Latte Factor กินกาแฟทุกวันเลยไม่มีเงินเก็บ? ทำไมการเสียเงินเล็กน้อยในทุกวัน ถึงสิ่งผลระยะยาวในการเก็บเงิน
ถ้าคุณทานกาแฟแก้วละ 50 บาททุกวัน
1 เดือนก็เท่ากับ 1,500 บาท
1 ปีก็ 18,000 บาท
10 ปีก็ 180,000 บาท
ถ้าคุณเลิกกินกาแฟ 10 ปีคุณก็จะมีเงินเก็บอย่างต่ำ 180,000 บาท ยังไม่นับการนำเงินก้อนนี้ไปลงทุน ไปฝากเงินออม เพราะฉะนั้นเราจะเห็นเลยว่าแค่เราเลิกกินกาแฟ ในเวลา 10 ปี เราก็มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นหลายแสนบาทเลยทีเดียว
สิ่งนี้คือที่มาของแนวคิด ‘Latte Factor’ ที่ David Bach ริเริ่มมาจากชีวิตประจำวันของผู้หญิงคนหนึ่งที่กินกาแฟทุกวันแต่ยังบ่นว่าไม่มีเงินลงทุน เพราะมันไม่ใช่แค่เงินที่เสียไป แต่มันถึงการเสียโอกาสในการเติบโตทางการเงินไปอีกด้วย
อธิบายให้ชัด Latte Factor พยายามนำเสนอว่า เงินเล็กน้อยที่คุณเสียไปในชีวิตประจำวัน เราอาจไม่ได้รู้สึกว่ามันเยอะอะไร ไม่ได้ส่งผลอะไร แต่ถ้ารวมกันเป็นระยะเวลานาน มันอาจจะเป็นเงินจำนวนมากที่เรามองข้ามไป
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นคนดื่มกาแฟทุกวัน บางวันอาจจะ 2-3 แก้ว ทำให้เข้าใจดีว่า ถึงจะสิ้นเปลืองไปบ้าง แต่กาแฟก็เป็นเหมือนตัวช่วยเพิ่มพลังที่ทำให้เราทำงานได้อย่างลื่นไหล ทำให้ชีวิตเราดำเนินไปได้อย่างสงบ ถึงจะเก็บเงินได้มหาศาล แต่ทุกวันต้องห้ามกินกาแฟ ก็คงไม่ใช่ทางเลือกที่ต้องการ
เพราะฉะนั้น ในกรณีนี้ Latte Factor อาจไม่ได้หมายถึงความสิ้นเปลืองที่มาจากกาแฟเท่านั้น แต่มันหมายถึงสิ่งเล็กน้อยในชีวิตประจำ ที่เราอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป นับเดือนนับปี มันก็กลายเป็นเงินก้อนใหญ่ที่เราเสียทั้งโอกาสในการออม และเสียโอกาสในการลงทุน
เราคงคิดแทนใครไม่ได้ ความสุขของใครก็ของความสุขของเขา บางสิ่งสิ้นเปลืองสำหรับคนนี้ บางคนอาจจะไม่ได้มองกาแฟเป็นเรื่องสิ้นเปลือง (เช่นตัวผู้เขียนเอง)
- ค่าสมัครเน็ตฟลิกซ์ที่ไม่เคยว่างเปิดดู
- ค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่แพงเกินไป
- ค่าบริการสตรีมมิ่งเพลงครบทุกค่ายที่ฟังไม่เคยครบ
- ฟิตเนสที่ต้องจ่ายทุกเดือนแต่แทบไม่เคยไป
- ค่าสมัครสมาชิกรายเดือนต่างๆ ที่เราไม่เคยใช้งาน
การตัดรายจ่ายพวกนี้ออกไป ไม่ได้เป็นหนทางที่ทำให้เรากลายเป็นมหาเศรษฐี แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เราระแวดระวังการใช้เงินมากขึ้น เราอาจจะมีเงินเก็บมากขึ้น มีเงินที่ใช้ลงทุนมากขึ้น และทำให้เรามีอิสรภาพทางการเงินได้ง่ายขึ้น
แล้วคุณล่ะครับ ในชีวิตคุณ มี Latte Factor อะไรกันบ้าง? คิดจะตัดมันออกไปหรือยัง? แล้วมันส่งผลกับการเก็บเงินของคุณมากน้อยแค่ไหน?