แล้ว

สิ่งนี้จึงเป็นเหตุให้วัวลัตเวียสีน้ำเงินถูกด้อยค่าด้อยราคา ไม่ได้รับการดูแลและอนุรักษ์อย่างที่สัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ได้รับ จนจำนวนลดน้อยถอยลงแทบจวนเจียนจะสูญพันธุ์ 

โชคดีว่าในช่วงเวลาของการยืนอยู่ริมขอบปากเหวยังพอมีคนเห็นค่าวัวสีแปลกตากลุ่มนี้อยู่บ้างจนเกิดการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และเกษตรกรที่เลี้ยงวัว ก่อตั้งเป็นสมาคม ‘Blue Cow Association’ ช่วยกันประคับประคองดูแล จนพวกมันได้มีโอกาสอยู่รอดปลอดภัยกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีงบสนับสนุนมาจากรัฐบาล

จนต่อมาเราได้ทราบว่า น้ำนมของวัวสีน้ำเงินมีคุณค่าทางโภชนามากกว่าวัวสายพันธุ์อื่น อีกทั้งวัวสีน้ำเงินลัตเวียจัดเป็นสายพันธุ์ที่ทนทานมาก ทั้งทนต่อสภาพอากาศเลวร้ายและอุณหภูมิต่ำ สามารถอยู่กลางแจ้งได้ตลอดทั้งปี แม้ในฤดูหนาวที่มีน้ำค้างแข็ง ที่วัวอีกหลายสายพันธุ์ทนไม่ได้ แต่พวกมันทนได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นวัวที่เลี้ยงง่ายกว่าวัวสายพันธุ์อื่นๆ นั่นเอง

สำหรับวันนี้ วัวสีน้ำเงินก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 1,500 ตัว รอดพ้นจากการสูญพันธุ์อย่างฉิวเฉียด และกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศลัตเวียไปในที่สุด

อ้างอิง